ข่าว AI รอบโลก – สัปดาห์ที่ 2 เดือนมิถุนายน 2022

Elon Musk อาจเปิดตัว Tesla Bot “Optimus” ใน 30 กันยายนนี้

อีลอน มัสก์ ทำให้แฟนคลับของเขาได้ตื่นเต้นอีกครั้ง เมื่อบอกเป็นนัยว่า Tesla Bot หรือหุ่นยนต์ Optimus ภายใต้แบรนด์เทสลา มีโอกาสแสดงให้เห็นถึงการทำงานเป็นครั้งแรกในวันที่ 30 กันยายนนี้

อีลอน มัสก์ ผู้ร่วมก่อตั้งเทสลา (Tesla) ทวีตแจ้งข่าวการย้ายงาน AI Day ไปเป็นวันที่ 30 กันยายนนี้ โดยให้สาเหตุที่น่าสนใจว่า นั่นเป็นเพราะเทสลาอาจมีการเปิดตัวหุ่นยนต์ภายใต้แบรนด์เทสลาอย่าง Optimus ภายในงานนี้ ตามปกติแล้ว งาน AI Day เทสลามักจัดงานในเดือนสิงหาคม แต่ในปีนี้ขยับลงมาช้ากว่าปกติเล็กน้อย ดังนั้นจึงเป็นไปได้อย่างยิ่งว่า ในงาน AI Day ปีนี้ ทุกคนทั่วโลกที่ให้ความสนใจกับ Optimus จะได้เห็นการทำงานครั้งแรกของหุ่นยนต์รุ่นนี้

นอกจากนี้ ในการเปิดตัว Tesla Bot ครั้งแรกในปี 2021 อีลอน มัสก์ ระบุว่า หุ่นยนต์รุ่นนี้จะมีหน้าที่ทำงานที่มีความซ้ำซากและน่าเบื่อแทนมนุษย์ แต่มันก็มีปัญหาอยู่ว่า หุ่นยนต์ Optimus จะมีราคาแพงมากน้อยแค่ไหน แล้วมีโอกาสสร้างผลกำไรอย่างยั่งยืนให้กับเทสลาได้หรือไม่

อีกหนึ่งสิ่งที่น่าสนใจก็คือว่า ท้ายที่สุดแล้ว การทำงานของหุ่นยนต์ Optimus จากเทสลา จะสามารถทำงานได้ดีตามคำโฆษณาของอีลอน มัสก์ ได้หรือไม่ เนื่องจากว่า บริษัทที่ทำงานด้านหุ่นยนต์โดยเฉพาะอย่าง Boston Dynamics และ Atlas ก็ยังทำงานได้อย่างจำกัด

ท่ามกลางกระแสข่าวการจัดงาน AI Day ก็มีข่าวว่า เทสลาของอีลอน มัสก์ กำลังปรับลดพนักงานลง 10 เปอร์เซ็นต์ จากพนักงานที่มีทั้งหมดกว่า 9 หมื่นคน นั่นหมายความว่า จะมีการปลดพนักงานมากถึง 1 หมื่นคนเลยทีเดียว.

อ้างอิง : https://www.thairath.co.th/news/tech/2410245

 

AI ช่วย VAL KILMER กลับมามีเสียงพูดได้ ในหนัง ‘TOP GUN: MAVERICK’

TOP GUN: MAVERICK ภาคต่อของภาพยนตร์บล็อกบัสเตอร์ จากปี 1986 ที่ตอนนี้ถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก หลังจากเปิดตัวในโรงภาพยนตร์เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยหนึ่งในไฮไลต์ของหนังเรื่องนี้ที่เหล่าแฟนๆ ต่างก็ประทับใจ นั่นก็คือการกลับมาของ Val Kilmer ในฐานะ Tom “Iceman” Kazansky ซึ่งการกลับมาครั้งนี้ถือว่า AI เป็นตัวช่วยที่สำคัญอย่างยิ่ง

การกลับมาของ Val Kilmer ในหนัง Top Gun: Maverick เป็นสิ่งที่หลายๆคนต่างก็เกิดคำถาม เพราะเขาสูญเสียความสามารถในการพูด หลังจากเข้ารับการรักษามะเร็งลำคอในปี 2014 และถึงแม้ในหนังจะให้ตัวละคร Iceman จะสื่อสารด้วยวิธีการพิมพ์เป็นหลัก แต่ในหนังจะมีซีนหนึ่งที่เขาต้องพูดออกมาด้วย ซึ่งเสียงพูดนี้ เกิดมาจากความร่วมมือระหว่าง Kilmer และ Sonantic ซึ่งเป็นบริษัทสังเคราะห์เสียง ที่เขาเคยร่วมงานมาก่อนในปี 2564 โดยจะนำเสียงของ Kilmer ไปใช้กับ AI เพื่อสร้างรูปแบบเสียงที่เป็นเสียงโคลนของนักแสดง ซึ่งในหนังเรื่องนี้ Rupal Patel ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาการสื่อสารและความผิดปกติ ที่ทำงานเกี่ยวกับเทคโนโลยีการสังเคราะห์เสียง คาดว่า Sonantic ได้ใช้เทคโนโลยี text-to-speech ที่จะนำข้อมูลเสียงที่เคยถูกบันทึก มาสร้างเป็น vocal model โดยนำเสียงของ Kilmer ที่ถูกจัดเก็บไว้หลายชั่วโมง มาใช้ในการเทรน neural model เพื่อลอกเลียนเสียงของเขา แต่อย่างไรก็ตาม Sonantic ได้กล่าวว่า การบันทึกเสียงที่ได้มีไม่เพียงพอที่จะสร้างแบบจำลองที่แม่นยำ ดังนั้นทางบริษัท จึงได้สร้างรูปแบบเสียงต่างๆ มากกว่า 40 แบบ และเลือกรูปแบบเสียงที่ดีที่สุด คุณภาพสูงสุด และแสดงออกถึงอารมณ์มากที่สุดออกมา จากนั้นครีเอทีฟก็นำรูปแบบเสียงมาทำเป็นบทสนทนา และปรับแต่งประสิทธิภาพด้วยตนเอง เพื่อให้ออกมาดีที่สุด

Patel กล่าวว่า ถึงแม้การปรากฏตัวของ Kilmer ใน Top Gun: Maverick จะทำให้ผู้ชมน้ำตาซึม แต่ Patel กล่าวว่าผู้ชมไม่ควรคาดหวังว่าผลงานที่มาจากการใช้เสียง AI จะเป็นผลงานที่เหมาะกับรางวัลออสการ์

นอกจากนี้ยังกล่าวอีกว่า “อาจจะใช้เวลาสักระยะ แต่สิ่งที่เราเห็นในวันนี้เทียบกับเมื่อห้าปีที่แล้วมีความแตกต่างกันมาก เนื่องจาก machine learning ได้เพิ่มพลังให้กับสาขานี้ในแบบที่เราไม่เคยคิดมาก่อน”

อ้างอิง : https://news.northeastern.edu/2022/06/07/a-i-clones-val-kilmers-voice-in-top-gun/

 

AI สามารถป้องกันเหตุการณ์กราดยิงได้หรือไม่ ?

จากเหตุการณ์กราดยิงเด็กและครูในโรงเรียนประถมในรัฐเท็กซัสเมื่อสัปดาห์ที่แล้วซึ่งเป็นโศกนาฏกรรมที่หดหู่เป็นอย่างยิ่ง มีหลายคนออกมาเสนอแนะว่าปัญญาประดิษฐ์อาจช่วยป้องกันการเกิดเหตุการณ์ลักษณะดังกล่าวในครั้งต่อไปได้

ตัวอย่างเช่นใช้อัลกอริทึม Computer vision เพื่อตรวจจับคนที่พยายามพกอาวุธไปที่บริเวณโรงเรียน ซึ่งมีผู้จำหน่ายซอฟต์แวร์ AI และ กล้องวงจรปิดจำนวนหนึ่งที่พวกเขาอ้างว่ามีอัลกอริทึมสำหรับ “การตรวจจับปืน” หนึ่งในนั้นคือ ZeroEyes บริษัทจากฟิลาเดลเฟียที่กล่าวว่าซอฟต์แวร์ของพวกเขานั้นสามารถตรวจสอบฟีดวิดีโอจากกล้องวงจรปิดที่มีอยู่และตรวจจับปืนได้ทันทีที่มองเห็นและจะแจ้งเตือนผู้บริหารโรงเรียน หน่วยรักษาความปลอดภัย ตลอดจนการโทรออกไปยังเจ้าหน้าที่ 911 ในพื้นที่โดยอัตโนมัติ ซึ่งทั้งหมดนี้ใช้เวลาเพียงห้าวินาทีเท่านั้นหลังจากตรวจพบอาวุธ

มีคนแนะนำให้ใช้ A.I. ในการสร้าง “ปืนอัจฉริยะ” ที่ติดตั้งกล้องและ AI ซอฟต์แวร์กับตัวปืนและระบบดังกล่าวอาจจะสามารถตั้งค่าให้ตรวจจับได้ว่าบุคคลที่ถูกเล็งนั้นเป็นเด็กหรือไม่ถ้าใช่ก็ป้องกันไม่ให้ปืนนั้นทำการยิงได้ อย่างไรก็ตามวิธีนี้อาจจะจะมีปัญหาในการบังคับให้ผู้ผลิตปืนติดตั้งระบบลงในปืนและอาจจะต้องหาวิธีป้องกันผู้คนไม่ให้เกิดการดัดแปลงหรือปิดการใช้งานระบบเหล่านั้นด้วย

บางคนแนะนำให้ใช้ AI ในการวิเคราะห์หาคนที่อาจจะมีโอกาสที่จะก่อเหตุการณ์กราดยิงในอนาคต โดยเคยมีการตีพิมพ์ผลการศึกษาในปี 2018 ของศูนย์การแพทย์โรงพยาบาลเด็ก Cincinnati ซึ่งพวกเขาใช้ A.I. ซอฟต์แวร์เพื่อวิเคราะห์ใบรับรองผลการเรียนของวัยรุ่นที่สัมภาษณ์โดยจิตแพทย์และประเมินว่าวัยรุ่นมีแนวโน้มที่จะก่อความรุนแรงหรือไม่ นักวิจัยพบว่าการประเมินของอัลกอริทึมนั้นสอดคล้องกับผู้เชี่ยวชาญที่ผ่านการฝึกอบรมมาแล้วถึง 91% แม้ว่า AIไม่สามารถเข้าถึงบันทึกและประวัติผู้ป่วยอย่างที่จิตแพทย์และที่ปรึกษาได้รับ

นอกจากนั้นยังมีคนได้แนะนำให้ใช้ AI เพื่อกรองข้อมูลจำนวนมากจากโรงเรียนเกี่ยวกับเหตุการณ์รุนแรงที่ผ่านมา ข้อการซื้อปืน และข้อมูลทางเศรษฐกิจและสังคม เพื่อพยายามค้นหารูปแบบที่อาจบ่งชี้ว่าโรงเรียนใดโรงเรียนหนึ่งอาจจะตกอยู่ในอันตรายจากเหตุการณ์การกราดยิง ซึ่งคล้ายกับการใช้อัลกอริทึมเพื่อพยายามระบุพื้นที่ที่มีแนวโน้มว่าจะเกิดอาชญากรรมรุนแรงและเพิ่มเจ้าหน้าที่ตำรวจไปยังสถานที่เหล่านั้น อย่างไรก็ตามวิธีดังกล่าวก็ได้ถูกการวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับเรื่องของอคติ (bias) และการเหยียดเชื้อชาติ นอกจากนั้นมันยังถูกวิจารณ์ในแง่ของความล้มเหลวในการลดอัตราการเกิดอาชญากรรมอีกด้วย

อ้างอิง : https://fortune.com/2022/05/31/ai-prevent-uvalde-mass-school-shooting/

 

SCG จับมือ Microsoft นำองค์กรไปสู่ดิจิทัลเพิ่มความพอใจลูกค้าด้วย AI

SCG จับมือ Microsoft เปลี่ยนองค์กรเข้าสู่ยุคดิจิทัล เน้น “ตรงใจ-ฉับไว-ล้ำเทรนด์” เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าผ่านการผลักดันนวัตกรรมด้วย AI และ Machine Learning

เอสซีจี (SCG) ได้เติบโตจากบริษัทซีเมนต์และผลิตภัณฑ์สิ่งก่อสร้างเข้าสู่อุตสาหกรรมปิโตรเคมีและโลจิสติกส์ ซึ่งการเติบโตที่ผ่านมาก็ได้ทำงานใกล้ชิดกับไมโครซอฟต์ (Microsoft) มาโดยตลอด และในวันที่ 7 มิถุนายน ทั้งสองบริษัทก็ผนึกกำลังให้แนบแน่นมากยิ่งขึ้น ด้วยการร่วมมือเชิงกลยุทธ์เป็นเวลา 5 ปี นับตั้งแต่ปี 2022 นี้ เพื่อผลักดันแนวคิด “สร้างสรรค์นวัตกรรมสู่อนาคต (Building New Frontiers of Innovation)”

รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ของเอสซีจี เปิดเผยว่าความร่วมมือนี้เป็นการยกระดับการทำงานของบริษัทในการก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัล ในขณะที่บริษัทมีฐานลูกค้าและผลิตภัณฑ์ ไมโครซอฟท์ (Microsoft) ก็มีเทคโนโลยีและนวัตกรรมในการทำให้บริการและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ มีคุณภาพที่ดีและลดต้นทุนให้กับบริษัทได้เป็นอย่างดี ดังนั้นการจับมืออย่างเป็นทางการครั้งนี้จะช่วยส่งมอบคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับลูกค้าของบริษัทได้อย่างทันท่วงที

ความร่วมมือระหว่าง 2 บริษัทที่สำคัญก่อนหน้านี้ก็คือบอนไซ (Bonsai) โครงการพัฒนาศักยภาพกระบวนการผลิตโรงงานผลิตเม็ดพลาสติก ตั้งแต่การลดต้นทุนการผลิตผ่านกระบวนการเรียนรู้ด้วยตัวเองของระบบ (Machine Learning) รวมถึงการใช้ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intellience: AI) จัดสรรทรัพยากรและยกระดับคุณภาพบุคลากร

ธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ของไมโครซอฟต์ประจำประเทศไทย ให้ข้อมูลว่าบริษัทจะเข้ามาสนับสนุนด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้กับเอสซีจีใน 3 ด้าน เป็นหลัก ได้แก่ ตรงใจ ฉับไว ล้ำเทรนด์ โดยความต้องการของลูกค้าเอสซีจี และเอสซีจี โอม (SCG Home) แต่ละคนจะถูกทำให้ “ตรงใจ” ด้วยการพัฒนาการวิเคราะห์ข้อมูลและพฤติกรรมการซื้อผ่านปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์ของบริษัทให้ตรงกับความต้องการโดยเฉพาะได้

โครงการวิทยาเขตการเรียนรู้กระบวนการผลิตอัจฉริยะ (Smart Manufacturing Campus Solution) เป็นตัวอย่างของการเสริมความ “ฉับไว” ให้กับเอสซีจี ด้วยการใช้ AI และเมตาเวิร์ส (Metaverse) ในการเพิ่มประสิทธิภาพบุคลากร ทั้งการใช้ในการฝึกอบรมทักษะด้านการทำงาน การสร้างบุคลกรในการออกแบบเครื่องมือซอฟต์แวร์เพื่อแก้ปัญหาในการทำงานโดยไม่จำเป็นต้องมีทักษะการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ซึ่งเรียกว่า Low Code  ในขณะที่ “ล้ำเทรนด์” เป็นเป้าหมายในการนำเมตาเวิร์ส (Metaverse) ระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) และควอนตัมคอมพิวเตอร์ (Quantum Computer) มาสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ ให้รวดเร็วมากขึ้น ย่นระยะเวลาการวิเคราะห์และวิจัย

อ้างอิง : https://www.tnnthailand.com/news/tech/116029/

 

ทดสอบหุ่นยนต์การเกษตรโซลิก(Solix) ในพื้นที่ปลูกพืชประเทศแคนาดา

บริษัทโซลินเอฟเทค (Solinftec) ประเทศแคนาดา นำหุ่นยนต์การเกษตรโซลิก (Solix) ไปทดสอบการใช้งานในพื้นที่ปลูกพืชเพื่อช่วยเกษตรกรประหยัดเวลาการทำงาน และลดค่าใช้จ่าย

ตัวหุ่นยนต์การเกษตรโซลิกขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า ล้อขนาดเล็ก 4 ล้อ โครงสร้างของหุ่นยนต์ยกสูงขึ้นจากพื้นเพื่อให้สามารถวิ่งผ่านแปลงปลูกพืชโดยไม่รบกวนการเจริญเติบโต มีกล้องบันทึกภาพและเซนเซอร์ตรวจจับวัดค่าต่างๆ ของพื้นที่ปลูกพืช ระบบประมวลผลของหุ่นยนต์ใช้ระบบ AI ที่บริษัทพัฒนาขึ้นมาชื่อว่า ALICE ในการบันทึกข้อมูลการเจริญเติบโตของพืช ข้อมูลจำนวนวัชพืช ข้อมูลความเสียหายที่เกิดขึ้นจากแมลง ข้อมูลเกี่ยวกับพื้นที่ปลูกพืช โดยข้อมูลจะแสดงผลเพื่อใช้ในการวางแผนการเพาะปลูกได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การบริหารจัดการปุ๋ยหรือการรดน้ำตามปริมาณที่ถูกต้อง รวมไปถึงการลดปริมาณการใช้สารเคมีปราบศัตรูพืช

จุดแข็งของระบบปัญญาประดิษฐ์ AI ที่ชื่อ ALICE ที่บริษัทพัฒนาขึ้นมาอยู่ที่ความสามารถในการตัดสินใจอย่างรวดเร็ว 35,000 ครั้งต่อวัน โดยรองรับข้อมูลเกี่ยวกับพืชด้านต่าง ๆ เพื่อประกอบการตัดสินใจ 10,000 ล้านชุดข้อมูลต่อวัน การแสดงผลข้อมูลบอกรายละเอียดช่วงเวลา สถานที่ และวิธีการที่ต้องใช้กับพืชภายใต้สภาวะการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยภายนอกตลอดเวลา เช่น สภาพอากาศ ความชื้น กระประมวลผลและตัดสินใจเกิดขึ้นแบบเรียลไทม์ตามเวลาจริงเพื่อลดข้อผิดพลาด

อย่างไรก็ตามการทดสอบในครั้งนี้ บริษัทโซลินเอฟเทค (Solinftec) ยังไม่เปิดเผยข้อมูลของเทคโนโลยีหุ่นยนต์การเกษตรโซลิก (Solix) ออกมามากนัก และกระบวนการพัฒนาหุ่นยนต์ยังอยู่ในช่วงของการทดสอบใช้งานจริงภาคสนาม หากประสบความสำเร็จหุ่นยนต์อาจถูกนำมาใช้งานจริงในพื้นที่เพาะปลูกพืชขนาดใหญ่ เช่น ทุ่งข้าวสาลี ในประเทศแคนาดาหรือสหรัฐอเมริกา

อ้างอิง : https://www.tnnthailand.com/news/tech/115820/

 

บริษัท โรเด้นสต๊อก เปิดตัว B.I.G. NORM แว่นตาอัจฉริยะไบโอเมตริก จากนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์ (AI)

Rodenstock เปิดตัว B.I.G. NORM™ แว่นตาอัจฉริยะไบโอเมตริก จากนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์ (AI) รวมกับ Big Data 500,000 ชุด ทางบริษัทโรเด้นสต๊อกจึงได้สร้างมาตรฐานใหม่ในการคำนวณเลนส์ ด้วยนวัตกรรมการผลิตเลนส์โปรเกรสซีฟจากระบบปัญญาประดิษฐ์ นั่นคือเลนส์ไบโอเมตริกหรือที่เรียกว่า B.I.G. NORM™ ที่ประมวลผลร่วมกับชุดข้อมูลไบโอเมตริกเฉพาะบุคคลที่ใหญ่ที่สุด ที่เก็บรวบรวมไว้กว่า 500,000 ชุด จากการวัดสายตาด้วยเครื่อง DNEye® Scanner ของ Reodenstock ที่เข้าถึงข้อมูลไบโอเมตริกอย่างแท้จริง ทำให้สามารถสร้างแบบจำลองไบโอเมตริกของดวงตาได้แม่นยำมากขึ้น โดยเลนส์โปรเกรสซีฟที่ได้มีระดับความแม่นยำทางไบโอเมตริกที่สูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ผู้บริโภคพึงพอใจมากขึ้นเนื่องจากใช้เวลาในการปรับตัวเข้ากับเลนส์แว่นตาใหม่น้อยลง และการมองเห็นมีความคมชัดยิ่งขึ้น

นอกจากนวัตกรรมใหม่ล่าสุด ในการผลิตเลนส์แว่นตาโปรเกรสซีฟที่มีความแม่นยำในระดับบุคคล จากระบบ AI แล้ว Rodenstock ก็ยังมีนวัตกรรมการผลิตเลนส์ไบโอเมตริกที่ใช้เทคโนโลยี DNEye® ตรวจวัดดวงตาอย่างแม่นยำด้วยเครื่อง DNEye® Scanner รวบรวมข้อมูลความยาวของดวงตาและข้อมูลอีกหลายพันจุด ซึ่งเป็นเอกลักษณ์หนึ่งเดียวในอุตสาหกรรมเลนส์ รวมทั้งกำหนดค่าความสัมพันธ์ของขนาด รูปทรงของดวงตาแต่ละดวงที่มีความแตกต่างกันด้วย และนำค่าเหล่านี้มาใช้ในการผลิตเลนส์ ทำให้เกิดความแม่นยำระดับสูงทางไบโอเมตริกของเลนส์ เลนส์ชนิดนี้เรียกว่า B.I.G. EXACT™

อ้างอิง : https://www.prachachat.net/public-relations/news-946381

 

AI วิเคราะห์แยกเสียงแนวปะการัง

ทีมนักวิทยาศาสตร์ฟังคลิปเสียงที่บันทึกใต้ทะเลทางเกาะภาคกลางของอินโดนีเซีย ซึ่งได้ยินเสียงเหมือนคล้ายเสียงแคมป์ไฟ และจากผลการศึกษาของนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยในอังกฤษและชาวอินโดนีเซียที่มีการตีพิมพ์เมื่อเดือนพฤษภาคม 2565 ได้ค้นพบว่าเป็นเสียงของแนวปะการังมากมายที่มีชีวิตอยู่ Ben Williams (เบน วิลเลียมส์) ผู้เชี่ยวชาญด้าน life sciences และทีมวิจัยของเขากล่าวว่า แนวปะการังที่สมบูรณ์แข็งแรงจะมีเสียงที่ “แตกเหมือนแคมป์ไฟ” เนื่องจากเป็นที่ๆสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ ซึ่งพวกเขาใช้คลิปเสียงดังกล่าวหลายร้อยคลิปเพื่อฝึกโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในการติดตามสุขภาพของแนวปะการังด้วยการฟัง

ระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) จะแยกวิเคราะห์จุดของข้อมูล เช่น ความถี่และความดังของเสียงจากคลิปเสียง และสามารถระบุได้อย่างแม่นยำอย่างน้อย 92% ว่าแนวปะการังมีสุขภาพดีหรือเสื่อมโทรมแล้ว

แม้ว่าแนวปะการังจะครอบคลุมพื้นมหาสมุทรไม่ถึง 1% แต่แนวปะการังสนับสนุนความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเลมากกว่า 25% รวมถึงเต่า ปลา และกุ้งก้ามกราม ทำให้เป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์สำหรับอุตสาหกรรมประมงทั่วโลก ทีมนักวิทยาศาสตร์จึงหวังว่าระบบ AI ใหม่นี้จะช่วยให้กลุ่มอนุรักษ์ทั่วโลกสามารถติดตามสุขภาพแนวปะการังได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

นักอนุรักษ์และวิทยากรชาวอินโดนีเซียจากคณะวิทยาศาสตร์ทางทะเลของมหาวิทยาลัย Hasanuddin Syafyudin Yusuf กล่าวว่างานวิจัยนี้จะช่วยในการตรวจสอบสุขภาพแนวปะการังในอินโดนีเซีย ทั้งนี้นักวิจัยยังหวังว่าจะรวบรวมคลิปเสียงที่บันทึกใต้น้ำจากแนวปะการังในออสเตรเลีย เม็กซิโก และหมู่เกาะเวอร์จิน เพื่อช่วยประเมินความคืบหน้าของโครงการฟื้นฟูปะการังต่อเนื่อง

อ้างอิง : https://www.channelnewsasia.com/business/crackling-or-desolate-ai-trained-hear-corals-sounds-life-2728901

 

รายงานเผย Nate บริษัทสตาร์อัพกรอกข้อมูลออนไลน์โดย AI แต่ใช้คนกรอกกว่า 60%

หากคุณไม่ชอบที่จะมานั่งกรอกรายละเอียดบัตรเครดิตและที่อยู่ของคุณเมื่อซื้อกางเกงยีนออนไลน์ แอป Nate ดูเหมือนจะเป็นบริการที่คุณต้องการ

Nate บริษัทที่เรียกตัวเองว่าเป็น “สตาร์ทอัพระบบปัญญาประดิษฐ์” ที่ใช้ AI เพื่อกรอกข้อมูลลูกค้าโดยอัตโนมัติ ซึ่งช่วยให้ผู้ซื้อประหยัดเวลาได้โดยใช้เวลาเพียงไม่กี่นาทีเมื่อทำการซื้อสินค้าผ่านแอป Nate แทนที่จะไปซื้อสินค้าโดยตรงกับเว็บไซต์ โดยบริษัทจะได้เงินจำนวน 1 ดอลลาร์สหรัฐต่อธุรกรรม

แต่แทนที่แอปจะใช้ AI ในการจัดการธุรกรรมการซื้อ ธุรกรรมของ Nate จำนวนมากกลับถูกจัดการหรือถูกกรอกข้อมูลโดยคนงานในฟิลิปปินส์ ซึ่งมีคนที่เข้าถึงข้อมูลภายในของ Nate ได้โดยตรงได้ออกมาบอกว่า “จำนวนของธุรกรรมที่ Nate ใช้แรงงานคนในการกรอกแทนที่จะเป็นแบบระบบอัตโนมัติอยู่ในช่วงระหว่าง 60 เปอร์เซ็นต์ถึง 100 เปอร์เซ็นต์” ตลอดปี 2021

ผู้ที่มีความรู้โดยตรงเกี่ยวกับเทคโนโลยีที่ Nate ใช้ได้ออกมากล่าวว่า โปรแกรมป้องกัน bot หรือ bot blocker ในเว็บไซต์ของผู้ค้าคือปัญหาที่ Nate เจอ “ซอฟต์แวร์ของ Nate จำเป็นต้องค้นหาวิธีค้นหาปุ่มเฉพาะบนหน้า เช่น ปุ่มที่เพิ่มรายการลงในตะกร้าสินค้า” ซึ่งส่งผลให้มีการทำธุรกรรมจำนวนมากที่ต้องใช้การป้อนข้อมูลด้วยตนเองโดยมนุษย์จริงๆ ซึ่งรายงานยังระบุว่ามีคำสั่งซื้อบางรายการที่ถูกปล่อยทิ้งไว้หลายชั่วโมงหลังจากที่ผู้ใช้ Nate กดปุ่ม “ซื้อ” ไปแล้ว

อย่างไรก็ตามทางบริษัท Nate ได้ออกมาโต้ตอบว่าตัวเลข 60 ถึง 100 เปอร์เซ็นต์นั้นเป็นตัวเลขที่ไม่เป็นความจริง และเมื่อปลายปีที่แล้ว Nate ตัดสินใจจัดโปรโมชั่นเพื่อส่งเสริมธุรกิจ โดยซื้อโฆษณาบน TikTok ทีวี และระบบขนส่งสาธารณะ ซึ่งส่งผลให้ธุรกรรมก็พุ่งสูงขึ้น มากถึง 10,000 ธุรกรรมต่อวัน

อ้างอิง : https://www.theverge.com/2022/6/6/23156318/artificial-intelligence-nate-app-ecommerce-go-read-this

 

AI เข้ามาเปลี่ยนแปลงกีฬาเทนนิสได้อย่างไร ?

การวิเคราะห์ข้อมูลมีมาอย่างยาวนานในวงการกีฬา ตัวอย่างที่รู้จักกันดีที่สุดในตัวอย่างการใช้งานคือตั้งแต่ปี 2002 เมื่อทีมเบสบอล Oakland Athletics ใช้การวิเคราะห์ทางสถิติเพื่อเลือกทีมของพวกเขา แทนที่จะเป็นความรู้ของโค้ชและแมวมอง และประสบการณ์นั้นก็ถูกนำไปเป็นแก่นของหนังสือ Moneyball หนึ่งในหนังสือที่ขายดีที่สุดในปี 2003 ของ Michael Lewis

เทนนิสก็ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในรูปแบบเดียวเช่นกัน โดย Craig O’Shannessy โค้ชเทนนิสกล่าว “ข้อมูลเข้ามาเปลี่ยนแปลงกีฬาของเราอย่างรุนแรง” สำหรับเขาแล้ว Australian Open ปี 2015 ถือเป็นช่วงเวลาสำคัญ ขณะที่ Novak Djokovic และ Andy Murray แข่งกันในสนาม เขาได้บอกว่า”เราพบว่า 70% ของคะแนนทั้งหมดนั้นผู้เล่นแต่ละคนตีลูกบอลกันไปมาในสนามสูงสุดเพียงแค่สองครั้งเท่านั้น”

ตอนนี้โค้ชมีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ซึ่งได้รับการป้อนหรือฝึกฝนด้วยข้อมูลจำนวนมหาศาล ซึ่ง AI ที่ถูกฝึกมานั้นสามารถค้นหารูปแบบการเล่นเทนนิสที่มนุษย์ไม่สามารถสังเกตเห็นได้ ตัวอย่างเช่น ถ้า Novak Djokovic ตีผู้ชนะ 50 คนจากโฟร์แฮนด์ของเขา การเล่นเหล่านั้นสามารถแบ่งย่อยได้หลายวิธี บางที 40 ครั้งอาจมาจากตอนที่เขาเสิร์ฟ และ 35 ครั้งอาจจะมาจากการตีลูกถัดไปหลังจากเสิร์ฟ โดย AI จะเข้ามาช่วยค้นหารูปแบบการเล่นที่เขาเล่นชนะทั้ง 35 ครั้งว่ารูปแบบการเล่นแบบไหนที่ส่งผลต่อชัยชนะเหล่านั้น

Raghavan Subramanian เป็นหัวหน้าของ Infosys Tennis Platform และทำงานร่วมกับ Association of Tennis Professionals (ATP) มาตั้งแต่ปี 2015 และได้ร่วมงานกับ The French Open ในการสร้างแอป Roland Garros Players (RG Players) แอปที่ผู้เล่นและโค้ชสามารถวิเคราะห์การแข่งขันด้วยวิดีโอที่ประมวลผลด้วย AI โดยพวกเขาสามารถเห็นการวางตำแหน่งของการตีในลูกสำคัญต่างๆ ได้อย่างแม่นยำ ไม่ว่าจะเป็น ลูกตีที่ทำให้ชนะ ลูกตีที่ผิดพลาด หรือลูกเสิร์ฟ “เราเห็นการใช้แอป RG Players เพิ่มขึ้น 51% ในปี 2564 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว โดยมีผู้เล่นและโค้ช 1,100 คนใช้วิดีโอที่ถูกประมวลผลด้วย AI”

Jerome Meltz หัวหน้าเจ้าหน้าที่ข้อมูลและข้อมูลสหพันธ์เทนนิสฝรั่งเศส (FFT) ได้ให้ความเห็นว่า “แม้ว่า AI กำลังจะกลายเป็นเครื่องมือที่ทรงพลัง แต่ก็เป็นได้แค่นั้น มนุษย์และปัจจัยทางด้านอารมณ์ยังคงมีความสำคัญและเป็นองค์ประกอบหลักที่ขับเคลื่อนผู้เล่นเทนนิสอยู่ดี” โดยทาง FFT ออกมาบอกว่า AI ส่วนใหญ่นั้นเป็นประโยชน์ต่อนักกีฬาระดับแนวหน้า และอาจจะต้องใช้เวลาในการประยุกต์ใช้งานในวงกว้างต่อไป

อ้างอิง : https://www.bbc.com/news/business-61609689

—————————————————————————————-

ทั้งหมดเป็นข่าวที่น่าสนใจใน 3 – 9 มิถุนายน 2565 พบกันใหม่ในสัปดาห์หน้านะคะ : )

หากมีข้อสงสัย ติชมสามารถ ติดตามและสอบถามได้ที่
 : AIไทยสามารถ โดย AI for all Thailand



เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึก