ข่าว AI รอบโลก – สัปดาห์ที่ 2 เดือนมีนาคม 2022

ดับอาการหัวร้อน ด้วย AI ขนาดจิ๋ว

หุ่นยนต์ OMOY หุ่นยนต์ไกล่เกลี่ยถูกพัฒนาขึ้นโดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยทสึคุบะ ภายในตัวของมันมีโลหะทังสเตนหนัก 250 กรัม ซึ่งจะคอยทำหน้าที่เคลื่อนที่ไปมาด้านในเพื่อถ่ายทอดน้ำหนักสู่มือของผู้ใช้งาน โดยมีรูปแบบการเคลื่อนที่เพื่อถ่ายทอดน้ำหนักมากถึง 36 รูปแบบ พร้อม ๆ กับอ่านข้อความจากผู้ส่งข้อความให้ผู้ใช้งานฟัง และช่วยแนะนำว่าผู้ใช้งานควรรู้สึกอย่างไรกับข้อความที่ได้รับ ผลการวิจัยพบว่า การเลื่อนน้ำหนักถ่ายทอดไปสู่มือของผู้ใช้งานร่วมกับคำพูดของหุ่นยนต์สามารถระงับความโกรธของผู้ใช้งานได้โดยเฉลี่ย 23% มีความโกรธเพียง 3.5% เท่านั้นที่ถูกระงับเมื่อไม่ได้มีการเปลี่ยนน้ำหนัก นอกจากนี้ ในกรณีที่หุ่นยนต์แสดงความเห็นอกเห็นใจผู้ใช้งานด้วยคำพูดร่วมกับการเปลี่ยนแปลงน้ำหนัก ความอยากแก้แค้นของผู้ใช้งานลดลง 22%

อ้างอิง : https://www.tnnthailand.com/news/tech/107815/

 

 “Chippy” AI ผู้ช่วยในครัว ผสานการทำอาหารเข้ากับปัญญาประดิษฐ์

บริษัทอาหารเม็กซิกัน Chipotle Mexican Grill ประกาศเปิดตัวนวัตกรรมดิจิทัลล่าสุดที่มีชื่อว่า “Chippy” ผู้ช่วยในครัวในการทำอาหาร ที่ผสมผสานระหว่างประเพณีการทำอาหารเข้ากับปัญญาประดิษฐ์ เพื่อผลิตแผ่นข้าวโพดกรอบ (Tortilla chip) นวัตกรรม Chippy นี้ ได้รับการฝึกฝนให้เลียนแบบสูตรที่แท้จริงของ Chipotle โดยใช้แป้งมาซ่า ข้าวโพด น้ำ และน้ำมันดอกทานตะวันในการปรุงอาหาร Tortilla chip ให้สมบูรณ์แบบ พร้อมทั้งปรุงรสด้วยเกลือป่น และปิดท้ายด้วยน้ำมะนาวสดเล็กน้อย ตามที่ลูกค้าต้องการได้ ในปัจจุบัน Chippy กำลังได้รับการทดสอบที่ Chipotle Cultivate Center ซึ่งเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมของ Chipotle ในเมืองเออร์ไวน์ รัฐแคลิฟอร์เนีย และจะรวมเข้ากับร้านอาหาร Chipotle ในแคลิฟอร์เนียตอนใต้ในปลายปีนี้ ซึ่งในปัจจุบันบริษัทกำลังทดสอบ และเรียนรู้จากคำติชมของทีมงานและแขกก่อนตัดสินใจเกี่ยวกับกลยุทธ์การนำไปปฏิบัติระดับประเทศ

อ้างอิง : https://www.prnewswire.com/news-releases/chipotle-tests-ai-kitchen-assistant-chippy-301503796.html

 

AI ทำนายคู่รักจะไปรอดหรือไม่ ?

ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับสังคมพลวัตและนโยบายสาธารณะที่ Bocconi’s Dondena Centre ได้ทำการใช้ machine learning ในการวิเคราะห์ข้อมูลของคู่สมรสจำนวน 2,038 คู่ โดยคู่รักเหล่านั้นจะถูกสังเกตุการเป็นเวลาเฉลี่ยที่ 12 ปีและระหว่างการทำการวิจัยนั้นมีจำนวนคู่รักที่แยกย้ายจากกันเป็นจำนวน 914 คู่ (45%) พบว่าความพึ่งพอใจในชีวิตของทั้งคู่กับอัตราการทำงานบ้านของผู้หญิงเป็นปัจจัยที่สำคัญที่ทำให้ความสัมพันธ์ทั่งคู่แย่ลง นอกจากนั้นงานวิจัยยังพบว่าตัวแปรต่าง ๆ ในงานวิจัยมีความสัมพันธ์ต่อกันแบบซับซ้อนอย่างเช่น เมื่อความพึ่งพอใจต่อชีวิตของผู้ชายอยู่ในระดับสูงนั้นจะสอดคล้องต่อความพึ่งพอใจของผู้หญิงและโอกาสในการอยู่รอดของชีวิตคู่นั้นเพิ่มมากขึ้น

อ้างอิง : https://techxplore.com/news/2022-03-machine-youll-partner.html

 

AI มาเยือนประวัติศาตร์ ช่วยทำนายข้อความจารึกโบราณที่ขาดหาย

Ithaca AI จาก DeepMind ถูกพัฒนาขึ้นโดยได้รับความร่วมมือจากนักโบราณคดีและนักวิทยาศาสตร์จากประเทศกรีซ เพื่อช่วยแก้ปัญหาจารึกโบราณที่ขาดหายให้สามารถนำกลับมาตีความใหม่ได้อีกครั้ง จากการทดสอบเบื้องต้นพบว่าให้ความแม่นยำในการฟื้นฟูข้อความที่ขาดหายได้ 62% ในขณะที่สามารถทำนายแหล่งที่มาของจารึกได้แม่นยำ 71% และสามารถการทำนายช่วงเวลาที่จารึกถูกสร้างขึ้นได้ใกล้เคียงกับความเป็นจริง โดยมีความคลาดเคลื่อนห่างกันน้อยกว่า 30 ปี ซึ่งภายหลังจากที่นักโบราณคดีนำ Ithaca เข้ามาช่วยในงานถอดความจารึกโบราณแล้ว จะได้ความแม่นยำในการถอดความจารึกมากถึง 72% ในขณะที่หากนักโบราณคดีถอดความกันเองจะได้ความแม่นยำเพียง 25% เท่านั้น นี่จึงแสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่มีบทบาทต่อประวัติศาสตร์ของมนุษย์ นอกเหนือจากการทำนายข้อความในจารึกกรีกโบราณแล้ว DeepMind ยังได้พัฒนาให้ Ithaca สามารถถอดความจารึกในภาษาอื่น ๆ เช่น ฮิบูร, เดโมติก และมายา เป็นต้น รวมถึงยังเปิดให้นักวิทยาศาสตร์ที่สนใจสามารถนำซอร์สโค้ดไปพัฒนาต่อได้อีกด้วย

อ้างอิง : https://newatlas.com/computers/googles-deepmind-ai-gaps-ancient-texts/

 

ประเทศเวลส์ ก่อตั้งโครงการ พัฒนาแขนกลช่วยแพทย์ผ่าตัดมะเร็ง

โรงพยาบาล Ysbyty Gwynedd ณ ประเทศเวลส์ ได้ก่อตั้งโครงการ all-Wales robotic assisted surgery network อันเป็นระบบการทำงานที่ให้แพทย์ทำงานร่วมกับแขนกลในการผ่าตัด โดยระบบนี้จะมีกล้องที่ติดอยู่กับแขนกล ช่วยให้แพทย์สามารถซูมเข้าเพื่อขยายพื้นที่ในการมองเห็นระหว่างผ่าตัดได้ ผ่านการควบคุมการทำงานของแขนกลผ่านคอมพิวเตอร์ ซึ่งมันจะทำให้บาดแผลผ่าตัดมีขนาดเล็ก สามารถหลีกเลี่ยงเส้นประสาทได้ ผู้ทำให้ผู้ป่วยมีการเสียเลือดน้อย ส่งผลให้คนไข้ใช้เวลาฟื้นตัวหลังผ่าตัดน้อยลงและลดอัตราการเกิดผลข้างเคียงจากการผ่าตัดได้มากขึ้น รัฐบาลเวลส์ได้ให้คำมั่นสัญญาว่าจะให้เงิน 4.2 ล้านปอนด์เพื่อพัฒนาการผ่าตัดโดยใช้แขนกลช่วยในเวลส์ตลอดระยะเวลา 5 ปี นอกจากนี้คณะกรรมการสุขภาพยังให้เงินมากกว่า 13 ล้านปอนด์ในระยะเวลา 10 ปีสำหรับโครงการนี้ เพื่อขยายรูปแบบการทำงานร่วมกันของแพทย์และแขนกลไปทั่วเวลส์ หวังตอบโจทย์ความต้องการของผู้ป่วยพร้อม ๆ ไปกับการอำนวยความสะดวกในการทำงานให้กับแพทย์

อ้างอิง : https://www.tnnthailand.com/news/tech/108088/

 

NHS เปิดตัวเครื่องมือ AI ที่ช่วยตรวจจับโรคหัวใจได้ใน 20 วินาที

National Health Service (NHS) ได้เปิดตัวเครื่องมือปัญญาประดิษฐ์ตัวใหม่ที่สามารถตรวจจับโรคหัวใจได้ในเวลาเพียง 20 วินาทีในขณะที่ผู้ป่วยอยู่ในเครื่องสแกน MRI จากผลการศึกษาที่ได้รับทุนสนับสนุนจาก British Heart Foundation (BHF) ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Cardiovascular Magnetic Resonance ได้ระบุว่า การวิเคราะห์ด้วยเครื่องมือนี้ มีความแม่นยำที่เหนือกว่าแพทย์สามคนรวมกัน ซึ่งโดยปกติแล้ว แพทย์จะใช้เวลา 13 นาทีขึ้นไปในการวิเคราะห์ภาพหลังจากทำการสแกนด้วย MRI แต่ AI นี้สามารถอ่านการสแกนหัวใจที่ซับซ้อนด้วยความเร็วมากกว่านั้นได้ และยังสามารถวิเคราะห์โครงสร้างและการทำงานของหัวใจของผู้ป่วยด้วยความแม่นยำมากกว่าที่เคยเป็นมา ในปัจจุบันเทคโนโลยีนี้ได้นำมาใช้กับผู้ป่วยมากกว่า 140 รายต่อสัปดาห์ที่โรงพยาบาล University College London (UCL), Barts Heart Center ที่ โรงพยาบาล Bartholomew และโรงพยาบาล Royal Free แล้ว และปลายปีนี้จะเปิดตัวอีก 40 แห่งทั่วสหราชอาณาจักรและทั่วโลก
อ้างอิง : https://www.healthcareitnews.com/news/emea/nhs-rolls-out-ai-tool-which-detects-heart-disease-20-seconds

 

AI ช่วยระบุมะเร็งต่อมไทรอยด์ จากภาพอัลตราซาวนด์

จากการศึกษาที่นำเสนอในการประชุมวิชาการมะเร็งศีรษะและคอแบบสหสาขาวิชาชีพปี พ.ศ. 2565 นักวิจัย จากโรงพยาบาล Massachusetts General ได้นำเสนอแพลตฟอร์มอัลตราซาวนด์ AI ที่ใช้ deep learning (DL) และศาสตร์อื่น ๆ เพื่อทำนายความรุนแรงและผลลัพธ์ทางพยาธิวิทยาในผู้ป่วยมะเร็งต่อมไทรอยด์ นักวิจัยพบว่า ความแม่นยำของแพลตฟอร์ม multimodal AI มีค่ามากถึง 98.7% ซึ่งดีกว่าโมเดลที่เป็นแบบ individual โมเดลเป็นอย่างมาก ทั้งนี้เมื่อลองนำ multimodal ไปทดสอบกับ external validation dataset ก็พบว่ามีความแม่นยำถึง 91.4% ซึ่งวิธีการที่มีค่าใช้จ่ายน้อยนี้จะช่วยให้สามารถวางแผนการรักษาเฉพาะบุคคลได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่มีทรัพยากรจำกัด

อ้างอิง : https://consumer.healthday.com/ai-model-can-screen-stage-thyroid-cancer-from-ultrasound-2656800981.html

 

แว่นตา AI สำหรับคนตาบอด

ปัจจุบันเรามีเทคโนโลยีมากมายที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้พิการทางสายตา ล่าสุด ณ งานประชุมด้านเทคโนโลยี CSUN Assistive Technology Conference ได้มีการเปิดตัวแว่นตา Envision Glasses ที่สามารถบอกให้ผู้พิการทางสายตาทราบว่าสิ่งของที่อยู่ตรงหน้านั้นคืออะไร โดยตัวแว่นจะไม่มีเลนส์ตาทั้ง 2 ข้าง แต่แทนที่ด้วยกล้องคุณภาพสูงความละเอียด 8 ล้านพิกเซลที่ติดตั้งอยู่บริเวณขาแว่นฝั่งขวา ซึ่งกล้องหน้านี้จะทำหน้าที่เสมือนดวงตาให้แก่ผู้พิการทางสายตานั่นเอง ซึ่งฟีเจอร์หลักที่ Envision Glasses ต้องการนำเสนอ คือ การระบุสิ่งของที่อยู่เบื้องหน้าของผู้สวมใส่ เพียงแค่เลือกโหมดด้วยการแตะและปัดนิ้วที่บริเวณขาแว่นฝั่งขวา เมื่อเข้าสู่โหมดระบุสิ่งของแล้วให้ผู้ใช้แตะที่ขาแว่นอีก 2 ครั้ง จากนั้นกล้องจะทำการบันทึกภาพเบื้องหน้า เพื่อส่งให้ AI วิเคราะห์ก่อนที่ AI จะบรรยายให้ผู้สวมใส่ทราบว่าสิ่งของตรงหน้านั้นคืออะไร

อ้างอิง : https://newatlas.com/wearables/envision-glasses-blind-users/

 

AI ตรวจสภาพรถแบบเรียลไทม์จากประกันภัยไทยภิวัฒน์

ประกันภัยไทยวิวัฒน์ เปิดตัว “MARS” สตาร์ทอัพเทคโนโลยีขั้นสูง พร้อมกับแอปพลิเคชัน “มาตรวจ” ที่ได้นำระบบ AI เข้ามาใช้ตรวจสภาพรถยนต์แบบเรียลไทม์เพื่อตอบโจทย์การใช้งานในยุคปัจจุบัน ทางบริษัทได้มีการนำ AI ที่ถูกต้องและแม่นยำช่วยลดปัญหา Human Error ได้โดยใช้ Convolutional Neural Network (CNN) โมเดลวิเคราะห์ภาพมาใช้สำหรับตรวจสอบรถและใช้ฐานข้อมูลจริงที่ประกอบไปด้วยจำนวนภาพชิ้นส่วนของรถมากกว่า 100 ชิ้นส่วน และภาพตรวจสภาพรถกว่า 100,000 ภาพ ที่ได้มาจากเคสการพิจารณาการเคลมประกันรถจริงจากประกันภัยไทยวิวัฒน์ จึงส่งผลให้การระบุชิ้นส่วน และสภาพรถมีความถูกต้องและแม่นยำสูงกว่า 90% นอกจากนี้ยังช่วยให้การทำประกันภัยรวดเร็วขึ้นถึง 10 เท่าและยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการต้นทุนอีกด้วย ทาง MARS ได้พัฒนาโซลูชัน AI นี้ด้วยบริการจากบริษัทคลาวด์โซลูชันชื่อดังอย่าง Amazon Web Services (Thailand) หรือ AWS โดย MARS ได้ใช้บริการ Amazon SageMaker ที่เป็นบริการที่ช่วยสามารถสร้าง เทรน และนำโมเดล AI มาใช้งานได้อย่างสะดวกภายใต้เวลาอันรวดเร็ว

อ้างอิง : https://www.thaipost.net/public-relations-news/105282/

 

ยูเครนเริ่มใช้ AI จดจำใบหน้าในสงคราม

กระทรวงกลาโหมของยูเครนในประกาศว่าขณะนี้ประเทศได้ทำการใช้ระบบจดจำใบหน้าของบริษัท Clearview มาใช้ในสงคราม ประเทศยูเครนได้รับการช่วยเหลือจากบริษัท Clearview โดยทางบริษัทนั้นได้ทำการอนุญาติให้ยูเครนใช้ระบบตรวจสอบใบหน้า (Face recognition) ได้ฟรี โดยเจ้าของบริษัทได้บอกว่าบริษัทของเขานั้นมีข้อมูลรูปภาพมากกว่าสองพันล้านรูปจากโซเชียลมีเดียอย่าง VK ซึ่งข้อมูลเหล่านั้นจะมาช่วยให้ยูเครนสามารถระบุตัวตนของผู้เสียชีวิจได้ง่ายขึ้นถึงแม้ว่าใบหน้าของเขาจะได้รับความเสียหาย เทคโนโลยีของ Clearview นั้นสามารถช่วยเหลือผู้อพยพที่อาจจะผลัดจากครอบครัวให้มาเจอกันได้ รวมไปถึงการใช้ในการระบุตัวตนของสายลับฝ่ายตรงข้ามที่อาจจะแผงตัวเข้ามาและการตอบโต้การให้ข้อมูลเกี่ยวกับสงครามที่ผิดพลาดในโซเชียลมีเดีย เทคโนโลยีนี้จะถูกนำมาใช้ในอีกไม่กี่วันข้างหน้าถึงแม้ว่ารัฐบาลยูเครนั้นยังไม่ได้แสดงให้เห็นถึงเป้าหมายจริง ๆ ในการนำเทคโนโลยีนี้มาใช้

อ้างอิง : https://www.reuters.com/technology/exclusive-ukraine-has-started-using-clearview-ais-facial-recognition-during-war-2022-03-13/

 

ตรวจจับโดรนจากเสียงด้วยการเลียนแบบแมลงวัน

นักวิจัยชาวออสเตรเลียได้ทำการศึกษาระบบการรับรู้ของแมลงวันดอกไม้เพื่อช่วยให้สามารถตรวจจับเสียงของโดรนได้ไกลถึง 4 กิโลเมตร โดย Anthony Finn ศาสตราจารย์ที่ University of South Australia ได้บอกว่า ระบบการมองเห็นของแมลงนั้นได้ถูกนำมาศึกษาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจจับภาพเป็นเวลานานแล้ว แต่นี้เป็นครั้งแรกที่มันถูกนำมาใช้กับข้อมูลรูปแบบเสียง ประสิทธิการรับรู้ของแมลงวันดอกไม้และสกิลในการติดตามของมันนั้นถูกนำมาสร้างโมเดลในการตรวจจับโดรนในสภาพแวดล้อมที่มีซับซ้อนและเต็มไปด้วยสิ่งกีดขวางมากมายโดยระบบนี้นั้นถูกสร้างเพื่อนำมาใช้ได้ทั้งสำหรับประชาชนทั่วไปและการดำเนินการทางทหาร โดยเขายังได้กล่าวอีกว่าผลกระทบของอากาศยานไร้คนขับ (UAVs) ในสงครามสมัยใหม่นั้นกำลังแสดงออกมาอย่างเห็นได้ชัดในสงครามในยูเครน ดังนั้นการใช้เทคโนโลยีของโดรนเพื่อพัฒนาความปลอดภัยในท้องฟ้านั้นกำลังเป็นสิ่งที่ถูกสนใจเป็นอย่างมาก นอกจากนี้เขายังมีแผนที่จะขยายขอบเขตการตรวจจับโดรนให้ได้มากกว่านี้อีกในอนาคต

อ้างอิง : https://www.sciencedaily.com/releases/2022/03/220315094954.htm

 

”โดรนและ AI” ช่วยค้นพบอุกกาบาตที่พึ่งตกลงมาบนพื้นโลก

ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Curtin พบอุกกาบาตที่ตกลงมาในทะเลทรายออสเตรเลียตะวันตก โดยใช้ภาพโดรนและปัญญาประดิษฐ์ นักวิจัยกล่าวว่า ด้วยวิธีการใหม่นี้ จะสามารถช่วยให้นักวิทยาศาสตร์ค้นหาอุกกาบาตที่ตกลงมาได้มากและรวดเร็วขึ้น จากการใช้แรงงานในการค้นหา 350 วัน เป็นใช้เวลา 12 วันแทน ซึ่งข้อมูลจากอุกกาบาต จะทำให้เรารู้ข้อมูลเกี่ยวกับธรณีวิทยาของระบบสุริยะ และช่วยให้เข้าใจเกี่ยวกับการกระจายของวัสดุนอกโลกทั่วทั้งระบบสุริยะได้มากขึ้น ซึ่งในวันหนึ่งเราอาจทำเหมืองดาวเคราะห์น้อยเพื่อหาทรัพยากรอันมีค่า แทนที่จะสำรวจหาปริมาณแร่ธาตุที่จำกัดบนโลกหรือทำลายระบบนิเวศบนโลกแทน

อ้างอิง : https://www.abc.net.au/news/2022-03-16/freshly-fallen-meteorite-found-on-the-nullarbor/100911890

 

You.com เปิดตัวเครื่องมือช่วยเขียน ที่ขับเคลื่อนด้วย AI จาก OpenAI

เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา Bryan McCann และ Richard Socher อดีตหัวหน้านักวิทยาศาสตร์ที่ Salesforce ได้เปิดตัว You.com ซึ่งเป็นsearch engine ที่ใช้ประโยชน์จาก AI เพื่อทำความเข้าใจคำค้นหา จัดอันดับผลลัพธ์ และแยกคำค้นหาเป็นภาษาต่างๆ (รวมถึงภาษาโปรแกรม ) ได้ โดยแพลตฟอร์มนี้ สามารถสรุปข้อมูลจากเว็บและแอพต่างๆ มาช่วยคุณเขียนเนื้อหาที่คุฯต้องการได้ เปรียบเสมือน “personal AI writer.” เครื่องมือใหม่ของ You.com นี้ขับเคลื่อนโดยเทคโนโลยีเดียวกันกับ GPT-3 ของ OpenAI ซึ่งเป็นระบบภาษา AI ที่สามารถสร้างบทกวีที่เหมือนมนุษย์ อีเมล สูตรอาหาร เรื่องสั้น สคริปต์ภาพยนตร์ และอื่นๆ ได้ ในการใช้ตัวช่วยเขียนของ You.com ที่เรียกว่า “YouWrite” นี้ ผู้ใช้จะพิมพ์ข้อความค้นหาเช่น “วิธีเขียนเรียงความ” ลงในแถบค้นหาของเครื่องมือค้นหาแล้วคลิกไอคอนรูปแว่นขยาย จากนั้นวิดเจ็ตจะปรากฏขึ้นพร้อมตัวเลือกที่ให้ผู้ใช้สามารถระบุความยาว (เช่น ย่อหน้า) ผู้ฟังหรือผู้รับ (เช่น นักเรียน ครู หรือนักการตลาด) น้ำเสียง (เช่น การโน้มน้าวใจ) และเนื้อหาของข้อความ (เช่น “สามย่อหน้าเกี่ยวกับสงครามกลางเมือง”) ที่พวกเขาต้องการให้ YouWrite สร้าง จากนั้นระบบจะสามารถช่วยเขียนเนื้อหาตามที่ผู้ใช้ระบุได้

อ้างอิง : https://venturebeat.com/2022/03/15/you-com-partners-with-openai-to-launch-an-ai-powered-writing-tool/

—————————————————————————————-

ทั้งหมดเป็นข่าวที่น่าสนใจใน 10 – 17 มีนาคม 2565 พบกันใหม่ในสัปดาห์หน้านะคะ : )

หากมีข้อสงสัย ติชมสามารถ ติดตามและสอบถามได้ที่
 : AIไทยสามารถ โดย AI for all Thailand



เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึก