ข่าว AI รอบโลก – สัปดาห์ที่ 3 เดือนมีนาคม 2022

‘GGWP’ AI ตรวจจับผู้เล่น toxic ในเกมส์

เมื่อพูดถึงเกมออนไลน์ เราทุกคนรู้ดีว่าการกดปุ่ม “รายงาน” ผู้เล่นที่มีพฤติกรรม toxic ในสังคมเกม มักจะไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาเท่าไร เพราะระบบเกมไม่ได้มีการจัดการอย่างจริงจังนัก ทำให้เกมเจ้าใหญ่ๆ ที่มีผู้เล่นมากมาย ต่างก็อยู่ในสถานะที่สังคมเกมมีความ toxic บ่อยๆ ส่งผลชื่อเสียงของเกมได้รับความเสียหายตามไปด้วย
Fong, Kun Gao ผู้ก่อตั้ง Crunchyroll และ Dr. George Ng ผู้เชี่ยวชาญด้านข้อมูลและ AI จึงได้พัฒนา GGWP ระบบที่ขับเคลื่อนด้วย AI ที่สามารถรวบรวมและจัดระเบียบข้อมูลพฤติกรรมของผู้เล่นในเกมใดๆ ก็ตามได้ โดยจะช่วยให้นักพัฒนาสามารถจัดการกับทุกรายงานที่เข้ามาด้วยการใช้การตอบกลับอัตโนมัติและการรีวิวจากบุคคลจริงได้ และจะรวบรวมข้อมูลผู้เล่นเพื่อสร้างคะแนนสุขภาพของชุมชนและแบ่งประเภทของความเป็นพิษที่พบได้ทั่วไปในเกมนั้นๆ และระบบยังสามารถกำหนดคะแนนชื่อเสียงให้กับผู้เล่นแต่ละคน โดยอิงจากการวิเคราะห์รายงานการแข่งขันที่รายงานโดย AI ผสานกับวัฒนธรรมของแต่ละเกม ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาความ toxic ที่เกิดขึ้นในเกมส์ให้น้อยลงได้

อ้างอิง : https://www.engadget.com/toxic-abuse-games-ggwp-aaa-chat-thresh-222747956.html

 

โดรนเพชฌฆาตของรัสเซียที่ไม่ควรมองข้ามเป็นอย่างยิ่ง

สถานการณ์การทำสงครามระหว่างประเทศรัสเซีย-ยูเครนในเวลานี้ทั้งสองประเทศต่างเริ่มมีการใช้เทคโนโลยีอาวุธขั้นสูงเข้าปฏิบัติการโจมตีทางทหาร รวมไปถึงการนำเทคโนโลยีโดรนบินรูปแบบต่าง ๆ เข้ามาปฏิบัติการโจมตี
สำหรับโดรนบินของรัสเซียที่ชื่อ KUB-BLA นั้น แม้จะไม่มีข้อมูลยืนยันจากรัสเซียว่าเริ่มใช้โดรนบินรุ่นดังกล่าว แต่กองทัพยูเครนที่อ้างว่าพบโดรนบิน KUB-BLA ตกในเมืองสำคัญของยูเครนเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญสนับสนุนรายงานที่ว่ารัสเซียได้มีการนำโดรนชนิดนี้เข้ามายังประเทศยูเครน
โดรนมีลักษณะเป็นโดรนบินพลีชีพถูกพัฒนาขึ้นโดยบริษัท ZALA Aero ตัวโดรนติดตั้งระบบ AI ขั้นสูงที่สามารถตัดสินใจได้เองว่า เป้าหมายไหนคือเป้าหมายที่เหมาะกับการโจมตีมากที่สุด
การทำสงครามยุคปัจจุบันอาจไม่ใช่เป็นการทำสงครามระหว่างมนุษย์กับมนุษย์อีกต่อไปแต่มีความเป็นไปได้ว่าจะเป็นการทำสงครามที่มีการใช้โดรนบินและอาวุธโจมตีอัตโนมัติมากขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะทุกฝ่ายต่างให้ความสำคัญกับการลดการสูญเสียชีวิตของพลทหาร

อ้างอิง : https://www.tnnthailand.com/news/tech/108526/

 

AI ช่วยคัดกรองคนยากจน ที่ควรได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลโตโก

งานวิจัยนี้ ได้ถูกเผยแพร่ใน วารสาร Nature เมื่อวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา โดยทีมผู้วิจัยได้ใช้อัลกอริธึมการเรียนรู้ของเครื่อง (Machine Learning ) และข้อมูลโทรศัพท์มือถือ เพื่อระบุว่าผู้ใดที่ต้องการความช่วยเหลือทางการเงินมากที่สุดในช่วงวิกฤตได้ โดยใช้แนวคิดที่ว่า คนร่ำรวยจะใช้โทรศัพท์แตกต่างจากคนจน การโทรและการส่งข้อความของพวกเขามีรูปแบบที่แตกต่างกัน และพวกเขาใช้แผนข้อมูลที่แตกต่างกัน ซึ่งรูปแบบพวกนี้สามารถนำ Machine learning มาฝึกให้เข้าใจความแตกต่างเหล่านั้นและทำนายได้ว่าคนที่ใช้มือถือรายนั้นมีฐานะร่ำรวยหรือยากจน
ทีมผู้จัยร่วมกับพันธมิตรในโตโก ได้ทำการสำรวจทางโทรศัพท์ 15,000 ครั้ง เพื่อรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับสภาพความเป็นอยู่ของแต่ละครัวเรือน ที่เป็นข้อมูลล่าสุดและน่าเชื่อถือ จากนั้นก็นำคำตอบจากแบบสอบถามดังกล่าวมาใช้ควบคู่กับข้อมูลจากบริษัทโทรศัพท์มือถือ และใช้ Machine learning เรียนรู้ให้รู้จักรูปแบบการใช้โทรศัพท์ที่เป็นลักษณะของผู้คนที่มีเงินน้อยกว่า 1.25 ดอลลาร์ต่อวัน เพื่อที่จะมอบความช่วยเหลือทางการเงินให้กับกลุ่มเป้าหมายนี้ได้ ซึ่งผลการทดลองพบว่าวิธีการที่ใช้แบ่งที่คล้ายกับสหรัฐอเมริกา สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายนี้ได้เพียง 33% ในขณะที่วิธีการ Machine Learning นี้สามารถระบุกลุ่มเป้าหมายได้มากถึง 47% ของกลุ่มประชากร

อ้างอิง : https://techxplore.com/news/2022-03-ai-cash-aid-poorest-people.html

 

AI จัดตารางรถโดยสารสาธารณะ ลดความเสียหายจากการ Delay

การจราจรติดขัดช่วงสั้นๆ ประตูติดขัด หรือผู้โดยสารจำนวนมากขึ้นและลงที่ป้ายจอด ความล่าช้าเล็กน้อยที่เกิดขึ้นในตารางเวลาของรถไฟและรถประจำทาง ก็อาจทำให้เกิดปัญหาใหญ่ได้มากกว่าที่คิด
ด้วยเหตุนี้ นักวิจัยจาก Martin Luther University Halle-Wittenberg (MLU),Fraunhofer Institute for Industrial Mathematics ITWM และ University of Kaiserslautern จึงได้พัฒนา AI ที่สามารถช่วยออกแบบตารางเวลาที่สามารถยืดหยุุ่นต่อการหยุดชะงักเล็กน้อยเหล่านั้นได้ ซึ่งปัจจุบัน ในการทดสอบว่าตารางเวลาสามารถชดเชยการหยุดชะงักและความล่าช้าเล็กน้อยที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ได้ดีเพียงใด หรือที่ในทางเทคนิคเรียกว่าความทนทาน การเพิ่มประสิทธิภาพตารางเวลาดังกล่าวจำเป็นต้องมีการจำลองด้วยคอมพิวเตอร์ที่ซับซ้อน จะคำนวณเส้นทางของผู้โดยสารจำนวนมากภายใต้สถานการณ์ต่างๆ การจำลองเพียงครั้งเดียวอาจใช้เวลาประมวลผลหลายนาที แต่วิธีการที่ใช้ AI นี้ จะช่วยให้ประเมินความทนทานของตารางเวลาได้อย่างแม่นยำมากภายในมิลลิวินาที

อ้างอิง : https://techxplore.com/news/2022-03-ai-resilience-timetables.html

 

“Aibee” ยูนิคอร์นสตาร์ทอัพด้าน AI ตัวใหม่

Aibee สตาร์ทอัพด้าน AI สัญชาติจีนได้กลายเป็นยูนิคอร์นตัวใหม่หลังจากที่ได้รับเงินลงทุนจากบริษัทสมาร์ทโฟนชื่อดังอย่าง Xiaomi Corp ทำให้บริษัทตอนนี้มีมูลค่ามากกว่าพันล้านดอลล่าร์สหรัฐ โดยบริษัท Aibee นั้นเป็นผู้พัฒนาเทคโนโลยีด้าน AI มากมายเช่น speech recognition, computer vision, natural language process และ big data analysis เพื่อตอบโจทย์ในการพัฒนาและสร้างเสริมการใช้เทคโนโลยี AI มาช่วยแก้ไขปัญหาในอุตสาหกรรมต่าง ๆ การลงทุนในบริษัทด้าน AI ครั้งนี้ของ Xiaomi เป็นการเพิ่มความสามารถให้กับบริษัทในด้าน electric vechicles และ Internet of Things หลังจากที่บริษัทได้ลงทุนในบริษัท Black Seasme สตาร์ทอัพด้านชิพ AI ไปเมื่อปีที่แล้ว

อ้างอิง : https://www.bloomberg.com/news/articles/2022-03-18/ai-startup-aibee-becomes-unicorn-with-fresh-funds-from-xiaomi

 

ด้านมืดของ AI ที่อาจเป็นภัยต่อมวลมนุษย์หากถูกนำไปใช้ในทางที่ผิด

การศึกษาล่าสุดจากทีมนักวิจัยของบริษัท Collaborations Pharmaceuticals เผยว่า AI ชื่อว่า MegaSyn ซึ่งใช้ในการค้นหายารักษาโรค สามารถใช้ในการค้นหาโมเลกุลที่มีพิษได้เช่นเดียวกัน จากการประเมินพบว่า AI นี้สามารถค้นหาสารพิษได้มากถึง 40,000 ชนิด ภายในเวลาเพียง 6 ชั่วโมงเท่านั้น !!
ทีมนักวิจัยยังกล่าวอีกว่า ด้วยอัตราเร็วในการค้นหาสารพิษได้มากถึง 40,000 ชนิด ภายในเวลาเพียง 6 ชั่วโมง ถือว่าเป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจและน่ากลัวยิ่งนัก หากข้อมูลของโมเลกุลเหล่านี้ถูกนำไปใช้ในทางที่ผิด ผู้ก่อการร้ายอาจจะสามารถอาวุธเคมีที่มีความรุนแรงยิ่งกว่าสาร VX อาวุธเคมีที่คิดค้นโดยมนุษย์ สามารถออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทและจัดว่ามีความเป็นพิษสูงที่สุดในปัจจุบัน
** เหตุผลที่ทีมนักวิจัยได้ทำการทดลองนี้ขึ้นมา เพราะต้องการแสดงให้เห็นว่าเทคโนโลยี AI อาจถูกไปใช้ในทางที่ผิดได้ ไม่ว่าจะเป็นทางตรง หรือทางอ้อม

อ้างอิง : https://www.tnnthailand.com/news/tech/108588/

 

Deepfake! วิดีปลอมของประธานาธิบดียูเครน ถูกลบออกจาก Facebook และ YouTube

มีการรายงานจาก Facebook และ YouTube ว่ามีการเผยแพร่วิดีโอปลอมที่ถูกสร้างขึ้นมาโดยเทคโนโลยี Deepfake โดนวิดีโอดังกล่าวเป็นวิดีโอที่ประธานาธิบดี Zelensky ได้ทำการยืนแถลงข่าวที่โพเดียมของที่ทำการของประธานาธิบดีและได้บอกให้ชาวเครนนั้นทำวางอาวุธหยุดต่อสู้กับประเทศฝั่งตรงข้าม
ทาง Nathaniel Gleicher หัวหน้าแผนกนโยบายความปลอดภัยของบริษัท Meta (เจ้าของ Facebook) ได้กล่าวว่าทางบริษัทได้พบเจอและทำการลบวิดีโอดังกล่าวที่ทำผิดกฎนโยบายของเขาในเรื่องการใช้สื่อที่พยายามก่อให้เกิดความเข้าใจผิด นอกจากนั้นบริษัทยังได้ทำการแจ้งเตือนแพลต์ฟอร์มอื่น ๆ อีกด้วย
Deepfake เป็นคำที่ผสมระหว่าง “deep learning” และ “fake” ซึ่งหมายถึงวิดีโอหรือเสียงที่ของปลอมที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้เห็นว่าบุคคลในวิดีโอนั้นกระทำบางอย่างหรือพูดบางอย่างโดยใช้เทคโนโลยี AI ที่ล้ำสมัยและเข้าถึงง่าย โดยผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับ AI หลายคนนั้นกำลังเป็นห่วงถึงความสามารถของมันในการถูกใช้เพื่อกระจายข่าวสารเท็จเนื่องจากเทคโนโลยีนี้ได้ถูกพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ อย่างรวดเร็ว

อ้างอิง : https://edition.cnn.com/2022/03/16/tech/deepfake-zelensky-facebook-meta/index.html

 

ระบบ AI ช่วยตรวจจับระดับและความรุนแรงของการปฏิเสธการปลูกถ่ายหัวใจ

นักวิจัยจาก Brigham and Women’s Hospital ได้สร้างระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่เรียกว่า Cardiac Rejection Assessment Neural Estimator (CRANE) ที่สามารถช่วยตรวจจับการปฏิเสธและประเมินความรุนแรงของร่างกายที่มีต่อการปลูกถ่ายหัวใจได้
ซึ่ง CRANE ได้รับการออกแบบมาเพื่อใช้ควบคู่กับการประเมินของผู้เชี่ยวชาญ เพื่อสร้างการวินิจฉัยที่แม่นยำได้รวดเร็วยิ่งขึ้น และยังสามารถใช้ในสภาพแวดล้อมที่อาจมีผู้เชี่ยวชาญทางพยาธิวิทยาเพียงไม่กี่คนเท่านั้น โดยทีมงานได้ฝึกอบรม CRANE เพื่อใช้สำหรับการตรวจจับและจัดลำดับการปฏิเสธการปลูกถ่าย โดยใช้ภาพทางพยาธิวิทยาหลายพันรายการจากการตรวจชิ้นเนื้อหัวใจมากกว่า 1,300 ชิ้นจาก Brigham มาเรียนรูู้ ซึ่ง CRANE ทำงานได้ดีในการตรวจจับและประเมินการปฏิเสธ โดยให้ผลลัพธ์เทียบเท่ากับการประเมินแบบปกติ และเมื่อผู้เชี่ยวชาญใช้เครื่องมือนี้ จะช่วยลดความขัดแย้งระหว่างผู้เชี่ยวชาญและลดเวลาในการประเมินได้อีกด้วย
ในการศึกษานำร่อง ทีมวิจัยได้ประเมินประสิทธิภาพของ CRANE กับตัวอย่างผู้ป่วยที่มาจากสามประเทศ พบว่าสามารถช่วยผู้เชี่ยวชาญด้านหัวใจวินิจฉัยการปฏิเสธได้แม่นยำยิ่งขึ้น และลดเวลาที่จำเป็นสำหรับการตรวจได้

อ้างอิง : https://www.news-medical.net/news/20220321/AI-system-can-help-detect-the-degree-and-severity-of-heart-transplant-rejection.aspx

 

มาตราการไฟฟ้าด้วย AI ลดความผันผวนเรื่องราคา

การตอบสนองความต้องการใช้ไฟฟ้า หรือ Demand Response คือการเปลี่ยนแปลงการใช้ไฟฟ้าโดยภาคอุปสงค์ไปจากการใช้ไฟฟ้าปกติเพื่อตอบสนองต่อราคาไฟฟ้าที่เปลี่ยนไปจากต้นทุนการผลิตขณะนั้น โดยหลังจากเกิดเหตุการพายุฤดูหนาว Uri ที่เทกซัสเมื่อปีที่แล้วมาตราการการตอบสนองความต้องการใช้ไฟฟ้านั้นถูกพูดถึงเป็นอย่างมากเนื่องจากมันช่วยในการเสริมสร้างความเสถียรของกริดไฟฟ้าและยังช่วยลดความผันผวนของราคาเป็นอย่างมาก ศาสตราจารย์ Le Xie ประจำภาควิชา Electrical and Computer Engineering ที่มหาวิทยาลัย Texas A&M ได้กล่าวว่าทีมของเขาได้ค้นพบว่าการศึกษาโดยมุ่งความสนใจไปที่สถานที่บางแห่งนอกเมืองที่มีประชาชนอาศัยอยู่หนาแน่นั้นสามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพด้านค่าใช้จ่ายและลดความผันผวนของราคาไฟฟ้าได้ โดยทีมของเขาได้ใช้อัลกอลิทึม Machine Learning ในการช่วยหาสถานที่ที่กล่าวไปข้างต้นเพื่อพัฒนามาตราการตอบสนองความต้องการไฟฟ้าโดยรวมของรัฐให้มีเสถียรภาพมากขึ้น นอกจากนั้น Machine Learning ยังถูกใช้ในการหามาตราการที่้ส่งผลกระทบน้อยที่สุดต่อประชาชนแต่ให้ผลลัพธ์ด้านต้นทุนราคาไฟฟ้าที่ถูกที่สุดอีกด้วย.

อ้างอิง : https://techxplore.com/news/2022-03-demand-response-price-volatility-electric.html

 

หุ่นยนต์กระดูกพลัง AI ช่วยเหลือผู้ที่มีความบกพร่องในการเคลื่อนไหว

นักวิจัยจากโครงการหุ่นยนต์การ์เดียน RIKEN ได้ใช้การผสมผสานระหว่างวิศวกรรมวัสดุน้ำหนักเบาและปัญญาประดิษฐ์ ในการสร้างหุ่นยนต์โครงกระดูกภายนอก ที่สามารถช่วยเหลือผู้ที่มีความบกพร่องในการเคลื่อนไหวได้ โดยองค์ประกอบที่สำคัญของอุปกรณ์นี้คือเทคโนโลยี AI ที่ช่วยให้โครงกระดูกสามารถคาดเดาเจตนาของผู้ใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ชุดหุ่นยนต์กระดูกนี้ ปกติแล้วจะเป็นชุดที่ผู้คนสามารถสวมใส่ได้ และจะช่วยผู้ใช้ออกแรงเมื่อร่างกายของพวกเขาไม่สามารถออกแรงด้วยตนเองได้ ซึ่งทีมวิจัยนี้ได้นำปัญญาประดิษฐ์มาใช้เพื่อคาดการณ์ว่าผู้ใช้ต้องการจะเคลื่อนไหวอย่างไร โดยได้ใช้ Machine learning เรียนรู้ที่จะอ่านความต้องการเคลื่อนไหวของผู้ใช้ให้ได้อย่างถูกต้อง โดยอิงจากการวัดกิจกรรมของกล้ามเนื้อผู้ใช้ เพื่อให้ระบบสามารถช่วยเหลือในการเคลื่อนไหวได้
ซึ่งผลการทดลอง พบว่า ชุดหุ่นยนต์กระดูกนี้ สามารถเดาเวลาที่พวกเขาพยายามจะยืนขึ้นจริง ๆได้ และให้ความช่วยเหลือในการเคลื่อนไหวได้อีกด้วย

อ้างอิง : https://techxplore.com/news/2022-03-robotic-exoskeleton-machine-users-mobility.html

 

แฮกเกอร์เรียกค่าไถ่ใช้รูปภาพจาก AI

บริษัทกูเกิลรายงานว่าในปีที่ผ่านมามีกลุ่มแฮคเกอร์ได้พยายามใช่มัลแวร์เรียกค่าไถ่กับบริษัทต่าง ๆ เป็นจำนวนหลายร้อยบริษัทผ่านช่องโหว่ในระบบปฎิบัติการคอมพิวเตอร์ Windows ของ Microsoft
กลุ่มแฮคเกอร์ที่กล่าวถึงนั้นทางกูเกิลบอกว่ากลุ่มนี้มีชื่อว่า Exotic Lily ซึ่งเป็นกลุ่มแฮคเกอร์ที่มีความสามารถในการเจาะเข้าสู้ระบบเครือข่ายของบริษัทและนำไปขายต่อให้แก่กลุ่มบริษัทที่เกี่ยวกับการโจมตีทางไซเบอร์อื่น ๆ โดยสิ่งที่ทำให้กลุ่ม Exotic Lily นั้นแตกต่างจากกลุ่มแฮกเกอร์อื่น ๆ ก็คือ กลุ่มนี้มีความสามารถในการปฏิสัมพันธ์สร้างความไว้วางใจกับกลุ่มเป้าหมายอย่างเช่นการสร้างโปรไฟล์ปลอมใน LinkedIn เพื่อหลอกเป้าหมายและยังพบว่ามีบางครั้งที่กลุ่มนี้นั้นใช้ AI ในการสร้างรูปภาพปลอมขึ้นมาอีกด้วย

อ้างอิง : https://www.bloomberg.com/news/articles/2022-03-17/ransomware-hackers-used-ai-images-microsoft-flaw-in-campaign

—————————————————————————————-

ทั้งหมดเป็นข่าวที่น่าสนใจใน 18 – 24 มีนาคม 2565 พบกันใหม่ในสัปดาห์หน้านะคะ : )

หากมีข้อสงสัย ติชมสามารถ ติดตามและสอบถามได้ที่
 : AIไทยสามารถ โดย AI for all Thailand



เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึก