ข่าว AI รอบโลก – สัปดาห์ที่ 1 เดือนกรกฎาคม 2022

FIFA จะใช้เทคโนโลยี AI ช่วยจับล้ำหน้ากึ่งอัตโนมัติในฟุตบอลโลกปีนี้

ถือว่าเป็นการยกระดับไปอีกขั้นในการตัดสินเกมลูกหนัง ที่มักมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับประเด็นการล้ำหน้าหรือไม่ล้ำหน้า ที่มักจะกลายเป็นดราม่าอยู่บ่อยครั้ง ล่าสุด สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (Fédération Internationale de Football Association : FIFA) หรือฟีฟ่า ตัดสินใจใช้เทคโนโลยีใหม่ เรียกว่า เอสเอโอที (SAOT : Semi-Automated Offside Technology) หรือระบบตัดสินล้ำหน้ากึ่งอัตโนมัติมาใช้ในสนามฟุตบอล โดยใช้กล้องวิดีโอติดตั้งรอบสนาม และใช้ชิปในลูกฟุตบอลมาช่วยประมวลผลโดย อาดิดาส (Adidas) บริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์กีฬาชื่อดังร่วมพัฒนากับ KINEXON บริษัทผู้ให้บริการด้านระบบเซนเซอร์ ผลิตลูกฟุตบอลโลก 2022 ที่มีชื่อว่า Al Rihla ซึ่งจะใช้ในการแข่งขันปีนี้

โดยด้านในของลูกฟุตบอลจะเป็นระบบที่มีชื่อว่า Suspension System ที่จะมีโมชันเซนเซอร์ที่แม่นยำที่สุดที่เคยใช้ในลูกฟุตบอลโลก ซึ่งจะสามารถบันทึกทุกสัมผัสของเกมการแข่งขันที่อัตรา 500 ครั้งต่อวินาที ผสมผสานกับการใช้ระบบ VAR (Virtual Assistant Referee) หรือระบบการตัดสินโดยใช้ภาพรีเพลย์หรือไฮไลต์การแข่งขัน เพื่อช่วยเหลือกรรมการผู้ตัดสินในสนามให้สามารถย้อนกลับไปดูเหตุการณ์เพื่อการตัดสินใจที่ชัดเจนขึ้นว่าเกิดเหตุการณ์ล้ำหน้าหรือไม่ โดยมีการทดสอบระบบภายในลูกฟุตบอลมาแล้วว่าจะไม่ส่งผลต่อความรู้สึกของนักเตะระหว่างแข่งขัน

ทั้งนี้ ยังมีการใช้ระบบกล้องติดตามเฉพาะ 12 ตัวที่ติดตั้งอยู่ใต้หลังคาสนามกีฬา เพื่อติดตามลูกฟุตบอล และจุดเคลื่อนไหว 29 จุดบนร่างกายของผู้เล่น เช่น แขน, ขา หรืออวัยวะที่เกี่ยวข้องกับการล้ำหน้า กล้องติดตามจะเก็บภาพเคลื่อนไหว 50 ครั้งต่อวินาที พร้อม ๆ กับคำนวณตำแหน่งของผู้เล่นในสนามไปพร้อม ๆ กัน ประกอบกับข้อมูลของชิปในลูกฟุตบอล ที่จะส่งข้อมูลกลับไปยังห้องปฏิบัติการ 500 ครั้งต่อวินาที จากนั้นข้อมูลทั้งหมดจะถูกนำไปประมวลผลโดยระบบปัญญาประดิษฐ์ และแสดงเป็นภาพเคลื่อนไหว 3 มิติ ออกมาให้ผู้ชมได้เห็น

โดยทางฟีฟ่ามองว่า การใช้เทคโนโลยีใหม่เข้าช่วย จะทำให้กรรมการสามารถตัดสินได้เร็วและชัดเจนขึ้น จากเดิมที่มักใช้เวลานาน โดยระบบนี้จะถูกใช้ในการแข่งขันฟุตบอลโลกที่กาตาร์ ซึ่งจะจัดขึ้นช่วงวันที่ 21 พฤศจิกายน – 18 ธันวาคม 2022 นี้

อ้างอิง : https://www.tnnthailand.com/news/tech/118405/

“หัวเว่ย โกลบอล เอไอ ชาลเลนจ์” เปิดรับสมัครผู้เข้าแข่งขัน ลุ้นคว้าเงินรางวัลก้อนโต

การแข่งขัน หัวเว่ย โกลบอล เอไอ ชาลเลนจ์ (Huawei GLOBAL AI CHALLENGE) ประจำปี 2565 ได้เปิดฉากอย่างเป็นทางการไปเมื่อเร็ว ๆ นี้ และเปิดให้ลงทะเบียนออนไลน์แล้ว เพื่อให้นักศึกษาระดับอุดมศึกษาได้สมัครเข้าร่วมการแข่งขัน ชิงเงินรางวัลรวม 210,000 ดอลลาร์สหรัฐ การแข่งขันนี้ร่วมกันจัดโดยสมาคมปัญญาประดิษฐ์แห่งมณฑลเจียงซู (Jiangsu Association of Artificial Intelligence หรือ JSAI), หัวเว่ย คอนซูเมอร์ คลาวด์ เซอร์วิส (Huawei Consumer Cloud Service) และศูนย์วิจัยเมืองหนานจิงของหัวเว่ย (Huawei Nanjing Research Center) โดยมีเป้าหมายเพื่อร่วมมือกับนักพัฒนารุ่นใหม่ไฟแรงที่ชื่นชอบ AI และเป็นส่วนหนึ่งของพันธกิจในการส่งเสริมการใช้ AI ในสถานการณ์ต่าง ๆ ให้มากขึ้น เพื่อสร้างโลกอัจฉริยะที่เชื่อมโยงถึงกันอย่างเต็มรูปแบบ

หัวเว่ย โกลบอล เอไอ ชาลเลนจ์ จัดขึ้นเป็นปีที่ 4 ติดต่อกันนับตั้งแต่ปี 2562 โดยมีผลงานอัลกอริทึมที่ส่งเข้ามาประกวดมากกว่า 2,500 ผลงาน จากเกือบ 8,000 ทีม ใน 45 ประเทศและดินแดน ในการแข่งขันสามปีแรก และมีผู้เข้าแข่งขันที่ได้รับรางวัลไปแล้วกว่า 150 ราย นอกจากนี้ ผู้เข้าแข่งขันที่มีความสามารถโดดเด่นจากมหาวิทยาลัยและวิทยาลัยชั้นนำในประเทศจีนยังถูกดึงตัวมาร่วมงานกับหัวเว่ยด้วย สำหรับการแข่งขันนี้มีทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ โดยเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ที่มีความสามารถได้มาร่วมกันบ่มเพาะเทคโนโลยี AI ใหม่ ๆ ทั้งในเชิงทฤษฎีและเชิงปฏิบัติ

การแข่งขันเปิดให้ลงทะเบียนไปเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน โดยจะมีการแข่งขันรอบแรก (24 มิถุนายน ถึง 24 สิงหาคม) และรอบชิงชนะเลิศ (3 กันยายนถึงกลางเดือนกันยายน) หลังผ่านพ้นการแข่งขันออนไลน์ในรอบแรก หัวเว่ยจะคัดเลือก 7 ทีมจากแต่ละโจทย์การแข่งขันเพื่อเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศ โดยจะมีทั้งหมด 21 ทีมที่ได้รับการคัดเลือกจากสามโจทย์ เพื่อเข้าชิงรางวัลเงินสดในการแข่งขันและการนำเสนอผลงานผ่านทางออนไลน์

โครงการไชนิ่ง สตาร์ โปรแกรม (Shining Star Program) ของหัวเว่ยได้จัดสรรเงินรางวัลรวมทั้งสิ้น 210,000 ดอลลาร์สำหรับการแข่งขันครั้งนี้ เพื่อมอบให้ทั้ง 7 ทีมจากโจทย์การแข่งขันสามหัวข้อ โดยผู้ชนะเลิศจะได้รับเงินรางวัล 35,000 ดอลลาร์ รองชนะเลิศอันดับหนึ่ง 15,000 ดอลลาร์ และรองชนะเลิศอันดับสอง 10,000 ดอลลาร์ ส่วนอีก 4 ทีมจะได้รับรางวัลชมเชย 2,500 ดอลลาร์

อ้างอิง : https://www.ryt9.com/s/anpi/3337057

Meta เปิดตัวโมเดลแปลภาษารองรับการแปลว่า 200 ภาษาทั่วโลก

Meta บริษัทโซเชียลมีเดียชื่อดังได้สร้างโมเดล AI ที่สามารถแปลเป็นภาษาต่างๆ ได้ถึง 200 ภาษา รวมถึงหลายๆ ภาษาที่ไม่ได้รับการรองรับโดยเครื่องมือเชิงพาณิชย์ต่างๆ ในปัจจุบัน

โมเดล AI เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ R&D โดย Meta เพื่อสร้าง “เครื่องมือแปลคำพูดสากล (universal speech translator)” ซึ่งบริษัทเห็นว่ามีความสำคัญต่อการเติบโตในหลายแพลตฟอร์มตั้งแต่ Facebook และ Instagram ไปจนถึงโดเมนที่กำลังพัฒนา เช่น VR และ AR โมเดลการแปลภาษาไม่เพียงแต่จะช่วยให้ Meta เข้าใจผู้ใช้ได้ดีขึ้นเท่านั้น (และปรับปรุงระบบโฆษณาที่สร้างรายได้กว่า 97 เปอร์เซ็นต์ของบริษัท) แต่ยังอาจเป็นรากฐานของแอปสำคัญต่างๆ สำหรับโครงการในอนาคตเช่น แว่นตาเสมือนจริง (augmented reality glasses)

อย่างไรก็ตามโมเดลการแปลนั้นอาจจะไม่ได้สมบูรณ์ขนาดนั้น โดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านการแปลด้วยคอมพิวเตอร์ได้ออกมาบอกว่างานวิจัยล่าสุดของ Meta นั้นมีละเอียดถี่ถ้วน แต่เขาก็ตั้งข้อสังเกตว่าคุณภาพของการแปลของโมเดลบางส่วนโดยเฉพาะภาษาที่มีข้อมูลน้อยจะต่ำกว่าภาษาที่มีข้อมูลจำนวนมาก เช่น อิตาลีหรือเยอรมัน แต่ทางศาสตราจารย์ Alexander Fraser ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาศาสตร์เชิงคำนวณที่ LMU มิวนิกในเยอรมนีกล่าวว่า “สิ่งที่สำคัญคือมันมีถึง 100 ภาษาใหม่ที่สามารถแปลโดยโมเดลของ Meta”

สำหรับจุดเด่นของโมเดลนี้ของ Meta ก็คือ แม้ว่าโมเดลการแปลด้วยคอมพิวเตอร์ส่วนใหญ่จะรองรับภาษาเพียงไม่กี่ภาษา แต่โมเดลของ Meta นั้นเป็นระบบเดียวที่สามารถแปลได้กว่า 40,000 รูปแบบที่แตกต่างกันระหว่าง 200 ภาษาที่แตกต่างกันเหล่านั้น และ Meta ยังสนใจที่จะรวม “ภาษาที่มีข้อมูลน้อย (low-resource languages)” ไว้ในโมเดลอีกด้วย ซึ่งรวมถึงภาษาแอฟริกันและอินเดียจำนวนมากที่เครื่องมือแปลภาษาเชิงพาณิชย์มักไม่รองรับ

การทำงานกับการแปลโดย AI มักจะถูกนำเสนอว่าเป็นสิ่งที่ดี แต่การสร้างซอฟต์แวร์นี้มาพร้อมกับปัญหาบางอย่างสำหรับเจ้าของภาษาที่ไม่ค่อยมีคนรู้จักหรือภาษาที่มีข้อมูลน้อย โดยวิศวกรของ Meta ได้ทำการสัมภาษณ์ผู้พูดภาษาที่ไม่ค่อยมีคนรู้จักจำนวน 44 คน ผู้ให้สัมภาษณ์เหล่านี้ได้หยิบยกผลกระทบเชิงบวกและเชิงลบจำนวนมากจากการสนับสนุนให้ภาษาของตนถูกแปลด้วยการแปลภาษาด้วยคอมพิวเตอร์ สำหรับข้อดีหรือผลกระทบเชิงบวกที่พวกเขาได้รับคือ เครื่องมือดังกล่าวสามารถช่วยให้ผู้พูดเข้าถึงสื่อและข้อมูลได้มากขึ้นโดยสามารถใช้เพื่อแปลแหล่งข้อมูลมากมาย เช่น วิกิพีเดียภาษาอังกฤษและข้อความเกี่ยวกับการศึกษา ในขณะเดียวกันสำหรับข้อเสียก็คือ หากคนที่พูดภาษาที่ไม่ค่อยมีคนรู้จักเหล่านั้นหันไปเสพสื่อหรือเนื้อหาภาษาอื่นๆ (ที่ถูกแปลมาเป็นภาษาของพวกเขาแล้ว) อาจจะเป็นการลดแรงจูงใจในการสร้างเนื้อหาดังกล่าวในภาษาของตนเองได้

อ้างอิง : https://www.theverge.com/2022/7/6/23194241/meta-facebook-ai-universal-translation-project-no-language-left-behind-open-source-model

OneChronos นำ AI เข้ามาใช้ในการจับคู่ซื้อขายหุ้นสำหรับนักลงทุนสถาบัน

OneChronos Markets LLC เปิดตัวแพลตฟอร์มการเทรดที่จะช่วยให้นักลงทุนสถาบันสามารถประมูลหุ้นโดยระบบประมูลอัตโนมัติด้วย AI ซึ่งถือว่าเป็นความพยายามของทางบริษัทที่ต้องการจะเปลี่ยนแปลงระบบการซื้อและขายหุ้นรูปแบบเดิมๆ

เทคโนโลยีของบริษัทจะสามารถช่วยให้ผู้ซื้อสามารถกำหนดการซื้อขายที่พวกเขาต้องการในช่วงเวลาที่กำหนดได้ โดยซอฟต์แวร์ของบริษัทจะใช้ AI เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถป้อนสิ่งที่พวกเขากำหนด เช่น มูลค่าของคำสั่งซื้อขนาดใหญ่ หรือกลุ่มของหุ้น ซึ่งจะถูกป้อนเข้าระบบจับคู่อัตโนมัติ จากนั้น OneChronos จะจับคู่คำสั่งซื้อจากฝ่ายซื้อและฝ่ายขายผ่านการประมูลเป็นระยะๆ หากราคาตรงกันจากทั้งสองฝ่าย การเทรดก็จะเกิดขึ้น

Richard Suth ผู้ร่วมก่อตั้งกล่าวในการให้สัมภาษณ์ว่าระบบของเขาช่วยให้นักลงทุนสามารถควบคุมและลงรายละเอียดเกี่ยวกับแผนของพวกเขามากกว่าจะมาสนใจในขั้นตอนการจับคู่ซื้อขาย

OneChronos เริ่มต้นเปิดใช้บริการในเดือนนี้โดยมีสถาบันต่างๆเข้าร่วมเป็นจำนวนมากไม่ว่าจะเป็น Bank of Montreal, Jefferies Financial Group Inc. และโบรกเกอร์หรือดีลเลอร์อื่นๆ อีกมากมาย ทาง Eric Stockland ผู้ดูแลกลยุทธ์เชิงปริมาณที่ธนาคารแคนาดากล่าว เพราะเขาสามารถแสดงความต้องการได้หลากหลายภายใต้เงื่อนไขที่เขาต้องการซื้อขายจริงๆ ซึ่งมันสามารถช่วยเขาประหยัดเงินของลูกค้าและลดต้นทุนในการดำเนินการได้มาก

OneChronos ทำการประมูลประมาณ 10 ครั้งต่อวินาทีสำหรับหุ้นสหรัฐทั้งหมด การจับคู่ทั้งหมดในระบบเกิดขึ้นโดยราคาที่ดีที่สุดสำหรับฝั่งซื้อและฝั่งขาย ซึ่งถูกเลือกมาจากแพลตฟอร์มการเทรดทั้งหมดที่มีอยู่ อย่างไรก็ตามทาง OneChronos ยังคงต้องการสภาพคล่องที่เพียงพอจากนักลงทุนสถาบันในการจัดหาและดำเนินการซื้อขายที่ดีที่สุด หรือก็คือยิ่งมีผู้เข้าร่วม OneChronos มากขึ้นเท่าใด ผลลัพธ์ก็จะยิ่งดีขึ้นเท่านั้น

อ้างอิง : https://www.bloomberg.com/news/articles/2022-06-30/new-trading-platform-onechronos-brings-ai-auctions-to-stocks#xj4y7vzkg

สตาร์ทอัพญี่ปุ่น พัฒนา AI ‘ลายจมูกสุนัข’ ลดปัญหาสูญหาย ตามหาเจ้าของง่ายขึ้น

อีกหนึ่งแนวคิดที่อาจนำมาปรับใช้ได้กับทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยด้วยเนื่องจากล่าสุดได้มีนโยบายของผู้ว่าฯกทม. ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ คือการขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยงตลอดช่วงชีวิต ฝังไมโครชิปลงทะเบียนกทม. วางแผนให้สิ่งแวดล้อมกรุงเทพฯดีขึ้น
หลักการเดียวกับการสแกนลายนิ้วมือของมนุษย์ (Fingerprint) ลายพิมพ์จมูกสุนัขก็จะมีลักษณะเฉพาะของแต่ละตัวเช่นกัน นั่นคือไอเดียที่สตาร์ทอัwหันมาใช้ ‘ลายจมูกสุนัข’ เปรียบเสมือนลายนิ้วมือคนที่ระบุตัวตนได้

S’more เป็นบริษัทสตาร์ทอัพในโตเกียวและบริษัทอื่นๆ ที่ได้สร้างสรรค์แอปพลิเคชันสุดล้ำ ทำให้สามารถตามหาตัวสุนัขได้ง่ายขึ้น หากสัตว์เลี้ยงของคุณหายตัวไป

วิธีการใช้งานแอปพลิเคชันก็ง่ายๆ เพียงผู้ใช้แอปของ S’more สามารถอัปโหลดรูปภาพจมูกสุนัขสองสามรูปที่คุณต้องการจะตามหา หากใครก็ตามที่เจอสัตว์ที่หายไปก็สามารถส่งรูปถ่ายเข้ามาที่แอปได้ และแอปพลิเคชันจะทำการจับคู่ ซึ่งจะช่วยให้การตามหาสุนัขกลายเป็นเรื่องง่าย

โดยเทคโนโลยี AI ที่เป็นหัวใจสำคัญของกระบวนการนี้ใช้การพัฒนาโดยเชิงลึก “Deep Learning” ศึกษาภาพสุนัข 2,000 ตัว และได้รับความแม่นยำในการระบุตัวตนประมาณ 90% S’more ยังวางแผนที่จะขยายแอปเพื่อรวมฟังก์ชันต่างๆ เพื่อช่วยให้ผู้ใช้จัดการบันทึกการฉีดวัคซีนของสัตว์เลี้ยงและข้อมูลด้านสุขภาพอื่นๆ

นอกเหนือจากญี่ปุ่นแล้ว บริษัทสตาร์ทอัพสัญชาติเกาหลีใต้ Petnow และบริษัทอาหารของสหรัฐฯ Mars ยังได้พัฒนาแอปจดจำการพิมพ์จมูกสำหรับสัตว์เลี้ยงอีกด้วย ในประเทศจีน บริการชำระเงินของ Alipay ของ Ant Group ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ Alibaba Group ยักษ์ใหญ่ด้านอีคอมเมิร์ซของจีน ในเดือนกรกฎาคม 202 ได้แนะนำระบบจดจำการพิมพ์จมูกที่เปลี่ยนไป บริการประกันสุขภาพสัตว์เลี้ยงกำลังใช้เทคโนโลยีเพื่อตรวจสอบตัวตนของสัตว์เลี้ยงเพื่อป้องกันการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน

บริษัทประกันสัตว์เลี้ยงของญี่ปุ่น Anicom Holdings ได้พัฒนาระบบที่ใช้ AI ซึ่งใช้ภาพถ่ายใบหน้าเพื่อช่วยคาดการณ์ว่าสุนัขมีความเสี่ยงจากโรคบางชนิดโดยเฉพาะ

ในกรุงเทพมหานครก็กำลังจะมีการปรับตามนโยบายชัชชาติ ‘ขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยงตลอดช่วงชีวิต’ โดยจะมีการฝังชิปและขึ้นทะเบียนกับกทม. เพื่อการจัดการปัญหาสัตว์เลี้ยงที่สูญหายและถูกทอดทิ้งให้เป็นระบบมากยิ่งขึ้น

และนี่เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของการพัฒนาระหว่างไมโครชิปและระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่เข้ามาช่วยชีวิตคนเราให้ง่ายและดียิ่งขึ้น

อ้างอิง : https://www.springnews.co.th/digital/826572

ทรูบิสิเนส ผนึก PeopleStrong เปิดตัวโซลูชัน HR แพลตฟอร์มบริหารทรัพยากรบุคคล ดึงความอัจฉริยะเทคโนโลยี AI 

ทางลัดองค์กรยุคใหม่ปรับกลยุทธ์สู่ HR 4.0 ทรูบิสิเนส ผนึก PeopleStrong เปิดตัวโซลูชัน HR แพลตฟอร์มบริหารทรัพยากรบุคคล ดึงความอัจฉริยะเทคโนโลยี AI ยกระดับงาน HR ยุคดิจิทัลแบบครบวงจร พร้อมมาตรฐานความปลอดภัยข้อมูลขั้นสูง ครอบคลุมทุกมิติวงจรชีวิตการทำงาน

ทรูบิสิเนส ผู้นำบริการสื่อสารและดิจิทัลโซลูชันครบวงจรสำหรับลูกค้าธุรกิจ ประกาศความร่วมมือกับ PeopleStrong ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มเทคโนโลยีด้านทรัพยากรบุคคล 4.0 ที่มีการใช้งานแล้วมากกว่า 2 ล้านคนในองค์กรขนาดใหญ่กว่า 500 แห่งทั่วเอเชียแปซิฟิก เปิดตัวโซลูชัน HR แพลตฟอร์มบริหารทรัพยากรบุคคลครบวงจร เสริมแกร่งองค์กรธุรกิจปรับกลยุทธ์สู่ HR 4.0 เน้นการให้ความสำคัญกับพนักงาน สอดรับการทรานสฟอร์มองค์กรในยุคดิจิทัลล้ำด้วยเทคโนโลยี AI ขับเคลื่อนงานบริหารทรัพยากรบุคคลครอบคลุมทุกมิติตั้งแต่การสรรหาบุคลากรใหม่จนถึงเกษียณหรือลาออก พร้อมมอบประสบการณ์ที่แตกต่างโดยรวบรวมทุกความต้องการด้าน HR สำหรับพนักงานไว้ในแอปพลิเคชันเดียว รองรับการทำงานจากทุกที่ สะดวก รวดเร็ว และคล่องตัว มั่นใจด้วยระบบการเก็บข้อมูลและรักษาความปลอดภัยขั้นสูงมาตรฐานระดับโลกพร้อมมีทีมผู้เชี่ยวชาญให้คำปรึกษา ออกแบบ และปรับแต่งโซลูชัน HR ที่เหมาะกับความต้องการของแต่ละองค์กร ตลอดจนดูแลบริการหลังการขายอย่างใกล้ชิด ตอกย้ำยุทธศาสตร์ Professional Digital Solutions ของทรูบิสิเนสที่มุ่งยกระดับบริการดิจิทัลสำหรับลูกค้าธุรกิจแบบเฉพาะรายอย่างมืออาชีพ

นายกิรัน กุมาร ประธานฝ่ายกลยุทธ์ตลาดทั่วโลก PeopleStrong กล่าวว่า “แนวโน้มการเติบโตด้าน HR ในเอเชียแปซิฟิกจะเน้นที่บุคลากรที่มีความสามารถพิเศษ (Talent) มากยิ่งขึ้น สำหรับ PeopleStrong ประเทศไทยเป็นตลาดเชิงกลยุทธ์และเรารู้สึกตื่นเต้นที่ได้ร่วมมือกับ ทรูบิสิเนส ผู้นำบริการสื่อสารและดิจิทัลโซลูชันครบวงจรสำหรับองค์กรธุรกิจโดยเรามุ่งมั่นปรับปรุงกระบวนการทางธุรกิจและบุคลากรที่ซับซ้อนด้วยเทคโนโลยีที่สามารถปรับเปลี่ยนและกำหนดรูปแบบโครงสร้างให้เหมาะสมตามการใช้งาน มีประสิทธิภาพและความคล่องตัวสูง เน้นพนักงานเป็นศูนย์กลางซึ่งช่วยให้องค์กรสามารถใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่ใหญ่ที่สุดของพวกเขา นั่นคือ “Talent” ประเทศไทยเป็นตลาดที่น่าสนใจและมีธุรกิจและผู้ประกอบการในประเทศที่แข็งแกร่งซึ่ง PeopleStrong สามารถช่วยยกระดับและเพิ่มศักยภาพทั้งสำหรับ HR และบุคลากรไปพร้อมกัน มั่นใจว่า ด้วยความร่วมมือกับ ทรูบิสิเนสจะสนับสนุนให้แพลตฟอร์ม HR Tech 4.0 ของ PeopleStrong ส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนการเติบโตขององค์กรธุรกิจไทย”

นายกิรัน กล่าวเสริมว่า ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ โลกแห่งการทำงานมีการเปลี่ยนแปลงอย่างยิ่งยวดทำให้เกิดมีนิยามใหม่ของ “งาน” ซึ่งวิวัฒนาการด้านแรงงานและความจำเป็นในการสร้างการเติบโต ส่งผลให้เกิด Talent Economy ที่คนเก่งหายากกว่าเงินทุนในการประกอบธุรกิจ ดังนั้น เพื่อให้ธุรกิจสามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วด้านแรงงานได้ HR Tech จึงมีเข้ามาบทบาทในการก้าวสู่ยุค HR 4.0 ซึ่งพื้นที่ออฟฟิศจะถูกแทนที่ด้วยพื้นที่ทำงานในรูปแบบที่เปิดกว้างให้พนักงานสามารถแสดงศักยภาพมากกว่าเพียงแค่การมีทักษะ ประสบการณ์ของพนักงานจะมีความสำคัญมากขึ้นในการกำหนดผลสำเร็จของธุรกิจ และนวัตกรรมจะถูกขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี AI (Artificial Intelligence) และ ML (Machine Learning)

อ้างอิง :  https://siamrath.co.th/n/362256

Robust AI เปิดตัว Carter หุ่นยนต์ผู้ช่วยในคลังสินค้า

Rodney Brooks ผู้บุกเบิกการวิจัยด้านวิทยาการหุ่นยนต์ รวมไปถึงเป็นผู้ก่อตั้งบริษัทต่างๆ ที่ได้สร้างหุ่นยนต์จำนวนมากออกมาไม่ว่าจะเป็น หุ่นยนต์ดูดฝุ่น หุ่นยนต์กำจัดระเบิด และหุ่นยนต์โรงงานที่ใครๆ ก็สามารถโปรแกรมได้

ซึ่งตอนนี้ทาง Brooks ต้องการนำเสนอหุ่นยนต์รุ่นใหม่ที่อาจจะมาปฏิวัติวงการของหุ่นยนต์ผู้ช่วย นั่นคือหุ่นยนต์คลังสินค้าเคลื่อนที่ ที่มีความสามารถในการอ่านภาษากายของมนุษย์เพื่อบอกสิ่งที่ผู้ปฏิบัติงานรอบๆ ตัวทำอยู่ โดยปัจจุบันหุ่นยนต์ทำงานใกล้ชิดกับมนุษย์มากขึ้นเรื่อยๆ และการหาวิธีเพิ่มการทำงานเป็นทีมระหว่างคนกับเครื่องจักรอาจช่วยให้บริษัทเพิ่มผลิตผลและอาจนำไปสู่งานประเภทใหม่ๆ มากกว่าที่จะให้หุ่นยนต์มาแทนที่มนุษย์

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว Robust AI บริษัทใหม่ของ Brooks เปิดตัวหุ่นยนต์เคลื่อนที่ Carter ซึ่งออกแบบมาเพื่อทำงานในคลังสินค้า โดยมันเป็นหุ่นยนต์ AI ที่มีฐานแบบใช้มอเตอร์ มีหน้าจอสัมผัสติดตั้งอยู่เหนือแฮนด์จับ และมาพร้อมกับกล้องหลายตัว ซึ่งพวกมันจะใช้กล้องเหล่านั้นในการสแกนสิ่งรอบตัว ทำให้ซอฟต์แวร์สามารถระบุคนงานที่อยู่ใกล้เคียง และพยายามอนุมานว่าพวกเขากำลังทำอะไรจากท่าทีและวิธีที่พวกเขาเคลื่อนไหว โดยหุ่นยนต์นี้สามารถกำหนดค่าให้ทำงานต่างๆ ได้หลากหลายโดยใช้อินเทอร์เฟซแบบกราฟิก เช่น ติดตามบุคคลรอบๆ คลังสินค้า หรือขนสิ่งของที่หยิบมาจากชั้นวาง

หากบริษัทใหม่ของ Brooks สามารถโน้มน้าวให้บริษัทอื่นซื้อหุ่นยนต์ของเขาได้ การอ่านและการตอบสนองต่อภาษากายของมนุษย์อาจเป็นการก้าวกระโดดสำหรับอุตสาหกรรมเลยก็ว่าได้ เพราะโดยปกติแล้ว หุ่นยนต์อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ยังคงทำงานภายในกรงเพื่อป้องกันไม่ให้มันสามารถไปทำร้ายใคร แม้ว่าโรงงานและคลังสินค้าจะใช้หุ่นยนต์เพื่อขนของไปรอบๆ มากขึ้น รวมถึงใช้แขนหุ่นยนต์พลังงานต่ำที่ออกแบบมาให้ทำงานอย่างปลอดภัยเคียงข้างผู้คน แต่มนุษย์และคนงานหุ่นยนต์ยังคงแยกจากกันเป็นส่วนใหญ่

Robust AI ได้ตั้งเป้าหมายผู้ใช้งานเทคโนโลยีของเขาเป็นคลังสินค้าขนาดเล็กซึ่งปัจจุบันไม่ได้ใช้ระบบอัตโนมัติมากนัก ซึ่ง Matt Beane ผู้ช่วยศาสตราจารย์ที่ UC Santa Barbara ซึ่งศึกษาวิธีที่องค์กรต่างๆ ใช้ AI และหุ่นยนต์ และเป็นผู้ให้คำปรึกษาให้กับ Robust AI กล่าวว่าบริษัทจำนวนมากไม่สามารถออกแบบการทำงานใหม่ทั้งหมดเกี่ยวกับระบบอัตโนมัติให้เข้ากับมนุษย์ได้ ซึ่งบริษัทในลักษณะเช่นนั้นอาจมีแนวโน้มที่จะลงทุนในเทคโนโลยีหุ่นยนต์อย่าง Carter

อ้างอิง : https://www.wired.com/story/warehouse-robot-reads-body-language/

ดีพร้อม ผนึกทีมวิจัยไทย สร้างแพลตฟอร์มบริการ FPS แก้ปัญหาชาวไร่อ้อย

ดีพร้อม ดันงานวิจัยสมาร์ทฟาร์มสู่ไร่อ้อย สร้างแพลตฟอร์มบริการ FPS (Field Practice Solutions) สู่การทำเกษตรแม่นยำแก้ปัญหาอย่างถูกจุด สร้างมูลค่าเพิ่ม เพิ่มผลผลิตและลดต้นทุนวัตถุดิบ 20% หรือ 50 ล้านบาทต่อโรงงาน

นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (ดีพร้อม) กล่าวว่า จากการดำเนินงานในฐานะประธาน Spearhead ด้านเศรษฐกิจ ในประเด็นแผนงานวิทยาการหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ และแผนงานระบบโลจิสติกส์อัจฉริยะ ดีพร้อมเห็นความสำคัญของการบูรณาการระหว่างพันธมิตรภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้คนไทยใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมมาช่วยแก้ปัญหาการทำเกษตรอย่างถูกต้อง สร้างการจัดการแบบเกษตรแม่นยำ เพื่อเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุนทั้งในด้านวัตถุดิบและเวลาให้กับชาวไร่อ้อย จากงานวิจัยแพลตฟอร์มบริการ FPS (Field Practice Solutions)

อาทิ ระบบประมวลผลเพื่อสร้างแผนที่ผลผลิตและแผนที่การระบาดของโรคพืชจากภาพถ่ายทางอากาศ ระบบประมวลผลเพื่อสร้างฐานข้อมูลในระบบภูมิสารสนเทศ (GIS) จากแผนที่ผลผลิต ระบบผสมสารและบรรจุลงถังบรรจุอัตโนมัติสำหรับโดรน ระบบฉีดพ่นสาร แบบแปรผันอัตโนมัติติดตั้งบนโดรนชุด Mobile-KIT และ Mobile Application สำหรับระบุพิกัดแปลงและติดตามกิจกรรมในแปลง และระบบ AI สำหรับเสนอแนะแผนการทำงาน บันทึกและแสดงผลการทำงานของเครื่องจักรเกษตร

รวมถึงการแนะนำการให้ปุ๋ยแบบแม่นยำสูงรายแปลงอัตโนมัติซึ่งระบบจะช่วยเรื่องการตัดสินใจในงานบำรุงรักษา เก็บเกี่ยว และเชื่อมโยงกับระบบตรวจวัด รวมทั้งมีระบบที่จะสามารถรองรับคำสั่งเพื่อให้เกิดการปรับการปฏิบัติงานในฟาร์มไปตามแผนงานใหม่ ครอบคลุมตั้งแต่กระบวนการออกแบบแปลงการปลูก การบำรุงรักษาและอารักขาพืช การเก็บเกี่ยวและการขนส่ง และสามารถปรับรูปแบบตามความต้องการของผู้ใช้บริการแต่ละราย หรือพืชแต่ละชนิด

ซึ่งเทคโนโลยีดังกล่าวช่วยลดการสูญเสียในด้านคุณภาพของผลผลิต ลดเวลารอคอยที่ไม่เกิดงานและเพิ่มความสามารถของเครื่องจักรได้ เช่น กรณีของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย
จะช่วยให้สามารถลดต้นทุนการผลิตน้ำตาลหรือพลังงานชีวมวลได้มากกว่า 20% คิดเป็น ประมาณ 50 ล้านบาทต่อปีต่อโรงงาน โดยสามารถกำหนดตารางการเก็บเกี่ยวอ้อยขณะที่อ้อยแต่ละแปลงมีน้ำหนักและความหวานสูงสุด สามารถใช้งานเครื่องจักรเก็บเกี่ยวได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

รศ.ดร.ขวัญตรี แสงประชาธนารักษ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเกษตร คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งเป็นหัวหน้าโครงการวิจัยที่ได้รับทุนสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) กล่าวว่า เกษตรกรที่ปลูกอ้อยนั้นทราบถึงปัญหาเรื่องต้นทุนการผลิตและอยากลดรายจ่ายส่วนนี้ แต่ปัญหาคือที่ผ่านมายังไม่มีเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมใดๆ ที่เข้ามาช่วยเกษตรกรประเมินความเสี่ยงในการลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตในไร่อ้อยได้อย่างแม่นยำ จึงได้ทำการวิจัยและพัฒนาร่วมกับภาคเอกชนเพื่อพัฒนาระบบวิเคราะห์และแปลผลภาพถ่ายทางอากาศที่ได้จากอากาศยานไร้คนขับ หรือ โดรน เพื่อนำข้อมูลที่จำเป็นไปสู่ขั้นตอนของการวิเคราะห์ และวางแผนการผลิต ลดความเสี่ยงในการจัดการไร่อ้อยของเกษตรกรหรือผู้ประกอบการ

โดยทางทีมวิจัยจึงร่วมมือกับบริษัท เอชจี โรโบติกส์ จำกัด ที่มีความเชี่ยวชาญด้านระบบ AI และ บริษัท โกลบอล ครอปส์ จำกัด โดยการนำโดรนมาใช้ในการสำรวจ เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาให้ตรงจุด ตามหลักการเกษตรแม่นยำ (Precision Agriculture)

นายมหิศร ว่องผาติ บริษัท เอชจี โรโบติกส์ จำกัด กล่าวเสริมว่า จากผลสำเร็จดังกล่าวส่งผลให้มีการขยายผลไปสู่เชิงพาณิชย์บ้างแล้ว โดยในปัจจุบันมีโรงงานน้ำตาลหลายแห่งสนใจจะจ่ายค่า Service ให้ทีมไปทดลองทำตั้งแต่ปีแรกของโครงการ ส่วนในปีที่สอง จะเน้นไปที่การควบคุมต้นทุนในการผลิตและการจัดการแปลง เช่น การให้ปุ๋ยหรือยาที่เหมาะสม ซึ่งเป็นการจัดการเฉพาะจุด

อ้างอิง : https://www.bangkokbiznews.com/business/1013592

—————————————————————————————-

ทั้งหมดเป็นข่าวที่น่าสนใจใน 1 – 7 กรกฎาคม 2565 พบกันใหม่ในสัปดาห์หน้านะคะ : )

หากมีข้อสงสัย ติชมสามารถ ติดตามและสอบถามได้ที่
 : AIไทยสามารถ โดย AI for all Thailand



เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึก