ข่าว AI รอบโลก – สัปดาห์ที่ 1 เดือนกันยายน 2022

ชวนรู้จัก ‘AI รายงานข่าว พูดได้ 50 ภาษา’ แบ่งเบาภาระงานมนุษย์

วิวัฒนาการด้านเทคโนโลยีของโลกในปัจจุบันนั้นมีการพัฒนาอยู่อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการนำปัญญาประดิษฐ์มาเป็นโซลูชั่นแก้ไขปัญหาต่าง ๆ การเข้ามาของเทคโนโลยีเสมือนหรือเมตาเวิร์ส (Metaverse) ช่วยขับเคลื่อนให้เกิดโลกเสมือนจริง

หลาย ๆ ธุรกิจนำ AI เหล่านี้มาปรับใช้กับองค์กรของตนเอง หนึ่งในนั้นคือ อุตสาหกรรมสื่อ ล่าสุดได้เกิด “อินฟลูเอนเซอร์เสมือนจริง (Virtual Influencer)” ในการนำเสนอเนื้อหา โฆษณา โดยการใช้หุ่นยนต์โปรโมท หลายคนมองว่า นี่เป็นสิ่งใหม่ของโลกที่จะทำให้เกิดการขับเคลื่อนในรูปแบบใหม่ ๆ แต่หลายคนก็มองว่า “หุ่นยนต์จะเข้ามาแย่งงานของมนุษย์”

ทางสำนักข่าวกรุงเทพธุรกิจ มีการเขียนข่าวพามาทำความรู้จักกับสตาร์ทอัพสายดีพเทค ที่นำ “AI มาใช้ผลิตคอนเทนต์และรายงานข่าว” อย่างไม่เกรงกลัวต่อค่านิยม “สักวันจักรกลจะครองโลก” แต่เป็นการมองว่า นี่คือโอกาสใหม่ ๆ ที่จะสเกลอัปธุรกิจ โดยการสัมภาษณ์ คุณปิ๊ง ฐิตาภา สิริพิพัฒน์ ผู้อำนวยการ Digital Human ของ Deus Works อดีตนักข่าวมืออาชีพ ที่ผันตนเองมาทำธุรกิจสร้างคอนเทนต์ด้วย Digital Human

ก่อนหน้านี้ ปิ๊งทำงานเป็นผู้สื่อข่าวมาตลอด 11 ปี โดยมีนายทุนที่สนใจเกี่ยวกับการนำ AI มาใช้ผลิตคอนเทนต์ จึงลาออกจากบริษัทข่าวที่ทำอยู่ และได้เข้ามาทำงานร่วมกับโปรแกรมเมอร์ วิศกร และทีมงานต่าง ๆ ใน Deus Works เพราะมองว่านี่คืองานที่ท้าทาย และน่าสนุก

โดยตนเองจะรับผิดชอบในส่วน PR Marketing นำสกิลของการคิดคอนเทนต์และสคริปต์ตอนเป็นนักข่าวมาป้อนลงใน AI เพื่อให้รายงานแทนตนเอง ซึ่งหัวใจหลัก ๆ ของโปรเจกต์นี้ก็คือ การผลิต AI ที่สามารถสร้างเนื้อหา เล่าเรื่องราวในมิติใหม่ โดยปัจจุบันแบ่ง Digital Human ออกเป็น 2 รูปแบบได้แก่ การโคลนนิ่งหน้าตัวเองให้เข้ามาอยู่ในระบบของ AI เพื่อใช้ในการนำเสนองาน และการสร้างใบหน้าขึ้นมาใหม่ โดยแบ่งรูปแบบของการทำงานไว้ดังนี้

  • AI พรีเซนเตอร์ ที่สามารถพูดได้ 50 ภาษา สำเนียงตามเจ้าของภาษา
  • AI นาง-นายแบบเสมือนจริง (Semireal) ที่มีหน้าตาเหมือนในเกม
  • AI อินฟลูเอนเซอร์หรืออินฟลูเอนเซอร์เสมือนจริง อย่างเช่น น้องกะทิ จากแพลน บี มีเดีย และน้องไอรีน จาก SIA Bangkok

ทั้งนี้ยังกล่าวอีกว่า “AI ไม่ได้เข้ามาแย่งงานมนุษย์อย่างที่หลายคนคิด แต่มันเป็นการปลดแอกการทำงานในรูปแบบใหม่ ที่จะเข้ามาช่วยแบ่งเบาภาระคนทำข่าวหรืออาชีพอื่น ๆ เพื่อให้นักข่าวตัวจริง คนที่ทำอาชีพนั้น ๆ ได้มีเวลาไปทำงานเชิงลึกที่ซับซ้อนขึ้น ทั้งแนวสืบสวนสอบสวน และวิเคราะห์เจาะลึก ส่วนงานง่าย ๆ อย่างการรายงานข่าว 50 ภาษาก็ปล่อยให้เอไอทำได้เลย”

ในประเด็นของ AI ที่พูดได้ 50 ภาษาและเป็นหน้าของเราดีอย่างไร คุณปิ๊งอธิบายว่า คอนเทนต์บางคอนเทนต์อาจจะเหมาะกับการจ้างโปรดักชันที่ครบครัน แต่จะมีบางคอนเทนต์ที่ไม่จำเป็นจะต้องจ้างโปรดักชันใหญ่ ๆ AI จะช่วยลดคอร์สเรียนภาษาเพิ่ม และลดต้นทุนการสร้างคอนเทนต์ง่าย ๆ เพราะว่า กว่าจะได้ข่าว 1 ชิ้นจะต้องมีโปรดักชันที่ใหญ่ ต้องมีการจ้างคนหลายคน เช่น ช่างหน้า ช่างผม ช่างไฟ ช่างภาพ และก็ต้องจ่ายให้คนอ่านข่าวหรือพรีเซนเตอร์ การมี AI จึงสามารถช่วยลดต้นทุนตรงนี้ได้

ในส่วนของการนำเสนองาน ยกตัวอย่างเช่น ผู้บริหารที่มีภาระงานเยอะแต่ต้องการที่จะเข้าประชุมหรือเข้าพูดคุยกับพนักงานในองค์กรก็สามารถโคลนนิ่งใบหน้าของตนเองในช่วงวัยนั้น แล้วใช้กับบางการประชุมที่ไม่ซับซ้อน หรือบางการแถลงข่าวสั้น ๆ ซึ่งไม่จำเป็นจะต้องจัดเองทั้งหมดแต่ใช้ AI พรีเซนเตอร์ในการเล่าเรื่องและก็นำเสนอเรื่องราวของของตนเองได้ และการสร้างหน้าขึ้นมาใหม่จะเป็นรูปแบบของ Bussiness Model อย่างเช่น น้องไอรีน โดยทำให้น้องคนนี้กลายเป็นอินฟลูอินเซอร์ เป็นพรีเซนเตอร์ เป็นนางแบบ ที่เราสามารถเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์หน้าได้ ทางบริษัทสามารถออกแบบใบตามสิ่งที่ลูกค้าต้องการ

“ปิ๊งมองว่ามันเป็นการสร้างภาพลักษณ์ให้ดูทันสมัยมากยิ่งขึ้นเพราะว่าเรามีการใช้ AI พรีเซนเตอร์เข้ามาช่วย แค่มาถ่าย Staff หน้าไว้เพียงแค่ครั้งเดียว หลังจากนั้นก็สามารถนำไปใช้งานพรีเซนต์ในเรื่องต่าง ๆ ได้เลย ซึ่งมันจะเป็นมิติใหม่ของการทำคอนเทนต์ที่ไม่จำเป็นต้องจ้าง Full Production แล้ว”

อ้างอิง : https://www.bangkokbiznews.com/tech/innovation/1024924

“ปัญญาประดิษฐ์” เขย่าองค์กรธุรกิจ ชี้องค์กร 1 ใน 3 จ่อใช้เคลื่อนธุรกิจ

“การ์ทเนอร์” เผยผลสำรวจ ผู้บริหาร 80% ชี้ระบบอัตโนมัติสามารถนำมาใช้กับการตัดสินใจเชิงธุรกิจใด ๆ ก็ได้ องค์กรถึงหนึ่งในสามกำลังนำเทคโนโลยี “เอไอ” มาใช้ในแผนกต่างๆ ของธุรกิจ โดยเฉลี่ย “โครงการเอไอ” ราว 54% สร้างขึ้นจากสนามทดสอบไปสู่การนำมาใช้จริง ขณะที่ “บุคลากร” ไม่ใช่อุปสรรคนำ เอไอ มาปรับใช้ ผู้บริหาร 72% ระบุว่ามีบุคลากรที่มีทักษะด้านเอไอพร้อมอยู่แล้วหรือสามารถจัดหาบุคลากรที่มีทักษะ เอไอ ในแบบที่ต้องการได้

ผลสำรวจล่าสุด พบว่า 80% ของผู้บริหารคิดว่าระบบอัตโนมัติ (Automation) สามารถนำไปใช้ประกอบการตัดสินใจทางธุรกิจใด ๆ ก็ได้ โดยการสำรวจนี้เผยให้เห็นรูปแบบขององค์กรต่าง ๆ ที่กำลังพัฒนาการใช้ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เมื่อระบบอัตโนมัติฝังตัวอยู่ในธุรกิจดิจิทัล โดยเป็นส่วนหนึ่งในกลยุทธ์ระบบอัตโนมัติขององค์กร

“เอริค เบรทเดอนิวซ์” รองประธานฝ่ายวิจัยการ์ทเนอร์ กล่าวว่า จากผลสำรวจดังกล่าวนี้แสดงให้เห็นว่า องค์กรต่าง ๆ กำลังเปลี่ยนแนวทางเชิงยุทธศาสตร์แบบเดิมๆ ไปสู่ เอไอ และเริ่มนำเทคโนโลยี เอไอ มาใช้ในเชิงกลยุทธ์ขององค์กรมากยิ่งขึ้น ตัวอย่างเช่น หนึ่งในสามขององค์กรกำลังนำระบบ เอไอ ไปใช้กับแผนกต่าง ๆ ในธุรกิจ เพื่อเสริมสร้างจุดแข็งและความต่างด้านการแข่งขัน และยังใช้ เอไอ สนับสนุนการตัดสินใจในกระบวนการทางธุรกิจ”

โดยความท้าทาย AI สู่การใช้งานจริง จากการสำรวจของ การ์ทเนอร์ เผยว่า โครงการต่าง ๆ ด้านเอไอเฉลี่ย 54% นั้นเกิดจากโครงการทดสอบต่าง ๆ ไปสู่การดำเนินงานจริง ซึ่งเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 53% ในปี 2562 ตามรายงาน Gartner 2019 AI in Organizations Survey

“ฟราสซิส คารามูซิส” รองประธานฝ่ายวิจัยการ์ทเนอร์ กล่าวว่า การปรับสัดส่วน เอไอ ให้เหมาะสมกับการดำเนินธุรกิจยังเป็นความท้าทายสำคัญ โดยองค์กรต่าง ๆ ยังประสบปัญหาการเชื่อมต่ออัลกอริทึมที่พวกเขาสร้างขึ้นกับคุณค่าของธุรกิจที่มอบให้กับลูกค้า (Business Value Proposition) ซึ่งกลายเป็นเรื่องยากสำหรับผู้บริหารฝ่ายไอทีและผู้บริหารธุรกิจในการวิเคราะห์และพิสูจน์ความคุ้มค่าของการลงทุนที่จำเป็นต่อโมเดลการทดสอบ”

องค์กร 40% ระบุว่ามีการนำแบบจำลองเอไอหลายพันรายการไปใช้งาน ซึ่งสร้างความซับซ้อนให้กับการกำกับดูแลขององค์กรและยังเป็นความท้าทายต่อความสามารถของผู้บริหารด้านข้อมูลและการวิเคราะห์เพื่อแสดงผล ROI (Return On Investment) จากแบบจำลองแต่ละแบบ

ทั้งนี้ยังมีในเรื่องของ “คน”ไม่ใช่อุปสรรคของการใช้เอไอ แม้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรจะส่งผลกระทบต่อการริเริ่มโครงการ เอไอ แต่จากผลสำรวจกลับพบว่า บุคลากรไม่ใช่อุปสรรคสำคัญในการนำ เอไอ มาใช้ โดยผู้บริหารถึง 72% บอกว่า พวกเขามีบุคลากรที่มีทักษะด้านนี้พร้อมอยู่ในมือหรือสามารถจัดหาบุคลากร เอไอ ที่มีความสามารถในแบบที่องค์กรต้องการได้

“องค์กรที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดผสมผสานการใช้บุคลากรที่พัฒนาขึ้นจากภายในกับการว่าจ้างบุคคลภายนอกที่มีความสามารถและเชี่ยวชาญด้าน เอไอ ซึ่งการดำเนินงานดังกล่าวนี้ทำให้มั่นใจได้ว่าทีมจะสามารถเดินหน้าทำงานได้อย่างต่อเนื่อง ด้วยการเรียนรู้ทักษะและเทคนิคเอไอใหม่ๆ รวมถึงไอเดียใหม่ๆ ที่ได้มาจากบุคคลภายนอก” เบรทเดอนิวซ์ กล่าวเพิ่มเติม

ในส่วนความกังวลเรื่อง“ความปลอดภัย” ความกังวลด้านความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวไม่ได้ถูกจัดอยู่ในอันดับต้น ๆ ของเรื่องอุปสรรคสำคัญต่อการนำ เอไอ มาใช้ โดยมีผู้บริหารเพียง 3% เท่านั้นที่ระบุว่ารู้สึกกังวลกับประเด็นนี้ อย่างไรก็ตามองค์กร 41% เผยว่าเคยพบการละเมิดความเป็นส่วนตัวหรือเหตุการณ์ด้านความปลอดภัยของ เอไอ มาก่อน

เมื่อถามว่าส่วนใดขององค์กรธุรกิจที่กังวลด้านความปลอดภัยของ เอไอ มากที่สุด ผู้ตอบแบบสอบถาม 50% กังวลเกี่ยวกับคู่แข่ง คู่ค้า หรือบุคคลที่สามอื่น ๆ และ 49% กังวลเรื่องอันตรายจากแฮ็กเกอร์ อย่างไรก็ตาม กลับมีถึง 60% ขององค์กรที่เผชิญกับปัญหาความปลอดภัยหรือเหตุการณ์ความเป็นส่วนตัวของ เอไอ ที่เผยว่า มีการประนีประนอมในประเด็นของข้อมูลกันภายใน

“ข้อกังวลต่าง ๆ ในด้านความปลอดภัย เอไอ ขององค์กรมักถูกเข้าใจผิด เนื่องจากการละเมิดที่เกิดจาก เอไอ ส่วนใหญ่เกิดจากบุคคลภายใน ขณะที่การตรวจจับและป้องกันการโจมตีมีความสำคัญ ระบบความปลอดภัยของ เอไอ ควรให้ความสำคัญกับการลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นโดยมนุษย์ด้วยเช่นกัน” เบรทเดอนิวซ์ ทิ้งท้าย

อ้างอิง : https://www.bangkokbiznews.com/tech/gadget/1024974

ภาพวาดจาก AI ชนะประกวดแข่งขัน VS ความหมายการเป็นศิลปิน ?

ภาพวาดจาก AI ของ Midjourney ชนะการประกวดแข่งขันวาดภาพ ทำให้เหล่าศิลปินต่างโกรธเคืองไม่พอใจ อะไรคือจิตวิญญาณของการเป็นศิลปินที่แท้จริง ?

ในช่วงเดือนที่ผ่านมา เราได้เห็นกระแสข่าวประเด็นภาพที่ถูกรังสรรค์ขึ้นจาก AI ที่แม้แต่ TikTok แพลตฟอร์มวิดิโอสั้นระดับโลก ยังใส่เข้าไปเป็นหนึ่งในฟีเจอร์ของแอปพลิเคชัน
โดยความสวยงามของภาพนั้นขึ้นอยู่กับความสามารถในการประมวลผลของ AI อย่างของ TikTok ที่จำเป็นต้องรองรับผู้ใช้งานจำนวนมากจำเป็นที่ต้องประหยัดพลังการประมวลผลทำให้ภาพออกมามีรูปแบบอย่างง่าย แต่ถ้าหากเป็น AI จากที่อื่น ๆ อย่าง NightCafe.Studio , Wombo.art หรือหลายรูปที่ทำให้คนตะลึงจาก Midjourney
เรียกได้ว่าภาพจาก AI เหล่านี้มีความสวยงามและสมจริงไม่ต่างจากศิลปินมือดีมาวาดให้กันเลยทีเดียว

แต่แล้วจะเป็นอย่างไร หากนำภาพที่ AI วาดให้เหล่านี้ไปประกวดการแข่งขันวาดภาพ ?

เรื่องนี้ได้เกิดขึ้นจริงแล้ว เมื่อ เจสัน เอ็ม. อัลเลน (Jason M. Allen) นำภาพจาก AI ของเขาไปเข้าร่วมการแข่งขันศิลปะครั้งแรกของเขา กับภาพที่มีชื่อว่า “Théâtre D’opéra Spatial” โดยสามารถแปลจากภาษาฝรั่งเศสได้ว่า “มิติแห่งโรงละครโอเปร่า” ซึ่งมีลักษณะภาพเป็นรูปวาดของสีน้ำมัน ที่ดูแล้วมีความโบราณในยุคเรเนซองส์ (Renaissance) แต่ผสานกับแนวร่วมสมัยแบบสตีมพังค์ (Steampunk) และแน่นอนว่าภาพดังกล่าวถูกวาดโดย AI ของ Midjourney อีกแล้ว

ภาพ “Théâtre D’opéra Spatial” คว้ารางวัลชนะเลิศในหมวด “ศิลปะดิจิทัล/การถ่ายภาพที่ควบคุมด้วยระบบดิจิทัล” ของแผนกศิลปินเกิดใหม่ในการแข่งขันงานศิลปกรรมรัฐโคโลราโด (Colorado State Fair Fine Arts Competition) ที่ถูกจัดขึ้นเมื่อ ส.ค. ที่ผ่านมา และชนะเงินรางวัล 300 ดอลลาร์ (10,941 บาท)

“ผมรู้สึกทึ่งกับภาพนี้ ผมรักมัน และคิดว่าทุกคนควรได้เห็นมัน” อัลเลน กล่าว

ภาพ “Théâtre D’opéra Spatial” เป็นหนึ่งในสามภาพของเจสัน เอ็ม. อัลเลน ที่ร่วมการประกวด รวมทั้งหมด 11 คนกับ 18 ผลงาน ในการแข่งขันหมวด “ศิลปะดิจิทัล/การถ่ายภาพที่ควบคุมด้วยระบบดิจิทัล” จากศิลปินที่เกิดใหม่

คำจำกัดความสำหรับหมวดหมู่นี้ อัลเลนระบุเอาไว้ว่า ศิลปะดิจิทัลหมายถึงงานที่ใช้ “เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสร้างสรรค์หรือการนำเสนอ” ทำให้เขาเลือกใช้ Midjourney ในการสร้างภาพของเขา

Midjourney เป็นหนึ่งในโปรแกรมสร้างภาพ AI ที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เช่นเดียวกันกับ Imagen ของ Google Research และ DALL-E 2 ของ OpenAI ทุกคนสามารถใช้ Midjourney ผ่าน Discord ได้ ในขณะที่ DALL-E 2 ต้องได้รับคำเชิญ และ Imagen ยังไม่ได้เปิดให้ผู้ใช้นอก Google

ความแปลกใหม่ของเครื่องมือเหล่านี้ วิธีที่พวกเขาใช้ในการสร้างภาพ นำไปสู่การถกเถียงกันว่าพวกเขาสามารถสร้างงานศิลปะหรือช่วยเหลือมนุษย์ในการสร้างงานศิลปะได้จริงหรือไม่ ?
และกลายเป็นประเด็นที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น หลังจากที่ อัลเลนชนะการประกวดในการแข่งขันงานศิลปกรรมรัฐโคโลราโด เพราะด้วยความตื่นเต้นเขาจึงโพสต์เรื่องดังกล่าวลงในเซิร์ฟเวอร์ Discord ของ Midjourney เมื่อวันที่ 25 ส.ค. พร้อมแนบผลงานทั้งสามชิ้นของเขา

และสิ่งนี้ได้กลายเป็นไวรัลใน Twitter ทันที เหล่าศิลปินหลายคนโกรธเคืองกับชัยชนะของเจสัน เอ็ม. อัลเลน เพราะเขาใช้ AI ในการสร้างภาพ ไม่ได้ลงมือสร้างสรรค์ผลงานด้วยฝีมือของตัวเขาเองทั้งหมด
ผู้ใช้ Twitter รายหนึ่งเขียนว่า “มันห่วยด้วยเหตุผลเดียวกันกับที่เราไม่อนุญาตให้หุ่นยนต์เข้าร่วมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก”
ในขณะที่ผู้ใช้ Twitter อีกราย ระบุว่า “นี่คือคำจำกัดความที่แท้จริงของ ‘การกดปุ่มสองสามปุ่มเพื่อสร้างผลงานศิลปะดิจิทัล’ งานศิลปะ AI คือ ‘กล้วยติดกำแพง’ ของโลกดิจิทัลในขณะนี้”

แม้ว่าอัลเลนจะไม่ได้ใช้พู่กันเพื่อสร้างผลงานที่ชนะรางวัล แต่ก็มีงานมากมายที่เกี่ยวข้อง “ไม่ใช่ว่าคุณแค่รวบรวมคำพูดและชนะการแข่งขัน”
คุณสามารถป้อนวลีเช่น “ภาพวาดสีน้ำมันของสตรอเบอร์รี่” ไปยัง Midjourney และรับรูปภาพหลายรูปจากระบบ AI ภายในไม่กี่วินาที
แต่อัลเลนระบุว่า กระบวนการของเขาไม่ง่ายเช่นนั้น เพื่อให้ได้ภาพสามภาพสุดท้ายที่เขาส่งเข้าร่วมการแข่งขัน เขากล่าวว่า “ใช้เวลามากกว่า 80 ชั่วโมง”
เขาเริ่มต้นการทดลองความสามารถของ AI ของ Midjourney ด้วยการสร้างภาพผู้หญิงในชุดกระโปรงและหมวกอวกาศ จากนั้นเขาพยายามผสมผสานการแต่งกายสไตล์วิคตอเรียด้วยธีมอวกาศ
เมื่อเวลาผ่านไป ด้วยการปรับแต่งคำเล็กน้อยในการเขียนของเขา (เช่น การปรับแสงและความกลมกลืนของสี) เขาได้สร้างการทำซ้ำ 900 ครั้งซึ่งนำไปสู่ภาพสามภาพสุดท้ายของเขา และเขานำภาพไปทำต่อใน Photoshop เพื่อความสมบูรณ์แบบที่มากยิ่งขึ้น
เช่น ให้หนึ่งในผู้หญิงในรูปที่ชนะของเขามีผมหยักศกสีเข้มหลังจากที่ Midjourney ทำเธอหัวขาด จากนั้นเขาก็รันภาพผ่านโปรแกรมซอฟต์แวร์อื่นที่เรียกว่า Gigapixel AI ซึ่งสามารถปรับปรุงความละเอียดและให้ภาพที่พิมพ์บนผ้าใบที่ร้านพิมพ์ในท้องถิ่น
อัลเลนดีใจเป็นอย่างมากที่มีการถกเถียงกันว่า AI สามารถใช้สร้างงานศิลปะได้หรือไม่
“แทนที่จะเกลียดเทคโนโลยีหรือคนที่อยู่เบื้องหลัง เราต้องตระหนักว่ามันเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังและใช้มันให้เกิดประโยชน์ เพื่อที่เราทุกคนจะได้ก้าวไปข้างหน้ามากกว่าที่จะเมินเฉยต่อมัน” อัลเลนกล่าว

คาล ดูแรน (Cal Duran) ศิลปินและครูสอนศิลปะซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ตัดสินการแข่งขัน กล่าวว่า ในระหว่างประกวดอัลเลนได้มีการกล่าวถึง Midjourney ด้วย แต่ ณ ตอนนั้นตัวเขาเองไม่ทราบว่า Midjourney คือ AI ที่เอาไว้สร้างรูปภาพ
อย่างไรก็ตาม เขายังคงยึดมั่นในการตัดสินใจของเขาที่จะให้รางวัลที่หนึ่งในประเภทดังกล่าว พร้อมเรียกมันว่า “ผลงานที่สวยงาม”
“ผมคิดว่างานชิ้นนี้มีส่วนเกี่ยวข้องมากมาย และผมคิดว่าเทคโนโลยี AI เปิดโอกาสให้แก่ผู้ที่ไม่ค้นพบตัวเองเป็นศิลปินในแบบเดิม ๆ” คาล ดูแรน กล่าว
เจสัน เอ็ม. อัลเลน ยังไม่เผยถึง “ข้อความ” ที่อยู่เบื้องหลังภาพที่ชนะว่าคืออะไร เขาจะเก็บสิ่งนี้เป็นความลับจนกว่าเขาจะเผยแพร่งานที่ยิ่งใหญ่กว่าเดิมซึ่งเขาหวังว่าจะแล้วเสร็จในปลายปีนี้

อ้างอิง : https://www.springnews.co.th/digital-tech/technology/829443

PromptBase แพลตฟอร์มขาย”ข้อความ”สำหรับใช้ใน DALL-E และ Midjourney

ในช่วงไม่นานที่ผ่านมา งานศิลปะที่สร้างขึ้นโดย AI อย่าง Midjourney และ DALL-E ของ OpenAI ได้รับความสนใจอย่างน่าประหลาดใจ ซึ่งโปรแกรมเหล่านี้ก็สามารถแปลข้อความเป็นงานศิลปะที่ได้รับรางวัลมาแล้ว (ซึ่งกำลังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่) และเมื่อเครื่องมือเหล่านี้มีความซับซ้อนมากขึ้น ข้อความที่จะถูกใส่ลงไปนั้นก็กลายเป็นงานฝีมือในรูปแบบหนึ่งที่คนสร้างข้อความอาจจะต้องมีความสามารถรวมกับความคิดสร้างสรรค์ในการสร้างข้อความให้ตัวของ AI เพื่อได้รูปภาพที่ต้องการออกมา ซึ่งตอนนี้มีครีเอเตอร์บางคนเริ่มวางขายข้อความเหล่านั้นแล้ว

PromptBase เป็นศูนย์กลางของการค้าใหม่สำหรับข้อความในการสร้างภาพจากโปรแกรมสร้างภาพด้วย AI ซึ่งได้เปิดตัวเมื่อต้นฤดูร้อนนี้ที่ผ่านมา แพลตฟอร์ม PromptBase นั้นทำการขายข้อความคำอธิบายที่จะถูกนำไปสร้างเป็นรูปแบบศิลปะบนแพลตฟอร์ม AI อีกที โดยเมื่อเราซื้อข้อความเหล่านั้น เราจะได้รับชุดข้อความที่เราสามารถไปวางลงใน Midjourney, DALL-E หรือระบบอื่นๆที่มีลักษณะคล้ายกัน

ซึ่งข้อความที่เราได้นั้นจะซับซ้อนกว่าคำอธิบายทั่วไปสองสามคำ โดยมันอาจจะประกอบด้วยคำหลักที่อธิบายลักษณะพื้นฐานที่ต้องการ องค์ประกอบที่สำคัญสำหรับฉากหลัง และลักษณะเพิ่มเติมที่ผู้ซื้อสามารถเพิ่มตัวแปรของตนเองเพื่อปรับแต่งเนื้อหารูปภาพได้บางอย่าง เช่นการออกแบบการทาเล็บอาจรวมถึงตำแหน่งของมือ มุมของการถ่ายภาพ รวมไปถึงคำแนะนำในการปรับแต่งภาพเพื่อสร้างสไตล์และธีมการทำเล็บที่แตกต่างกัน

PromptBase หารายได้จากการรับค่าคอมมิชชัน 20 เปอร์เซ็นต์ และผู้เขียนข้อความเหล่านั้นยังคงเป็นเจ้าของผลงานของตน แม้ว่าสถานะลิขสิทธิ์ของศิลปะ AI และข้อความเหล่านั้นส่วนใหญ่ยังไม่เป็นที่ถกเถียงกันอยู่

นอกจากนั้น Justin Reckling หนึ่งในดีไซเนอร์สร้างข้อความได้ออกมาให้สัมภาษณ์และได้บอกว่าเขาได้รับอนุญาตในการสร้างเว็บไซต์ที่มีชื่อว่า typestitch.com ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่ได้ใช้โมเดล GPT-3 ในการรับคีย์เวิร์ดเพียงหนึ่งหรือสองคำเพื่อสร้างข้อความเหล่านั้นที่ใช้ในโปรแกรม DALL-E หรือ Midjourney โดยเว็บไซต์ดังกล่าวถูกสร้างขึ้นมาสำหรับให้คนมาลองใช้งานเล่น หรือเพื่อให้แนวคิดบางอย่างในการสร้างข้อความที่ซับซ้อนมากขึ้น

อ้างอิง : https://www.theverge.com/2022/9/2/23326868/dalle-midjourney-ai-promptbase-prompt-market-sales-artist-interview

รู้จัก “Pocketalk” อีกหนึ่งแอป AI ที่ทำหน้าที่เป็น “วุ้นแปลภาษา”

ความหลากหลายทางภาษา และทักษะที่ไม่ใช่ทุกคนจะมีเท่ากัน ทำให้การสนทนากับชาวต่างชาติอาจเปรียบได้กับการเผชิญวิกฤตในชีวิตก็ว่าได้ แต่สำหรับคนยุคนี้ที่เทคโนโลยีก้าวมาไกล ไม่ว่าจะ เครื่องแปลภาษา หรือ แอปแปลภาษา ต่างได้รับการพัฒนาจนกลายมาเป็นตัวช่วยให้รับมือกับภาษาต่างประเทศได้หลากหลายและแม่นยำมากขึ้น ซึ่งไม่ได้มีแต่เจ้าตลาด (ในไทย) อย่าง Google Translate ทว่าล่าสุด บริษัทผู้พัฒนาเครื่องแปลภาษาและแอปแปลภาษาสัญชาติญี่ปุ่น ได้ส่ง Pocketalk มาให้คนไทยได้ใช้กัน

“Pocketalk” คือ “เครื่องแปลภาษา” จากเสียงโดยใช้ระบบ AI ที่รองรับได้ถึง 82 ภาษาทั่วโลก มีความแม่นยำในการแปลสูง และสะดวกต่อการใช้งาน ปัจจุบันมีผู้ใช้งานจำนวนมากทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับ 1 (อ้างอิงจากข้อมูลยอดขายเครื่องแปลภาษาทั่วประเทศที่สำรวจโดยองค์กรบุคคลที่สามซึ่งเป็นร้านค้าปลีกชั้นนำด้านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้บริโภค เมื่อเดือนมิถุนายน 2565) เช่นเดียวกับในสหรัฐอเมริกา และยุโรป ด้วยการผสานพลังของระบบที่ล้ำสมัยทั้ง 3 อย่าง ได้แก่ การจดจำเสียงพูด, ระบบการแปล และระบบการออกเสียง และการแปลข้อมูลล่าสุดบนคลาวด์ด้วย AI จึงแปลภาษาออกมาได้อย่างรวดเร็ว และถูกต้องแม่นยำ

แอป Pocketalk นี้ทำให้ใช้งานเครื่องแปลภาษาจากเสียงด้วย AI ได้อย่างสะดวกสบายบนสมาร์ทโฟน รองรับการแปลด้วยเสียง และข้อความถึง 70 ภาษา และรองรับเฉพาะการแปลข้อความถึง 12 ภาษา

โนริยูกิ มัทสึดะ กรรมการบริหารผู้มีอำนาจลงนามแทนบริษัท Pocketalk Co., Ltd. ให้ข้อมูลว่าบริษัทมุ่งมั่นที่จะขจัดอุปสรรคด้านภาษาและการขยายบริการ “Pocketalk” ไปทั่วโลก ผลิตภัณฑ์ของ Pocketalk มียอดขายเติบโตขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในประเทศญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และยุโรป นอกเหนือจากการใช้งานส่วนบุคคลแล้ว ยังเหมาะกับงานที่มีอุปสรรคทางด้านภาษา เช่น สถานศึกษา สถาบันทางการแพทย์ และบริษัทต่างๆ อีกด้วย

สำหรับจุดเด่นของแอปพลิเคชันแปลภาษา “Pocketalk” มีดังต่อไปนี้

  • ความแม่นยำในการแปลสูง
    แอปพลิเคชันนี้แปลภาษาโดยใช้ข้อมูลล่าสุดบนคลาวด์ด้วย AI ทำให้ผลลัพธ์ในการแปลมีความรวดเร็ว และแม่นยำสูง ผลลัพธ์ที่ได้เทียบได้กับการใช้เครื่องแปลภาษา AI “Pocketalk” เลยทีเดียว
  • แปลขณะสนทนาได้อย่างง่ายดาย
    แอปพลิเคชันแปลภาษา “Pocketalk” ออกแบบมาให้มีปุ่มกดในขณะพูดเพื่อความสะดวกในการใช้งาน ซึ่งเป็นรูปแบบเดียวกันกับเครื่องแปลภาษา AI “Pocketalk”
    ในขณะที่พูด ให้กดปุ่มค้างไว้ และเมื่อพูดจบให้ยกนิ้วขึ้น แอปพลิเคชันก็จะแปลออกมาเป็นอีกภาษาทันที นอกจากนี้ยังมีจุดเด่นคือระบบตัดเสียงรบกวน จึงทำให้จับข้อความได้อย่างแม่นยำ
  • รองรับ 70 ภาษาทั่วโลก
    “Pocketalk” รองรับการแปลด้วยเสียง และข้อความ 70 ภาษาและรองรับเฉพาะการแปลข้อความ 12 ภาษา
  • ระบบแปลด้วยกล้อง
    ใช้กล้องบนสมาร์ทโฟนเพื่อแปลภาษาได้อัตโนมัติถึง 55 ภาษา เพียงถ่ายภาพ แอปพลิเคชันจะแปลและแสดงผลบนหน้าจอทันที
    แม้ในรูปภาพจะมีข้อความหลายภาษา เช่น ภาษาไทย และภาษาอังกฤษ แต่ “แอป Pocketalk” ก็แยกแยะและแปลแต่ละภาษาออกมาได้พร้อมกัน นอกจากนี้ยังตรวจสอบประวัติการแปลได้อีกด้วย
  • ระบบฝึกการออกเสียง
    ฝึกการออกเสียงประโยคที่อยู่ในประวัติการแปลได้ ไม่เพียงแค่ตรวจสอบความถูกต้องในการออกเสียงเท่านั้น แต่ “Pocketalk” ยังช่วยแจ้งคำที่ออกเสียงผิดเป็นตัวอักษรสีแดง ทำให้รู้ว่าควรปรับปรุงการออกเสียงจุดใดด้วย แล้วยังปรับความเร็วได้ 3 ระดับ (ไม่รองรับบางภาษา) ทำให้ฟังซ้ำในความเร็วที่ต้องการได้

โนริยูกิ มัทสึดะ บอกว่า เพื่อตอบสนองความต้องการในการใช้ “เครื่องแปลภาษา” จากเสียงด้วย AI บนสมาร์ทโฟน จึงเปิดให้เลือกใช้บริการได้ตามความต้องการ โดยมีราคาให้เลือกเป็นแบบรายสัปดาห์ในราคา 35 บาท รายเดือนในราคา 99 บาท และรายปีในราคา 1,000 บาท

อ้างอิง : https://www.bangkokbiznews.com/tech/gadget/1025106

เตรียมรับมือ อีก 4 ปี “แก๊งคอลเซ็นเตอร์” จะกลับมาอีกครั้งพร้อม “AI” อัจฉริยะ

บริษัทวิจัยได้คาดการณ์ไว้ว่า ในอีก 4 ปีข้างหน้า เทคโนโลยี AI จะเข้ามาแทนพนักงานคอลเซ็นเตอร์ และไม่ต้องใช้มนุษย์อีกต่อไป แต่เรื่องที่น่าคิดต่อไปคือ เทคโนโลยีนี้จะช่วยให้มิจฉาชีพหรือแก๊งคอลเซ็นเตอร์ทำงานได้ง่ายขึ้นหรือเปล่า เพราะ AI อาจมีความน่าเชื่อถือกว่ามนุษย์
Gartner ซึ่งอยู่ในวงการเทคโนโลยีได้คาดการณ์ว่าระบบคอลเซ็นเตอร์จะกลายเป็นแบบอัตโนมัติและไม่มีพนักงานรับสายอีกต่อไป ภายในปี 2026 นี้ และถูก AI มาทดแทน

จริงๆแล้วเราเคยได้สัมผัสหรือได้ใช้งาน ‘Conversation AI’ หรือการสนทนาแบบอัตโนมัติกันบ้างแล้ว เช่น การให้บริการธนาคาร , เครือข่ายโทรศัพท์ ไม่ว่าจะเป็นการสนทนาแบบเสียง , แชทบอท ที่เราคุ้นเคยกันมาบ้างแล้ว เช่น กด 1 ,​กด 2 เพื่อเข้าเมนูต่างๆ หรือการแชทสนทนาอัตโนมัติในการแจ้งปัญหาต่างๆในแอปพลิเคชัน ซึ่งเห็นได้ว่าบางบริษัทสามารถใช้คอลเซ็นเตอร์แบบอัตโนมัติได้และสามารถตอบโจทย์การใช้งานได้เกือบทั้งหมดแล้ว

ปัจจุบันในประเทศไทยก็เกิดความวุ่นวายกับการก่อกวนจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการหลอกว่า เครือข่ายมือถือจะถูกตัดการใช้งาน , มีพัสดุค้างชำระ หรืออื่นๆอีกมากมาย ซึ่งเราอาจไม่เชื่อคอลเซ็นเตอร์พวกนี้เพราะ น้ำเสียง , โทนเสียงต่างๆที่ดูไม่มืออาชีพ หรือไม่น่าเชื่อถือ

และเมื่อในอีก 4 ปีข้างหน้า เทคโนโลยี AI จะสามารถทำงานแทนคอลเซ็นเตอร์ได้อย่างเต็มรูปแบบ จะเป็นผลดีหรือผลเสียกับตัวเรากันแน่ การที่ AI ถูกพัฒนามาให้ทดแทนคอลเซ็นเตอร์ อาจจะกลายเป็นน่ากลัวและอันตรายกว่าเดิมหรือไม่? เพราะหาก AI พัฒนาจนสามารถเรียนรู้และตอบคำถามต่างๆได้จริงและแม่นยำ ประกอบกับโทนเสียงการพูดคุยของระบบ AI จะมีความน่าเชื่อถือและเสถียรกว่ามนุษย์เสียอีก รูปแบบการตอบคำถามต่างๆจะมีระบบวางไว้อย่างสมบูรณ์แบบ ทำให้เราอาจไม่รู้เลยว่าสายที่โทรเข้ามาคือ ‘มิจฉาชีพ’ และในอนาคตเชื่อว่าช่วงแรกๆของการเปลี่ยนแปลง เราอาจได้เห็นข่าวสารมิจฉาชีพที่ใช้ระบบ AI หรือปัญญาประดิษฐ์ ลวงผู้คนให้โอนเงินหรือทำรายการอื่นๆ

แต่เชื่อว่าสุดท้ายแล้วเทคโนโลยี AI จะถูกแก้ไขและปรับปรุงในรูปแบบต่างๆ เช่น ต้องพูดเลขรหัสประจำตัวหรือมีการยืนยันตัวที่ทำให้เราสามารถทราบได้ว่าเป็นคอลเซ็นเตอร์จากบริษัทนั้นๆจริง หรือมีการส่งรหัส OTP ยืนยันตัวอีกครั้งเพื่อความน่าเชื่อถือ

อ้างอิง : https://www.springnews.co.th/digital-tech/technology/829367

“Chess Robot” หุ่นยนต์เล่นหมากรุกสากล ผลงานนักศึกษา มจธ.

แขนกลเป็นหุ่นยนต์ประเภทนึงที่มีการนำมาประยุกต์ใช้งานได้อย่างหลากหลาย โดยหุ่นยนต์ที่นำมาใช้งานในอุตสาหกรรมส่วนใหญ่จะเป็นแขนกลที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ และเป็นการออกแบบให้เหมาะกับการใช้งานในอุตสาหกรรม ที่จำเป็นต้องมีความแข็งแรงสามารถหยิบจับได้อย่างแน่นหนา หรือเคลื่อนย้ายวัตถุอย่างรวดเร็ว เพื่อตอบสนองต่อความต้องการด้านอุตสาหกรรมการผลิต

ทั้งนี้ การนำแขนกลประเภทดังกล่าวมาใช้เล่นหมากรุกกับมนุษย์ ดังกรณีข่าวหุ่นยนต์เล่นหมากรุกหักนิ้วเด็กคู่แข่งขันที่ประเทศรัสเซีย จึงเป็นการประยุกต์ใช้งานหุ่นยนต์ที่ผิดจากจุดประสงค์ของผู้ออกแบบ ทำให้เกิดความผิดพลาดในการใช้งานได้

ขณะที่ “หุ่นยนต์แขนกลเล่นหมากรุกสากล หรือ (Chess Robot)” เป็นการออกแบบจากนักศึกษาของสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO) ที่เฉพาะเจาะจงในการนำมาประยุกต์ใช้กับการเล่นหมากรุกกับมนุษย์โดยเฉพาะ ความสามารถในการหยิบจับ และการเคลื่อนที่จะอยู่ในระดับที่ปลอดภัยสำหรับผู้เล่นมากกว่าแขนกลที่ออกแบบไว้สำหรับการใช้งานในอุตสาหกรรม

“หุ่นยนต์หมากรุก” เป็นผลงานภาคบังคับ Class Project Module 8-9 ปีการศึกษา 2563 ในวิชา Robotics Studio ของนักศึกษาชั้นปีที่ 3 หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ (FIBO Robotics and Automation (FRA)) ระดับปริญญาตรี สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)

ดร.ณรงค์ศักดิ์ ถิรสุนทรากุล อาจารย์ประจำสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO) กล่าวว่า หุ่นยนต์ดังกล่าวเป็นผลงานในเวลาเรียนของนักศึกษาชั้นปี 3 ที่จะต้องทำโปรเจกต์ส่งก่อนขึ้นปี 4 โดยนักศึกษาจะรวมกลุ่มกัน 7 คน นำความรู้จากรายวิชาที่ได้เรียนทั้งหมดตั้งแต่ปี 1 ถึงปี 3 อย่างน้อย 3-4 วิชามาประยุกต์ใช้ร่วมกับรายวิชาภายใน Module 8-9

ไม่ว่าจะเป็น Artificial Intelligence for Robotics and Automation Engineering, Introduction to Robotics และ Computer aided Technologies นำมาใช้ในการออกแบบ การสร้างแผงวงจรไฟฟ้า ประยุกต์ร่วมกับการอ่านแบบและเขียนแบบทางวิศวกรรม การเขียนโปรแกรม การใช้อุปกรณ์เครื่องมือทางกลและทางอิเล็กทรอนิกส์ ระบบเซนเซอร์ มาร่วมกันสร้างผลงานภาคบังคับ ซึ่งโจทย์ในปีนี้ก็คือการสร้างแขนกลแบบอนุกรม หุ่นยนต์ที่สามารถเล่นหมากรุกสากลแข่งกับมนุษย์ได้

โดยกำหนดขอบเขตงานเบื้องต้น ให้หุ่นยนต์จะต้องเรียนรู้วิธีการเล่นหมากรุกของคน และต้องสอนวิธีการเล่นหมากรุกตามเป้าหมาย คือ ไม่จำเป็นต้องเล่นให้ชนะคน ให้หุ่นยนต์เล่นหมากรุกกับคนให้ได้ครบ 15 ตา และไม่แพ้ก่อน 15 ตา ก็ถือว่าสอบผ่านแล้ว ดังนั้น นักศึกษาจึงไม่จำเป็นต้องทำให้หุ่นยนต์เล่นเก่งมากนัก เพราะวัตถุประสงค์หลักคือต้องการเน้นให้นักศึกษาได้เรียนรู้วิธีการนำความรู้ต่าง ๆ ที่เรียนในหลาย ๆ วิชามาทำงานร่วมกัน มาสร้างผลงานตามโจทย์ที่กำหนดไว้

หุ่นยนต์แขนกลเล่นหมากรุกสากล นี้เตรียมนำไปจัดแสดงในงาน AI/ROBOTICS FOR ALL EXPO 2022 ที่จะมีขึ้นในวันที่ 17-18 กันยายน 2565 ณ ลานกิจกรรม ชั้น 1 เซ็นทรัลพลาซ่า แกรนด์ พระรามเก้า

อ้างอิง : https://www.bangkokbiznews.com/health/education/1024685

ชิป Snapdragon ตัวใหม่สำหรับ Andriod ระดับกลางที่มาพร้อม AI เริ่มขายสิ้นปี

หน่วยประมวลผลสำหรับมือถือรุ่นต่อไปของ Qualcomm จะช่วยนำความสามารถของมือถือเรือธงมาสู่มือถือระดับกลางได้มากขึ้น โดยผู้ผลิตชิปเจ้าใหญ่อย่าง Qualcomm ประกาศเปิดตัวชิปใหม่สองตัวซึ่งเป็นชิปประมวลผลระดับกลาง ได้แก่ Snapdragon 6 Gen 1 และ Snapdragon 4 Gen 1 ซึ่งทั้งสองชิปจะมาพร้อมกับฮาร์ดแวร์ที่รองรับ 5G และที่สำคัญระบบการเพิ่มประสิทธิภาพด้วย AI

Snapdragon 6 Gen 1 จะเป็นชิปที่มีพลังการประมวลผลดีกว่า Snapdragon 4 Gen 1 ด้วยความสามารถในการรองรับการถ่ายภาพที่สูงถึง 200 ล้านพิกเซลและการถ่ายวิดีโอแบบ HDR นอกจากนี้ยังมาพร้อมกับ Qualcomm® AI Engine เจนเนอเรชั่น 7 ที่ช่วยให้ประสิทธิภาพ AI ดีขึ้นถึง 3 เท่า เมื่อเทียบกับรุ่นก่อน และจะมี “AI ช่วยเหลือผู้ใช้” ที่จะสามารถช่วยแนะนำแอปพลิเคชันและการตั้งค่าตามกิจกรรมของผู้ใช้งานได้

และสำหรับ Snapdragon 4 Gen 1 จะเป็นชิปที่ผลิตมาเพื่อใช้งานทั่วไป เน้นไปที่แบตเตอรี่ที่สามารถใช้งานได้หลายวัน ความสามารถในการถ่ายภาพสูงถึง 108 ล้านพิกเซลและที่สำคัญจะรองรับฮาร์ดแวร์สำหรับ AI voice assistance ที่ใช้เทคโนโลยี Qualcomm AI Engine ทำให้ประสบการณ์บนอุปกรณ์ราบรื่นและใช้งานง่ายยิ่งขึ้น ผู้ใช้สามารถรับการช่วยเหลือได้ทันทีด้วย voice assistance ที่เปิดตลอดเวลาและสามารถสื่อสารได้อย่างชัดเจนด้วยระบบการขจัดเสียงสะท้อนและเสียงพื้นหลัง

ณ ตอนนี้ก็เป็นเวลาเกือบหนึ่งปีแล้วที่ Qualcomm เปิดตัวชิประดับกลางรุ่นล่าสุดที่ผ่านมา โดยมีการคาดการณ์ออกมาว่าชิป Snapdragon 4 Gen 1 คาดว่าจะออกมาในปลายปีนี้ ในขณะที่ Snapdragon 6 Gen 1 คาดว่าจะมาในต้นปี 2023

อ้างอิง : https://www.theverge.com/2022/9/6/23339715/new-snapdragon-chips-midrange-android-phones-ai-features-2023

สหรัฐจำกัดการขายชิป AI ให้กับจีน

รัฐบาลสหรัฐฯ ได้กำหนดข้อห้ามใหม่สำหรับการส่งออกสำหรับชิปคอมพิวเตอร์ระดับสูงที่ใช้ในการวิจัย AI โดยอ้างถึงความเป็นไปได้ในการใช้งานทางการทหารสำหรับเทคโนโลยีดังกล่าว ซึ่งผู้ผลิตชั้นนำสองรายคือ Nvidia และ AMD จะถูกห้ามไม่ให้ขายชิปบางตัวไปยังจีนและรัสเซีย

Nvidia ตั้งข้อสังเกตว่าการห้ามดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อยอดขายประมาณ 400 ล้านดอลลาร์ที่คาดการณ์ไว้ในประเทศจีนในช่วงไตรมาสที่สามของปี โดยทางบริษัทกล่าวว่าอาจขอใบอนุญาตจากรัฐบาลสหรัฐฯ เพื่อขายชิปเหล่านี้ให้กับลูกค้าบางราย แต่อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าไม่มีหลักประกันว่าสหรัฐฯ จะอนุญาตการยกเว้นใดๆเลย ทำให้หุ้นของ Nvidia ร่วงลงมากกว่า 6% ในหลังจากเปิดเผยข้อห้ามดังกล่าว

สหรัฐอเมริกาไม่ได้ให้รายละเอียดที่แน่นอนเกี่ยวกับเกณฑ์ที่ใช้ในการกำหนดเป้าหมายสำหรับชิปที่ถูกแบน แต่ชิป A100, H100 และ MI250 ซึ่งเป็นชิปที่ถูกแบนนั้นเป็นชิป AI ระดับบนสุดของตลาด โดยชิปนี้ถูกใช้ในการฝึกอบรมแอปพลิเคชัน machine learning ตั้งแต่การจดจำใบหน้าไปจนถึงการสร้างข้อความ

ในอดีต มีบุคคลสำคัญในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีของสหรัฐฯ ได้เตือนถึงความสามารถด้าน AI ที่เพิ่มขึ้นของจีน ซึ่งเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของชาติสหรัฐฯ แต่อย่างไรก็ตามก็มีผู้เชี่ยวชาญคนอื่น ๆ กล่าวว่าการแข่งขัน AI ระหว่างสหรัฐฯ และจีนไม่ถือเป็นการแข่งขันทางอาวุธ และการกล่าวหาดังกล่าวอาจสร้างความเสียหายต่อทั้งความสัมพันธ์ทางการทูตและการพัฒนาเทคโนโลยี machine learning อีกด้วย

หลังจากประกาศข้อห้ามใหม่นี้ของทางรัฐบาลสหรัฐฯ กระทรวงพาณิชย์ของจีนก็ได้ตอบสนองต่อการสกัดกั้นดังกล่าว โดยเขาได้กล่าวว่า ข้อจำกัดดังกล่าวจะ “ขัดขวางการแลกเปลี่ยนทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระหว่างประเทศ รวมไปถึงความร่วมมือทางเศรษฐกิจ และมีผลกระทบต่อเสถียรภาพของอุตสาหกรรมและห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกอีกด้วย”

อ้างอิง : https://www.theverge.com/2022/9/1/23332399/us-restricts-export-ai-training-chips-nvidia-amd-china

—————————————————————————————-

ทั้งหมดเป็นข่าวที่น่าสนใจใน 2 – 8 กันยายน 2565 พบกันใหม่ในสัปดาห์หน้านะคะ : )

หากมีข้อสงสัย ติชมสามารถ ติดตามและสอบถามได้ที่
 : AIไทยสามารถ โดย AI for all Thailand



เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึก