ข่าว AI รอบโลก – สัปดาห์ที่ 1 เดือนพฤษภาคม 2022

ResApp ใช้ AI ตรวจหาโควิดจากเสียงไอ แม่นยำ 92%

ResApp เป็นแอปพลิเคชันที่ช่วยตรวจหาเชื้อโควิด-19 จากการวิเคราะห์เสียงไอด้วยระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) ซึ่งเป็นผลงานการพัฒนาของ ResApp Health บริษัทเอกชนด้านเทคโนโลยีสุขภาพจากประเทศออสเตรเลีย นอกจากไม่ต้องเจ็บตัวแล้ว ยังให้ผลการตรวจหาเชื้อที่แม่นยำอีกด้วย

แม้ว่าจะยังไม่ได้เปิดให้ใช้งานอย่างเป็นทางการ แต่ทางผู้พัฒนาได้มีการทดสอบกับอาสาสมัครจากประเทศอินเดียและสหรัฐอเมริกา จำนวน 741 ราย และผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 446 ราย โดยผลที่ได้พบว่าสามารถตรวจสอบหาเชื้อได้อย่างแม่นยำถึง 92%

วิธีการทดสอบคือให้อาสาสมัครไอใส่แอปพลิเคชันบนมือถือ แล้วให้ระบบ AI ช่วยวิเคราะห์เสียงไอของอาสาสมัครรายนั้น ๆ ว่ามีการติดเชื้อโควิดหรือไม่ นอกจากนี้ แอปพลิเคชันยังสามารถแยกแยะเสียงไอของผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจชนิดอื่น เช่น หอบหืด ปอดบวม เป็นต้น โดยวิเคราะห์ว่าอาการไอที่ผู้ป่วยมีนั้นเป็นอาการปกติของโรค หรือมาจากการติดเชื้อโควิด-19 ได้ด้วย

แม้ว่าจะยังอยู่ในขั้นตอนของการพัฒนาและปรับปรุงผลิตภัณฑ์ให้ดีขึ้น แต่เชื่อได้ว่าจะทำให้การตรวจหาเชื้อสะดวกมากขึ้นแล้ว ยังจะช่วยลดค่าใช้จ่ายของอุปกรณ์ตรวจหาเชื้อไปได้ด้วย

อ้างอิง : https://news.thaipbs.or.th/content/314820

 

หุ่นยนต์ทำอาหารแบบ “ชิมไปทำไป”

หุ่นยนต์ทำอาหาร “Chef” ได้รับการฝึกฝนด้วยวิธีการเลียนแบบการรับรู้รสชาติอาหารของมนุษย์โดยให้มันชิมอาหารในขั้นตอนต่าง ๆ ระหว่างกระบวนการเคี้ยวอาหารเพื่อตรวจสอบว่ารสเค็มเพียงพอหรือยัง นักวิจัยของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์แนะนำว่าผลลัพธ์ในการทดลองของพวกเขาอาจเป็นประโยชน์ในการพัฒนาการเตรียมอาหารแบบอัตโนมัติหรือกึ่งอัตโนมัติด้วยการช่วยให้หุ่นยนต์เรียนรู้ว่าอะไรที่รสชาติดีและไม่ดีซึ่งจะทำให้พวกมันทำอาหารได้ดีขึ้น เพราะว่าโดยปกติแล้วการเคี้ยวอาหารจะทำให้เรานั้นรู้สึกได้ถึงการเปลี่ยนแปลงของรสชาติและรสสัมผัส เช่น การกัดมะเขือเทศสดในช่วงหน้าร้อนจะทำให้น้ำผลไม้หลั่งออกมา จากนั้นเมื่อเราเคี้ยวสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือน้ำลายและเอนไซม์ย่อยอาหารก็จะถูกหลั่งออกมาซึ่งจะทำให้การรับรู้รสชาติของมะเขือเทศเปลี่ยนไป

พวกเขาได้ทำการทดสอบให้หุ่นยนต์ทำไข่เจียวและทำการทดสอบรสชาติ 9 รูปแบบของไข่เจียวรวมกับมะเขือเทศที่แตกต่างกันรวมถึงทดสอบรสชาติเหล่านั้นใน 3 ขั้นตอนของการเคี้ยวที่แตกต่างกันด้วยหลังจากนั้นก็ทำการสร้างแผนที่รสชาติของต่าง ๆ อาหารเหล่านั้น ซึ่งนักวิจัยพบว่าวิธีการ “ลิ้มรสขณะทำอาหาร” นี้ช่วยปรับปรุงความสามารถของหุ่นยนต์ในการประเมินความเค็มของจานได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ Grzegorz Sochacki ผู้ทำการวิจัยได้บอกว่า คนทำอาหารตามบ้านส่วนใหญ่จะคุ้นเคยกับการชิมอาหารในขั้นตอนการปรุงอาหารเพื่อตรวจสอบว่าสมดุลของรสชาติถูกต้องหรือไม่อยู่แล้ว ซึ่งการเลียนแบบกระบวนการเคี้ยวและชิมของมนุษย์จะทำให้ในที่สุดหุ่นยนต์จะสามารถผลิตอาหารที่มนุษย์จะเพลิดเพลินและปรับเปลี่ยนได้ตามรสนิยมของแต่ละคนได้ Dr Muhammad Chughtai นักวิทยาศาสตร์อาวุโสของ Beko ผู้ผลิตเครื่องใช้ในบ้านซึ่งกำลังร่วมมือกับโครงการนี้ กล่าวว่า “เราเชื่อว่าการพัฒนาหุ่นยนต์ทำอาหารจะมีบทบาทสำคัญในครัวเรือนที่งานยุ่งและสามารถเป็นผู้ช่วยในการดูแลบ้านในอนาคต” และเขายังได้กล่าวอีกว่า “ผลลัพธ์นี้เป็นการก้าวกระโดดที่สำคัญในการปรุงอาหารด้วยหุ่นยนต์ และด้วยการใช้ deep learning ร่วมกับข้อมูลการเคี้ยวจะช่วยให้หุ่นยนต์ปรับรสชาติสำหรับอาหารที่แตกต่างกันและรวมไปถึงผู้ใช้ที่แตกต่างกันด้วย”

อ้างอิง : https://www.bloomberg.com/news/articles/2022-05-04/robot-chef-learns-to-taste-as-it-goes-researchers-suggest

 

หนุ่มญี่ปุ่นรักล่ม? หลังเซิร์ฟเวอร์โฮโลแกรมของ “มิกุ” ภรรยาเอไอโดนปิด!

“อากิฮิโกะ คอนโดะ” วัย 38 ปี หนุ่มญี่ปุ่นที่เคยสร้างเสียงฮือฮาหลังจากแต่งงานกับเจ้าสาว AI โฮโลแกรม “ฮัตสึเนะ มิกุ” ออกมาเปิดเผยว่าตอนนี้ชีวิตรักกำลังเปลี่ยนไป เพราะเขาไม่สามารถคุยกับมิกุได้อีก หลังจากบริษัทผู้ให้บริการกล่องโฮโลแกรมยุติการให้บริการ AI ตัวดังกล่าว

โดยเขาเล่าว่าเมื่อปี 2008 เป็นช่วงที่ชีวิตมีปัญหาจากการกลั่นแกล้งในที่ทำงาน จนทำให้รู้สึกเครียด ซึมเศร้า จนเมื่อเขาได้เจอกับผลงานเพลงของมิกุ ชีวิตของเขาก็มีความสุขมากขึ้น จนกระทั่งตัดสินใจทุ่มเงินไปราว ๆ 600,000 บาท จัดงานแต่งงานไปเมื่อปี 2018 ที่ผ่านมา โดยก่อนหน้านี้ชีวิตของเขาก็มีความสุขดี โดยทุก ๆ วันเขาจะพูดคุยกับภรรยาผ่านเครื่อง Gatebox ซึ่งเป็นเหมือนเครื่องแสดงภาพโฮโลแกรมพร้อมระบบปัญญาประดิษฐ์อัจฉริยะ ที่สามารถแสดง AI พูดคุยโต้ตอบกับเราได้อย่างเป็นธรรมชาติ

อย่างไรก็ตามเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา คอนโดะไม่สามารถสื่อสารกับภรรยาได้อีกต่อไปแล้ว เพราะว่าเทคโนโลยีของเครื่อง Gatebox ที่บรรจุมิกุไว้ ได้มีการยุติการสนับสนุนซอฟต์แวร์ตัวกล่าวไปแล้ว โดยเขาเปิดเผยต่อสื่อว่าความรู้สึกที่เขามีให้มิกุยังคงไม่เปลี่ยนแปลง แม้ว่าเทคโนโลยีจะเข้ามาขัดขวางก็ตาม โดยปัจจุบันเขาได้ชีวิตอยู่กับตุ๊กตามิกุขนาดเท่าคนจริง สำหรับฮัตสึเนะ มิกุ เป็นนักร้องป๊อบสตาร์ AI อายุ 16 ปี ซึ่งมีผมสีเทอร์ควอยซ์และมัดแกละสองข้าง อันเป็นเอกลักษณ์

อ้างอิง : https://www.tnnthailand.com/news/tech/112663/

 

เปลี่ยนขยะเคมีให้เป็นยา สร้างหนทางการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

synthesis platform AI ที่ชื่อว่า Allchemy ได้พัฒนาระบบ AI ที่สามารถคิดค้นยาและสารเคมีทางการเกษตรหลายชนิดได้จากของเสียที่เป็นสารเคมี จากการทำนายเส้นทางสังเคราะห์ที่เป็นไปได้ โดยโปรแกรมจะใช้การพิจารณาด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และภูมิศาสตร์เพื่อให้สามารถจัดลำดับปฏิกิริยาได้ หรือแม้กระทั่งแนะนำทางเลือกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งซอฟต์แวร์ได้รับการทดสอบเรียบร้อยแล้วในระบบการผลิตยา

โดย Bartosz Grzybowski จาก Academy of Sciences แห่งโปแลนด์และ Ulsan National Institute of Science and Technology ได้กล่าวว่า ระบบนี้สามารถลองใช้ตัวเลือกทั้งหมดและแก้ปัญหาที่นักเคมีของมนุษย์ไม่สามารถจัดการได้เนื่องจากมีปริมาณมาก โดยโปรแกรมคอมพิวเตอร์นี้ได้ใช้ library ของ chemical reaction rule ที่ใช้กับกลุ่มของวัสดุตั้งต้นและตัวกลางที่เป็นผลลัพธ์ทั้งหมด ซึ่งในการทดลองนี้ ทีมงานได้นำสารเคมีเสีย 200 ชนิดมาใช้ในการวิเคราะห์ และพบว่าระบบสามารถสังเคราะห์รูปแบบทางเคมีที่สามารถนำมาใช้ทำยาได้มากถึง 300 แบบ

แต่อย่างไรก็ตาม โปรแกรมอย่าง Allchemy สามารถพัฒนาศักยภาพได้เต็มที่ก็ต่อเมื่อมีการใช้และใช้ร่วมกันในอุตสาหกรรมเคมี Grzybowski กล่าวว่า ‘สิ่งที่เขาจินตนาการคือระบบที่บริษัทต่างๆ เก็บข้อมูลเกี่ยวกับของเสียที่พวกเขาต้องการจะกำจัด จากนั้น Allchemy จะคำนวณว่าสิ่งที่มีประโยชน์สามารถทำได้จากมันและอย่างไร และบริษัทอื่นๆ ก็สามารถเสนอราคานำของเสียนี้ไปใช้จริงและดำเนินการสังเคราะห์ได้ ‘

อ้างอิง : https://www.chemistryworld.com/news/ai-tool-finds-green-ways-to-turn-chemical-waste-into-drugs/4015606.article

 

Meta พัฒนาระบบ AI คิดค้นส่วนผสมคอนกรีตลดโลกร้อน

บริษัทเมตต้า (Meta) กำลังสร้างระบบปัญญาประดิษฐ์มีการปรับเปลี่ยนสูตรเพื่อเสริมสร้างจุดแข็งและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้น้อยลงด้วยการปรับส่วนผสมคอนกรีตใหม่

ระบบปัญญาประดิษฐ์ที่มีการออกแบบมาตั้งเดิมนั้น มีการสร้างมลภาวะทางอากาศมากถึง 1 พันล้านตันในทุก ๆ ปี ทำให้หลายฝ่ายเริ่มหาทางให้ทางอุตสาหกรรมแต่ละแห่งช่วยทำการลดรอยเท้าคาร์บอนให้น้อยลง สำหรับระบบปัญญาประดิษฐ์ที่ทางบริษัท Meta ได้วางเอาไว้นั้น จะให้ความสำคัญกับการปรับเปลี่ยนส่วนผสมคอนกรีตเพื่อหลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้น้อยที่สุด เรื่องนี้ทางด้านนักวิจัยได้มีการตรวจสอบส่วนผสมคอนกรีตที่มีความเป็นไปได้ว่า จะช่วยทำการลดก๊าซคาร์บอนให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ ไม่ว่าจะเป็นกระจกพื้น, เถ้าลอยและตะกรัน

นักวิจัยได้ทำการทดสอบความเป็นไปได้ที่จะทำการเลือกส่วนผสมต่าง ๆ ที่ช่วยลดโลกร้อนและช่วยประหยัดเวลาในการตรวจสอบด้วยระบบปัญญาประดิษฐ์ เรื่องนี้ทางทีมงานบริษัท Meta เห็นว่า จะเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อย โดยทางด้านศาสตราจารย์ลาฟ วาร์ชนีย์ (Lav Varshney) จากแผนกวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์กับศาสตราจารย์นิชาน การ์ (Nishant Grag) จากแผนกวิศวกรรมโยธาจากมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ เออร์แบนา-แชมเปญจน์ เป็นผู้ทำการออกแบบชุดข้อมูลเกี่ยวกับส่วนผสมคอนกรีตมากกว่า 1,000 สูตรที่ช่วยในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์

อ้างอิง : https://www.tnnthailand.com/news/tech/112387/

 

โตโยต้าติดกล้อง AI เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานในโรงงาน

Toyota Motor North America (TMNA) กำลังร่วมมือกับ Invisible AI สตาร์ทอัพด้าน AI จาก Texas เพื่อใช้ AI ช่วยในการตัดสินใจในโรงงานต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องของคุณภาพ ความปลอดภัย และประสิทธิภาพการทำงาน โดยเมื่อทาง Invisible AI มีแผนที่จะทำการติดตั้งแพลตฟอร์มคอมพิวเตอร์วิทัศน์ (computer vision) ให้กับ 14 โรงงานของโตโยต้าในพื้นที่อเมริกาเหนือ

โดยระบบนั้นจำเป็นต้องมีการติดตั้งกล้องวิดีโอในทุกมุมของการทำงานที่โตโยต้าเพื่อใช้ AI ในการวิเคราะห์ปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น ซึ่งที่จริงแล้ว Toyota วางแผนที่จะใช้ระบบ Invisible AI เพื่อปรับปรุงคุณภาพ ประสิทธิภาพการทำงาน และความปลอดภัยเหนือการสังเกตของมนุษย์หรือกล้องรักษาความปลอดภัยทั่วไป

การประกาศความร่วมมือเมื่อวันพุธที่ผ่านมาถือเป็นก้าวสำคัญในความร่วมมือสองปีระหว่าง Invisible AI และศูนย์นวัตกรรมโครงการการผลิตของโตโยต้า ซึ่งระบบของ Invisible AI จะถูกทำการติดตั้งที่โรงงานของโตโยต้าโดยใช้อุปกรณ์ AI 500 ตัวที่ถูกฝังชิปการประมวลผล Jetson ของ NVIDIA รวมกับแหล่งเก็บข้อมูลกว่า 1TB และกล้องสามมิติความละเอียดสูงเพื่อทำการติดตามตรวจสอบกิจกรรมในทุกชั้นของโรงงาน

Stephen Brennan จาก Toyota กล่าวถึงความกังวลเกี่ยวกับเรื่องความเป็นส่วนตัวของพนักงานว่า “ความเป็นส่วนตัวเป็นสิ่งที่มีความสำคัญสูงสุด พนักงานฝ่ายผลิตของโตโยต้ามีความกระตือรือร้นในการพัฒนา และใช้งานเทคโนโลยีของ Invisible AI เพื่อทำการปกปิดตัวตนของคนในวิดีโอเพื่อไม่ให้ข้อมูลของพวกเขารั่วไหลออกนอกบริษัท” ซึ่งที่จริงแล้ว ระบบการปกปิดตัวตนนั้นถูกฝังอยู่ในเทคโนโลยีอยู่แล้ว ตามคำกล่าวของ Prateek Sachdeva ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ Invisible AI ที่ชี้ว่า “ระบบ AI ของเราจะดูที่ร่างกายมนุษย์เป็นหลัก ไม่มีการจดจำใบหน้า ไม่มีอะไรที่บ่งบอกถึงบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะ”

การติดตั้งครั้งแรกที่โรงงานโตโยต้าจะมีขึ้นในปีนี้ที่ Toyota Indiana ด้วยการติดตั้งอุปกรณ์ edge AI จำนวน 500 เครื่อง แต่สำหรับการนำอุปกรณ์ไปใช้ในวงกว้างมากกว่านี้ยังเป็นสิ่งที่โตโยต้ากำลังพิจารณาอย่างจริงจัง Brenan ได้กล่าวว่า “เรากำลังศึกษาเทคโนโลยี Invisible AI สำหรับกรณีการใช้งานภายนอกการประกอบรถยนต์ เช่น ความปลอดภัยและการยศาสตร์(ergonomic)”

อ้างอิง : https://www.forbes.com/sites/edgarsten/2022/05/04/toyota-puts-invisible-ai-eyes-in-north-american-factories/?ss=ai&sh=77937452217c

 

นักวิชาการเตือน Twitter ต้องการ AI กรอง hate speech

ในเดือนนี้ Elon Musk ได้เข้าซื้อกิจการ Twitter ในราคา 44 พันล้านดอลลาร์และต้องการให้โซเชียลมีเดียยักษ์ใหญ่แพลตฟอร์มนี้เป็นแพลตฟอร์มสำหรับ free speech

ศาสตราจารย์ David Reid ผู้เชี่ยวชาญด้าน AI และ Spatial Computing ที่ Liverpool Hope University กล่าวว่าจุดยืนของ Musk ไม่ได้ชี้ให้เห็นถึงความพยายามในการขจัดความจำเป็นทางกฎหมายสำหรับการกรอง hate speech หรือ คำพูดแสดงความเกลียดชังในแพลตฟอร์ม และหาก Twitter จะเป็นแพลตฟอร์มที่เปิดกว้างกว่าเดิมก็พวกเขาจะต้องใช้ AI รูปแบบใหม่ที่มีความสามารถสูงเพื่อปิดบังการสนทนาที่เข้าค่าย hate speech ที่อาจจะเกิดขึ้นได้

เขากล่าวว่า “Elon Musk บอกว่าเขาเป็นคนที่ให้ความสำคัญกับ free speech อย่างมากแต่อย่างไรก็ตามการแยกแยะว่าอะไรคือ free speech และสิ่งที่เป็น hate speech อาจเป็นเรื่องยากมากกว่าที่เขาคิดไว้” เขายังบอกอีกว่า Elon musk จะต้องการ AI ที่ซับซ้อนเพื่อกลั่นกรองเนื้อหาที่เขาเรียกว่า “free speech” ให้อยู่ในขอบเขตของกฎหมายโดย AI ตัวนี้นั้นควรที่จะแยกแยะความแตกต่างเล็กๆน้อยๆในเชิงความหมายของคำพูดได้และถึงแม้ Elon Musk จะมีเทคโนโลยีที่ดีขนาดนั้น เขาก็อาจจะพบว่ามันยากที่จะนำไปใช้จริงอย่างเหลือเชื่ออยู่ดี

อย่างไรก็ตาม Twitter เป็นแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียแรกที่ Elon Musk เป็นเจ้าของ ดังนั้นอาจจะบอกเลยได้ว่า Musk ค่อนข้างไม่คุ้นเคยกับความซับซ้อนของการควบคุมเนื้อหาต่างๆ เหล่านี้ เช่น เนื้อหาเกี่ยวกับการแบ่งแยกเชื้อชาติ รังเกียจผู้หญิง หรือเกลียดชังชาวต่างชาติ

Reid ได้ปิดท้ายว่า สิ่งหนึ่งที่จะเกิดขึ้นแน่นอนนั่นคือ Twitter จะเปลี่ยนไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งในแง่ของบุคลากรที่ทำงานที่นั่นและตัวแพลตฟอร์มเอง

อ้างอิง : https://techxplore.com/news/2022-05-twitter-sophisticated-nuanced-artificial-intelligence.html

 

SoundCloud ซื้อ AI ที่สามารถทำนายเพลงฮิตได้

SoundCloud ได้เข้าซื้อกิจการบริษัท Musiio บริษัท AI เกี่ยวกับด้านเสียง ทีมีเทคโนโลยีที่สามารถ “ฟัง” เพลงใหม่และระบุได้ว่าเพลงไหนจะเป็นเพลงได้ โดยการเข้าซื้อกิจการนี้ จะช่วยให้ SoundCloud สามารถจัดเรียงไลบรารีเพลงของมือสมัครเล่นขนาดใหญ่ได้และเปิดประสบการณ์การค้นพบรูปแบบใหม่ของ SoundCloud ด้วย

เนื่องจากแพลตฟอร์มการจำหน่ายเพลงแบบ DIY เช่น SoundCloud ต้องการลดอุปสรรคในการเข้ามาของศิลปินมือสมัครเล่นที่เต็มไปด้วยเพลงใหม่ การระบุและส่งเสริมงานที่ดีจึงกลายเป็นความท้าทายมากยิ่งขึ้น ซึ่ง SoundCloud อ้างว่าเครื่องมือของ Musiio นี้ สามารถกรองเพลง (ที่ส่วนใหญ่อาจจะไม่ดี) ได้อย่างรวดเร็วและเลือกเพลงที่มีรูปแบบและลักษณะที่สัมพันธ์กับชาร์ตท็อปเปอร์ได้ โดย Eliah Seton ประธานบริษัท SoundCloud ได้กล่าวว่า การเข้าซื้อกิจการ Musiio จะช่วยเร่งกลยุทธ์ของเราเพื่อให้เข้าใจมากขึ้นว่าเพลงนั้นมีการเคลื่อนไหวในลักษณะอย่างไร ซึ่งมีความสำคัญต่อความสำเร็จของเรา

อ้างอิง : https://www.theverge.com/2022/5/4/23056806/soundcloud-acquisition-musiio-artificial-intelligence-ai-hits

 

Google เผชิญกับการต่อสู้ภายในกับการวิจัยเกี่ยวกับ AI เพื่อเร่งความเร็วการออกแบบชิป

Alphabet Inc’s Google กล่าวว่า เพิ่งไล่ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายวิศวกรรมออก หลังจากเพื่อนร่วมงานที่มีงานวิจัยเกี่ยวกับซอฟต์แวร์ปัญญาประดิษฐ์ ได้บอกว่าเขาพยายามจะทำให้งานวิจัย AI เสียชื่อเสียง

ข้อพิพาทนี้เกิดจากการพยายามในการออกแบบชิปแบบอัตโนมัติ ซึ่งการกระทำดังกล่าว ถือเป็นการคุกคามที่จะบ่อนทำลายชื่อเสียงงานวิจัยของ Google ในชุมชนวิชาการ นอกจากนี้ ก็อาจจะสามารถขัดขวางการไหลของเงินช่วยเหลือของรัฐบาลหลายล้านดอลลาร์เพื่อการวิจัย AI และชิป ซึ่งหน่วยวิจัยของ Google ได้เผชิญกับการตรวจสอบอย่างถี่ถ้วนตั้งแต่ปลายปี 2563 หลังจากที่พนักงานวิจารณ์อย่างเปิดเผยเกี่ยวกับการจัดการข้อร้องเรียนด้านบุคลากรและแนวทางปฏิบัติในการตีพิมพ์งานวิจัยของ google

โดยปัญหานี้เกิดขึ้นหลังจากวารสารวิทยาศาสตร์ Nature ได้ตีพิมพ์ “วิธีการวางกราฟสำหรับการออกแบบชิปที่รวดเร็ว” นำโดยนักวิทยาศาสตร์ของ Google Azalia Mirhoseini และ Anna Goldie ที่พวกเขาได้ค้นพบว่า AI สามารถบรรลุขั้นตอนสำคัญในกระบวนการออกแบบชิป ได้เร็วกว่าและดีกว่าผู้เชี่ยวชาญ

แต่เพื่อนร่วมงานหรือบุคลากรใน Google ได้เขียนบทความที่โพสต์โดยไม่เปิดเผยตัวตนทางออนไลน์ในเดือนมีนาคมว่า – “Stronger Baselines for Evaluating Deep Reinforcement Learning in Chip Placement” – ที่พบว่าสองแนวทางทางเลือกที่ใช้ซอฟต์แวร์พื้นฐานมีประสิทธิภาพเหนือกว่า AI โดยอันหนึ่งทำได้ดีกว่าในการทดสอบที่เป็นที่รู้จัก และก็ดีกว่ารูบริกที่เป็นกรรมสิทธิ์ของ Google

อ้างอิง : https://www.channelnewsasia.com/business/google-faces-internal-battle-over-research-ai-speed-chip-design-2661326

—————————————————————————————-

ทั้งหมดเป็นข่าวที่น่าสนใจใน 29 – 5 พฤษภาคม 2565 พบกันใหม่ในสัปดาห์หน้านะคะ : )

หากมีข้อสงสัย ติชมสามารถ ติดตามและสอบถามได้ที่
 : AIไทยสามารถ โดย AI for all Thailand



เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึก