ข่าว AI รอบโลก – สัปดาห์ที่ 4 เดือนมิถุนายน 2022

IKEA เปิดตัว Kreativ ประสบการณ์ออกแบบห้องรูปแบบใหม่ด้วย 3D mixed-reality

อิเกียเปิดตัวประสบการณ์ใหม่ในการออกแบบที่ขับเคลื่อนด้วย AI ในชื่อ IKEA Kreativ สำหรับ IKEA.com และแอปของ IKEA ด้วยคุณสมบัติใหม่นี้ ลูกค้าสามารถออกแบบและเห็นภาพพื้นที่อยู่อาศัยของตนเองด้วยเฟอร์นิเจอร์ดิจิทัลบนสมาร์ทโฟน แทนที่จะเดินทางไปที่ร้านค้าจริง IKEA Kreativ เป็นประสบการณ์การออกแบบ แบบ mixed-reality เต็มรูปแบบครั้งแรกของอุตสาหกรรมค้าปลีกสำหรับบ้านที่การออกแบบภายในนั้นทำได้สมจริงและแม่นยำ ซึ่งจะเชื่อมช่องว่างระหว่าง customer journey ของลูกค้ากลุ่มอีคอมเมิร์ซและลูกค้าในร้าน

แพลตฟอร์มการออกแบบบ้านเสมือนจริงไม่ใช่เรื่องใหม่ ที่จริงแล้ว IKEA เป็นหนึ่งในบริษัทเฟอร์นิเจอร์รายแรกๆ ที่ใช้เทคโนโลยี AR ในปี 2017 ด้วยแอป IKEA Place ของพวกเขา แอปนั้นทำงานร่วมกับ ARKit ของ Apple เพื่อให้ลูกค้าสแกนห้องและวางเก้าอี้ เตียง ฯลฯ ของอิเกียไว้ในพื้นที่เหล่านั้นได้ นอกจากนี้ยังมีเทคโนโลยีการค้นหาด้วยภาพที่แนะนำเฟอร์นิเจอร์ที่คล้ายกันเมื่อผู้ใช้สแกนรายการที่มีอยู่แล้วในบ้านเช่น Amazon, Wayfair และอื่นๆ โดยพวกเทคโนโลยีเหล่านั้นได้ติดตั้งแอป AR เพื่อช่วยลูกค้าในการออกแบบห้องด้วยผลิตภัณฑ์ที่ซื้อได้เช่นกัน

ซึ่ง IKEA Kreativ มีความสามารถมากกว่านั้น โดยมันสามารถจับภาพ 3 มิติมุมกว้าง และให้ลูกค้าออกแบบพื้นที่ทั้งหมดตั้งแต่หัวจรดเท้า โดยใช้ประโยชน์จากการคำนวณเชิงพื้นที่ machine learning และเทคโนโลยี 3D mixed-reality ที่พัฒนาโดยผู้เชี่ยวชาญด้าน AI ของ Silicon Valley อย่าง Geomagical Labs ตัว IKEA Kreativ นั้นได้ใช้เทคโนโลยี AI และ computer vision ที่คล้ายกันกับที่ใช้ในรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยตนเอง เช่น neural network ที่ได้รับการฝึกให้จดจำวัตถุและเรขาคณิตของพื้นที่ อัลกอริทึม stereo vision เพื่อดูในรูปแบบ 3 มิติ อัลกอริทึมการถ่ายภาพด้วยคอมพิวเตอร์ และ 3D mixed-reality

ลูกค้ามีทางเลือกในการออกแบบพื้นที่ของตนเองหรือเลือกจากโชว์รูม 3D กว่า 50 แห่ง ที่มีทั้งห้องที่ตกแต่งครบครัน กึ่งตกแต่งแล้ว หรือห้องว่างเปล่า นอกจากนี้ IKEA Kreativ สามารถลบเฟอร์นิเจอร์ที่มีอยู่ออกจากรูปภาพ เราจึงสามารถเริ่มต้นออกแบบใหม่ในพื้นที่ที่มีอยู่แล้วได้

IKEA Kreativ ได้รับการทดสอบครั้งแรกในเดือนเมษายน 2564 โดยลูกค้าหนึ่งล้านราย และได้รับคำติชมจากลูกค้าว่ามันเยี่ยมยอดมาก ปัจจุบัน ฟีเจอร์ IKEA Kreativ มีให้บริการในสหรัฐอเมริกา บนอุปกรณ์ iOS และพีซีแล้ว และจะมาถึงอุปกรณ์ Android ในช่วงปลายฤดูร้อนนี้ นอกจากนั้นยังคาดว่าจะเปิดตัวในประเทศอื่นๆ ภายในเดือนกันยายนที่จะถึงอีกด้วย

อ้างอิง : https://techcrunch.com/2022/06/22/ikea-rolls-out-an-ai-powered-interactive-design-experience-for-shoppers/

จุฬาฯ เปิดตัว ReadMe โปรแกรมแปลงเอกสาร-รูปภาพเป็นข้อความดิจิทัล

จุฬาฯ เปิดตัว ReadMe โปรแกรมแปลงเอกสารและรูปภาพเป็นข้อความดิจิทัล แม่นยำ 90% พร้อม spin-off สู่ตลาดในนามบริษัท Eikonnex AI จำกัด

วันที่ 16 มิถุนายน 2565 รองศาสตราจารย์ ดร.ธนารัตน์ ชลิดาพงศ์ อาจารย์จากภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ได้ร่วมกับ ทีมนิสิตปริญญาเอก ดร.ธนานพ กอบชัยสวัสดิ์ ร่วมพัฒนา “ReadMe” โปรแกรมประเภท OCR (Optical Character Recognition) เพื่อช่วยสแกนข้อความทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษที่อยู่บนเอกสาร รูปภาพ หรือไฟล์วิดีโอ ให้ออกมาเป็นตัวหนังสือดิจิทัลได้ทันที สามารถอ่านภาษาไทยแม่นยำกว่า 90%

ซึ่งเทคโนโลยี OCR หรือ Optical Character Recognition คือ โปรแกรมที่ใช้สแกนตัวหนังสือจากภาพ หรือวิดีโอ ให้กลายเป็นตัวหนังสือแบบดิจิทัล เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์ผล พร้อมนำไปประยุกต์ใช้งานได้ทันที ซึ่งรูปภาพที่นำมาใช้สแกนนั้นเป็นได้ 2 ลักษณะ คือ รูปภาพทั่วไป (Scene text image) และรูปภาพที่เป็นเอกสาร (Document scanned image)

เทคโนโลยี OCR ประยุกต์ใช้ได้หลากหลายรูปแบบ เช่น การอ่านรหัสไปรษณีย์บนซองจดหมาย เพื่อคัดแยกซองจดหมายได้โดยอัตโนมัติ การอ่านหมายเลขบนแคร่รถไฟ เพื่อให้สามารถทราบตำแหน่งของตู้รถไฟว่าอยู่จุดไหนเวลาใดได้ทันที สามารถใช้กับกล้องติดหน้ารถยนต์เพื่อช่วยอ่านป้ายจราจรและป้ายบอกทาง หรือช่วยอ่านป้ายต่าง ๆ ให้ผู้มีสายตาเลือนราง เป็นต้น
รศ.ดร.ธนารัตน์ กล่าวว่า “OCR ถือเป็นนวัตกรรมที่ใช้ปัญญาประดิษฐ์ช่วยลดการใช้แรงงานมนุษย์ ประหยัดเวลา ทำให้ชีวิตประจำวันของคนเรามีความสะดวกและง่ายขึ้นมากเลยทีเดียว”  และยังกล่าวอีกว่า “ไวยากรณ์และโครงสร้างของภาษาอังกฤษจะง่ายต่อคอมพิวเตอร์ในการอ่าน แต่ภาษาไทยยากกว่ามาก เพราะตัวอักขระเยอะ มีสระ มีวรรณยุกต์ ในหนึ่งบรรทัดมีตัวอักษรได้ถึง 4 ระดับ ในขณะที่ภาษาอังกฤษมีเพียงระดับเดียว แต่ปัญหาดังกล่าวกลายเป็นอดีตไปแล้ว เมื่อเทคโนโลยีการเรียนรู้เชิงลึก (Deep Learning) เข้ามามีบทบาทช่วยให้ AI ฉลาดมากขึ้น เมื่อนำเทคโนโลยีใหม่มารวมกับโจทย์เดิม ก็ช่วยเพิ่มความแม่นยำให้เทคโนโลยี OCR อ่านภาษาไทยได้เก่งเหมือนมีคนไทยมาอ่านเอง”

ReadMe เป็นผลิตภัณฑ์ชิ้นแรกของบริษัท Eikonnex AI จำกัด ภายใต้การสนับสนุนจากศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่ออุตสาหกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Chula UTC) ที่พัฒนาขึ้นหลังจากสำรวจปัญหาในภาคธุรกิจ
“งานของภาคธุรกิจส่วนใหญ่เป็นงานเอกสาร ซึ่งปัจจุบันยังใช้คนในการกรอกข้อมูลอยู่ เสียแรงและเวลามาก เราจึงพัฒนาโปรแกรม ReadMe เพื่อตอบโจทย์ธุรกิจ โดยเน้นที่การอ่านเอกสารให้แม่นยำ และเกิดข้อผิดพลาดให้น้อยที่สุด ยกตัวอย่างการประยุกต์ใช้ ReadMe ในสายงานธนาคาร องค์กรที่นำ ReadMe ไปใช้ในระบบแล้ว พบว่า เมื่อเทียบกับ OCR ของบริษัทอื่น ๆ ทั้งของไทยและต่างประเทศ ReadMe มีความแม่นยำมากที่สุดถึง 92.6% ช่วยลดความผิดพลาดของมนุษย์ได้มาก (human error)”

อ้างอิง : https://www.prachachat.net/education/news-956179

Microsoft จะเลิกใช้ AI จดจำใบหน้าที่สามารถตรวจจับอารมณ์ได้ ลดการละเมิดความเป็นส่วนตัว

Microsoft จะเลิกใช้ AI จดจำใบหน้าที่สามารถตรวจจับอารมณ์ได้ เพื่อลดการละเมิดความเป็นส่วนตัว และป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชน
ซึ่งเรื่องนี้เป็นประเด็นตั้งแต่ปี 2021 กลุ่ม EU โดย รัฐสภายุโรป (EP) MEPs ได้เรียกร้องให้แบนการใช้เทคโนโลยีการจดใบหน้าในพื้นที่สาธารณะ เพราะเป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน โดยมีความเป็นไปได้ว่าโปรแกรมเมอร์ที่เขียนอัลกอริทึ่มของระบบ อาจใส่อคติลงไป ทำให้ AI อาจมีอคติเช่นกัน ซึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อน และมีปัญหาให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง

ซึ่งหลังจากนี้นักพัฒนารายใหม่ จะไม่สามารถใช้ Framework เกี่ยวกับการเขียนโปรแกรมจดจำใบหน้า ของ Microsoft ได้อีกต่อไป ซึ่งนักพัฒนาที่ใช้อยู่เดิมจะสามารถใช้งานได้จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2023 แต่ทาง Microsoft เองจะยังคงมีเทคโนโลยีนี้อยู่เพื่อช่วย “สำหรับการควบคุม” เช่น Seeing AI สำหรับช่วยเหลือคนตาบอดและผู้ที่มีปัญหาด้านการมองเห็น
Microsoft ได้แชร์ Responsible AI Standard ( กรอบจริยธรรมในการพัฒนา AI ) เพื่อปกป้องความเป็นส่วนตัว มีความโปร่งใส และป้องกันการพัฒนา AI มาใช้ในทางที่ไม่ดี เป็นการอัปเดตกรอบจริยธรรม AI ซึ่งเปิดตัวครั้งแรกเมื่อปลายปี 2019 ให้เกิดความเป็นธรรมมากขึ้น ทั้งเทคโนโลยีเสียงพูดเป็นข้อความ การควบคุมเสียงของระบบประสาทที่เข้มงวดยิ่งขึ้น และข้อกำหนดตรงตามวัตถุประสงค์การใช้ ที่ทำให้ต้องตัดระบบการตรวจจับอารมณ์ออกไป

ทั้งนี้ Microsoft ไม่ใช่บริษัทแรกที่มีความคิดเกี่ยวกับยกเลิก AI จดจำใบหน้าที่สามารถตรวจจับอารมณ์ได้ อีกบริษัทคือ IBM ได้ยกเลิก AI จดจำใบหน้าที่จับอารมณ์ได้ เช่นเดียวกัน เพราะกังวลว่าจะถูกนำไปใช้ในการละเมิดสิทธิมนุษยชน

อ้างอิง : https://www.it24hrs.com/2022/microsoft-cancel-facial-recognition-ai-emotion-detection/

ครั้งแรกในไทย! ไทยเป็นเจ้าภาพจัดงานหุ่นยนต์ระดับโลก World RoboCup 2022

คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.มหิดล ร่วมกับ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ภาคีเครือข่ายสถาบันการศึกษาสาขาวิศวกรรมหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน ร่วมเปิดศึกการแข่งขันครั้งยิ่งใหญ่ในกิจกรรมการแข่งขันหุ่นยนต์ระดับโลก ครั้งที่ 25 ในงานมหกรรม “World RoboCub 2022” พร้อมพบกับสีสันนวัตกรรมโรโบติกส์ ปัญญาประดิษฐ์ และเทคโนโลยีแห่งโลกอนาคตอื่น ๆ อีกมากมายภายในงาน ระหว่างวันที่ 13 – 17 กรกฎาคม 2565 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทคบางนา (Hall EH98-100)

จันทร์เพ็ญ เมฆาอภิรักษ์ ผู้ตรวจราชการอว. เผยว่า เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาเศรษฐกิจ และแผนพัฒนา 12 อุตสาหกรรมเป้าหมายตามนโยบายของรัฐบาล กระทรวงฯ จึงได้ให้การสนับสนุน หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการอุดมศึกษา ในการร่วมเป็นเจ้าภาพจัดกิจกรรมการแข่งขันหุ่นยนต์ระดับโลก

ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวถือเป็นโอกาสสำคัญในการแสดงศักยภาพด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ของประเทศไทยบนเวทีโลก และสะท้อนให้เห็นถึงความพร้อมของประเทศไทยในการจัดนิทรรศการระดับนานาชาติในช่วงที่เริ่มมีการเปิดประเทศ
นอกจากนี้ ยังเป็นแนวทางที่จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นแก่ภาคอุตสาหกรรมที่ต้องการยกระดับสินค้า และบริการด้วยการใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ผ่านการเฟ้นหาผู้ที่มีความสามารถที่เข้าร่วมในกิจกรรม เช่น นักศึกษา สตาร์ทอัพ หรือผู้ดำเนินธุรกิจนวัตกรรม

การจัดงานในปีนี้ คาดว่าจะมีผู้เข้ามาร่วมแข่งขันหุ่นยนต์ในลีกต่าง ๆ ไม่ต่ำกว่า 3,000 ราย จาก 45 ประเทศ ผู้เข้าชมไม่น้อยกว่า 15,000 คน และสิ่งที่สำคัญที่สุดเชื่อมั่นว่าจะทำให้ทั้งภาคประชาชน ภาคธุรกิจ รวมถึงภาครัฐมีความสนใจอุตสาหกรรมหุ่นยนต์เพิ่มขึ้นตามบริบทสังคมและเศรษฐกิจฐานนวัตกรรมด้วยเช่นกัน

ด้านจักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.มหิดล ประธานการจัดการแข่งขันหุ่นยนต์ RoboCup 2022 กล่าวว่า สำหรับการแข่งขันประกอบด้วยการแข่งขันทั้งหมด 5 ประเภท ได้แก่
1.การแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ (RoboCupSoccer)
2.หุ่นยนต์กู้ภัย (RoboCupRescue)
3.หุ่นยนต์ในบ้านเพื่อการบริการส่วนบุคคล (RoboCup@Home)
4.หุ่นยนต์และแขนกลเพื่องานอุตสาหกรรม (RoboCupIndustrial)
5.โครงการริเริ่มด้านการศึกษาที่มุ่งเน้นการสนับสนุนกิจกรรมหุ่นยนต์ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติสําหรับเด็กนักเรียนรุ่นเยาว์ (RoboCupJunior) ที่เปิดโอกาสให้เด็กไทยได้เรียนรู้เกี่ยวกับการใช้งานหุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติ

ภายในงานจะมีการสาธิตความสามารถของหุ่นยนต์อัจฉริยะโดยทีมนักศึกษาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.มหิดล ม.เกษตรศาสตร์ ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ทีมเยาวชนที่ได้รับรางวัลชนะเลิศการแข่งขัน หุ่นยนต์ MUT RMRC RoboCup “หุ่นยนต์พิชิตภารกิจสำรวจและช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ” ที่จัดแข่งขันขึ้นโดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร และการจัดแสดงเทคโนโลยีด้านการเกษตรโดย บริษัท เอชจี โรโบติกส์ จำกัด

สำหรับงานนิทรรศการประกอบด้วย การจัดแสดงเทคโนโลยีหุ่นยนต์ระบบอัตโนมัติ รวมทั้งหุ่นยนต์ที่เตรียมลงแข่งขันแต่ละลีกในงาน RoboCup 2022 อาทิ หุ่นยนต์กู้ภัย (Rescue Robot) ที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อใช้ช่วยในภารกิจกู้ภัย มีความสามารถในการค้นหาผู้รอดชีวิตหรือผู้เสียชีวิตที่ตกค้างอยู่ในซากปรักหักพังต่าง ๆ ที่มนุษย์ไม่สามารถเข้าถึง ออกแบบหุ่นยนต์ให้เคลื่อนที่เข้าไปยังพื้นผิวที่ยากลำบาก เช่น พื้นลาดเอียง หลากหลายระดับ ทางขรุขระ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีหุ่นยนต์ในบ้านเพื่อการบริการส่วนบุคคลที่มีความสามารถในการปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์ เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกสำหรับการใช้งานในส่วนบุคคล
รวมทั้งหุ่นยนต์ที่จะลงแข่งขันเตะฟุตบอลหุ่นยนต์ที่มีลักษณะใกล้เคียงกับมนุษย์ และเซนเซอร์รับรู้ต่าง ๆ มีกล้องและการประมวลผลทั้งหมดเกิดขึ้นบนตัวหุ่น การสื่อสารระหว่างหุ่นสามารถทำได้โดยที่ไม่ต้องมีคอมพิวเตอร์นอกสนามมาช่วย

พร้อมกันนี้ พบกับสินค้านวัตกรรมจากคนไทย อาทิ ไทเกอร์โดรน อากาศยานไร้คนขับสู่เกษตรวิถีใหม่ นวัตกรรมโดรนอัจฉริยะที่มาพร้อมกับสมรรถนะทรงพลังในบทบาทของเทคโนโลยีการเกษตร ที่สามารถช่วยลดต้นทุน และควบคุมคุณภาพของผลิตผลทางการเกษตร การจัดแสดงระบบพัฒนาปัญญาประดิษฐ์หุ่นยนต์อุตสาหกรรม หุ่นยนต์โลจิสติกส์ หุ่นยนต์ทางการแพทย์และเภสัชกรรม หุ่นยนต์ก่อสร้างและตรวจสอบและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับ ICT

อ้างอิง : https://www.bangkokbiznews.com/tech/1011266

อิสราเอลใช้ AI ค้นพบร่องรอย ‘การใช้ไฟ’ ตั้งแต่ 8 แสนปีก่อน

เมื่อวันที่ 16 มิถุนายนที่ผ่านมา สถาบันวิทยาศาสตร์ไวซ์มันน์ทางตอนกลางของอิสราเอล เปิดเผยการค้นพบร่องรอยการใช้ไฟ ซึ่งมีความเก่าแก่อย่างน้อย 8 แสนปี ด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI)

คณะนักวิจัยของสถาบันฯ และทีมงานได้ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ขั้นสูงที่พัฒนาขึ้นเอง ค้นพบหนึ่งในหลักฐานอันเก่าแก่ที่สุด ซึ่งบ่งชี้การใช้ไฟของมนุษย์โฮมินิน (Hominin) ยุคโบราณ ซึ่งหลักฐานดังกล่าว เผยแพร่ในวารสาร PNAS เมื่อวันที่ 13 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยได้ถูกค้นพบที่เอฟรอน ควอรี (Evron Quarry) แหล่งโบราณคดีกลางแจ้งในพื้นที่ทางตะวันตกของภูมิภาคกาลิลีทางตอนเหนือของอิสราเอล

ในการขุดสำรวจที่ เอฟรอน ควอรี หลายครั้งก่อนหน้านี้ ได้ค้นพบฟอสซิลสัตว์จำนวนมาก รวมถึงเครื่องมือยุคหินเก่าที่มีความเก่าแก่ระหว่าง 8 แสน – 1 ล้านปี ซึ่งคณะนักวิจัยฯ ก็ได้ใช้ปัญญาประดิษฐ์ประเมินการสัมผัสความร้อนของเครื่องมือหินเหล็กไฟจากแหล่งโบราณคดีฯ จำนวน 26 ชิ้น และพบเครื่องมือดังกล่าวถูกความร้อนในอุณหภูมิแตกต่างกัน ซึ่งบางชิ้นอาจสูงกว่า 600 องศาเซลเซียส

ทั้งนี้ คณะนักวิจัยฯ ได้วิเคราะห์ซากสัตว์ 87 ชิ้น โดยใช้เทคนิคสเปกโตรสโกปีที่แตกต่างกัน และพบงาช้างที่สูญพันธุ์ไปแล้วนั้นมีการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างอันเป็นผลจากความร้อนด้วย

อ้างอิง : https://thestandard.co/israel-used-ai-found-fire-use/

Voicemod เปลี่ยนเสียงของคุณให้กลายเป็น Morgan Freeman ด้วย AI

Voicemod โปรแกรมเปลี่ยนเสียงแบบเรียลไทม์ยอดนิยม กำลังเริ่มใช้ปัญญาประดิษฐ์เพื่อเปลี่ยนเสียงของคุณให้เป็น Morgan Freeman และตัวละครอื่นๆ ได้ โดย Voicemod AI Voices รุ่นเบต้าใหม่ที่พึ่งเปิดตัวไม่นานที่ผ่านมา จะมีตัวเลือกแปดตัวเลือกในการเปลี่ยนเสียงของผู้ใช้ให้เป็นตัวละครแฟนตาซี นักบิน นักบินอวกาศ และนักแสดงชื่อดังอย่าง Morgan Freeman

Voicemod ได้ให้บริการเปลี่ยนเสียงเป็นเวลาหลายปีด้วยเทคนิคการออกแบบเสียงแบบดั้งเดิม แต่ปัจจุบันพวกเขาได้เพิ่มเอฟเฟกต์เสียงใหม่ที่ได้ใช้ AI เข้ามาช่วย โดยเสียงทั้งหมดจะถูกประมวลผลแบบเรียลไทม์ จึงเหมาะอย่างยิ่งสำหรับการสตรีมบนแพลต์ฟอร์มอย่าง Twitch หรือเพื่อความสนุกสนานบน Discord ซึ่งข้อมูลทั้งหมดสำหรับเสียงเหล่านี้ได้รับการสร้างขึ้นด้วยความช่วยเหลือของนักพากย์มืออาชีพที่มีลักษณะที่ตรงกับเสียงที่ Voicemod สร้างขึ้นใหม่

ที่ผ่านมานั้นเทคโนโลยีเสียงสังเคราะห์นั้นน่าประทับใจยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ในด้านของความสมจริง โดยปัจจุบัน AI ได้แสดงศักยภาพให้เห็น สำหรับเหล่า content creator ในการนำเสียงโคลนไปใช้เพื่อแก้ไขปัญหาการบันทึกเสียงพูดที่ผิดพลาดได้ มากไปกว่านั้นเทคโนโลยีเหล่านี้ก็แสดงให้เห็นว่าเราใกล้ชิดมากเพียงใดสำหรับทุกคนในการโคลนเสียงได้อย่างอิสระ

นอกจากนั้น Voicemod ยังได้เปิดตัวเทคโนโลยี PowerPitch เมื่อเร็วๆ นี้ ให้ผู้ใช้สร้างตัวตนเสียงออนไลน์แบบถาวรสำหรับการเล่นเกมและสวมบทบาท ทำงาน โรงเรียน หรือเพียงแค่การโทรปกติ เทคโนโลยีนี้ไม่เพียงแต่สามารถใช้เพื่อความสนุกสนาน แต่ยังเป็นประโยชน์ต่อผู้คนนับล้านที่มีปัญหาความผิดปกติของเสียงอีกด้วย ปัจจุบัน AI ยังไม่ได้นำไปใช้กับ PowerPitch แต่ดูเหมือนว่าอีกไม่นานเราอาจจะมีเสียง AI ของเราเองซึ่งสามารถใช้สำหรับการประชุม การโทรใน Discord หรืออย่างอื่นๆได้

ปัจจุบันเราสามารถเขาไปทดลองใช้ Voicemod ได้บน Windows ซึ่งสำหรับเวอร์ชันบน Mac นั้นกำลังจะตามภายหลัง

อ้างอิง : https://www.theverge.com/2022/6/15/23169012/voicemod-morgan-freeman-ai-voice-astronauts-pilots

Github Copilot บริการช่วยเขียนโค้ดด้วย AI เปิดตัวที่ราคาเดือนละ 10$

GitHub บริการสำหรับ version control ออนไลน์ที่ Microsoft เป็นเจ้าของได้ทำเปิดตัวเครื่องมือ Copilot AI ในวันพุธที่ 21 มิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งตัวเครื่องมือนี้จะช่วยแนะนำการเขียนโค้ดในโปรแกรมเขียนโค้ดให้กับนักพัฒนาด้วย AI ซึ่งทาง GitHub ร่วมมือกับ OpenAI เพื่อเปิดตัว Copilot เวอร์ชันทดสอบมาก่อนหน้านี้เมื่อปีที่แล้ว ซึ่งมีนักพัฒนาซอฟต์แวร์มากกว่า 1.2 ล้านคนลงทะเบียนเพื่อใช้ตัวอย่าง GitHub Copilot ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งตอนนี้มันจะยังคงเป็นเครื่องมือฟรีสำหรับนักเรียนและโครงการโอเพนซอร์สยอดนิยมต่างๆต่อไป

GitHub Copilot มีราคา 10 ดอลลาร์ต่อเดือนหรือ 100 ดอลลาร์ต่อปี โดยมันมีสามารถในการแนะนำโค้ดบรรทัดถัดไปเมื่อนักพัฒนาทำการเขียนโค้ดในโปรแกรมจำพวก integrated development environment (IDE) เช่น Visual Studio Code, Neovim และ JetBrains IDE. นอกจากนั้น Copilot ยังสามารถแนะนำวิธีการเขียนโค้ดที่สมบูรณ์ อัลกอริทึมที่ซับซ้อนควบคู่ไปกับโครงสร้างของโปรแกรม และให้ความช่วยเหลือเกี่ยวกับการทดสอบโค้ดแบบ unit testing อีกด้วย

GitHub Copilot ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ ตั้งแต่เพียงไม่กี่วันหลังจากเปิดตัวตัวอย่าง โดยมีคำถามเกี่ยวกับความถูกต้องตามกฎหมายของตัว Copilot ที่ได้รับการฝึกโมเดลจากโค้ดที่เผยแพร่แบบสาธารณะบน GitHub นอกเหนือจากประเด็นด้านลิขสิทธิ์แล้ว มีผลการศึกษาชิ้นหนึ่งยังพบว่าประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ของผลลัพธ์ของ Copilot มีช่องโหว่ด้านความปลอดภัย

อย่างไรก็ตาม Microsoft ไม่ใช่บริษัทเดียวที่ทำงานเกี่ยวกับเครื่องมือ AI เพื่อช่วยในการเขียนโค้ด ปีที่แล้ว DeepMind ที่ Google เป็นเจ้าของได้เปิดเผยระบบ AI ชื่อ AlphaCode ที่ออกแบบมาเพื่อเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ “ในระดับที่สามารถแข่งขันได้” โดย AlphaCode ได้ถูกทดสอบกับ Codeforces ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มแข่งขันสำหรับการเขียนโค้ด และได้ถูกจัดให้อยู่ในอันดับมากกว่า 54 เปอร์เซ็นต์ของผู้เขียนโค้ด(ที่เป็นมนุษย์) ซึ่งสำหรับการแข่งขันเขียนโค้ดจะเป็นความท้าทายที่แตกต่างจากสิ่งที่ผู้เขียนโค้ดทั่วไปต้องเผชิญ แต่พวกเขาแสดงให้เห็นว่าระบบการเขียนโค้ดด้วย AI สามารถช่วยเหลือผู้เขียนโค้ดได้อย่างไรในอนาคต

อ้างอิง : https://www.theverge.com/2022/6/21/23176574/github-copilot-launch-pricing-release-date

“Unified-IO” ระบบ AI ที่ทำงานได้หลากหลาย

Allen Institute for AI (AI2) เป็นหน่วยงานภายใต้ Allen Institute ที่ไม่แสวงหากำไร มุ่งเน้นไปที่การวิจัย machine learning ได้ออกมาเผยแพร่ผลงานเกี่ยวกับระบบ AI ที่เรียกว่า Unified-IO ซึ่งกล่าวว่าชุดงาน AI Unified-IO สามารถประมวลผล สร้างภาพ ข้อความ และข้อมูลที่มีโครงสร้างอื่นๆ โดยทีมวิจัยกล่าวว่าเป็นการสร้างระบบ AI เพื่อให้ใช้งานได้อเนกประสงค์ในระบบเดียว

ในช่วงแรก AI2 สร้างระบบ AI ที่นำไปสู่ ​​GPV-1 และ GPV-2 ซึ่งเป็นระบบ “ภาษาการมองเห็น” (vision-language) วัตถุประสงค์ทั่วเพื่อทำคำบรรยายภาพและการตอบคำถาม

ระบบ AI ทั้งหมดของ Unified-IO ได้เรียนรู้จากตัวอย่าง การนำเข้าคำนับพันล้านคำ รูปภาพ และอื่นๆในรูปแบบของtokens ซึ่งtokensเหล่านี้ทำหน้าที่แทนข้อมูลในลักษณะที่ Unified-IO สามารถเข้าใจได้

Unified-IO แสดงให้เห็นว่าการแปลง output ที่มีโครงสร้างที่หลากหลาย เช่น รูปภาพ, binary masks, bounding box, ชุดของข้อมูลที่สำคัญ, แผนที่ระดับสีเทาและอื่นๆ เป็นลำดับของโทเค็นที่เป็นเนื้อเดียวกัน แต่บางระบบของ Unified-IO ยังไม่สามารถวิเคราะห์หรือสร้างวิดีโอและเสียงได้ ซึ่งเป็นข้อจำกัดของโมเดลนี้ แต่สิ่งที่ Unified-IO สามารถทำได้คือ การสร้างภาพ การตรวจจับวัตถุภายในภาพ การประเมินความลึก การถอดความเอกสาร และการเน้นพื้นที่เฉพาะภายในภาพถ่าย

นักวิจัย AI2 จึงมองว่า Unified-IO เป็นระบบ AI ที่เป็นจุดเเข็งสำหรับการทำงานในอนาคต และได้มีการวางแผนที่จะปรับปรุงประสิทธิภาพของระบบโดยการเพิ่มการสนับสนุนรูปแบบต่างๆ เช่น เสียงและวิดีโอ และขยายขนาดเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพ

ผลงานล่าสุด เช่น Imagen และ DALL-E2 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าUnified-IO ช่วยให้สามารถฝึกโมเดลมัลติทาสก์ขนาดใหญ่ได้ ในอนาคตควรมีการขยายขนาดข้อมูลและแบบจำลองอย่างมากเพื่อนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ดีขึ้น

อ้างอิง : https://techcrunch.com/2022/06/17/unified-io-is-an-ai-system-that-can-complete-a-range-of-tasks-including-generating-images/

ทดสอบรถถังหุ่นยนต์รบ Type-X ควบคุมด้วยปัญญาประดิษฐ์

ปัจจุบันเทคโนโลยีด้านการทหารถูกพัฒนาขึ้นมาอย่างรวดเร็ว โดยมีการทำเทคโนโลยีหุ่นยนต์เข้ามาใช้งานเพิ่มมากขึ้น ล่าสุดบริษัทมิลเรม โรโบติก (Milrem Robotics) ร่วมกับบริษัทคอนสเบิร์ก (Kongsberg Defence & Aerospace) ทำการทดสอบรถถังหุ่นยนต์รบ Type-X หรือ Robotic Combat Vehicle (RCV) ควบคุมด้วยปัญญาประดิษฐ์หรือสลับเป็นการควบคุมโดยมนุษย์ ขึ้นอยู่กับรูปแบบการปฏิบัติภารกิจ

ภารกิจหลักของรถถังหุ่นยนต์รุ่นนี้ คือ การสนับสนุนการต่อสู้ให้กับรถถังหลักขนาดใหญ่ (Main Battle Tanks) และการยิงสนับสนุนทหารราบ (Infantry Fighting Vehicles) ด้วยขีดความสามารถของปืนใหญ่และไม่จำเป็นต้องใช้พลทหารประจำด้านในรถถังจึงลดการสูญเสียกำลังพลในสงครามลงได้

รถถังหุ่นยนต์รบ Type-X ได้รับการออกแบบด้วยเทคโนโลยีใหม่ล่าสุด ระบบขับเคลื่อนแบบไฮบริดพลังงานเชื้อเพลิงน้ำมันดีเซลผสมพลังงานไฟฟ้า รองรับการปฏิบัติภารกิจได้หลายรูปแบบ โครงสร้างของรถถังหุ่นยนต์มีขนาดเล็กกว่ารถถังหลักที่ประจำการในกองทัพต่าง ๆ เล็กน้อย โดยมีความยาวของรถถัง 6 เมตร ความกว้าง 2.9 – 2.2 เมตร น้ำหนักตัวรถ 12 ตัน น้ำหนักบรรทุกอาวุธ 4.1 ตัน ขับเคลื่อนด้วยล้อสายพานทำความเร็วบนถนนสูงสุดได้ 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ทำความเร็วสูงสุดบนสภาพภูมิประเทศทั่วไป 50 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ติดตั้งเกราะกันกระสุนปืนใหญ่และระบบป้องกันทุ่นระเบิด

นอกจากติดตั้งปืนใหญ่ขนาด 25-50 มม. ด้านบนของรถถังยังสามารถปรับเปลี่ยนเป็นเครื่องยิงจรวดหลายลำกล้องแบบ Multi Canister Launcher ยิงจรวดได้สองรูปแบบ คือ Hero-120 จรวดต่อต้านรถถังและ Hero-400EC โดรนบินยิงทำลายเป้าหมายระยะไกล สำหรับระบบการควบคุมรถถังปืนใหญ่สามารถควบคุมได้จากระยะห่าง 40 กิโลเมตร ในพื้นที่ปลอดภัยจากแนวหน้าของสมรภูมิ

อ้างอิง : https://www.tnnthailand.com/news/tech/117050/

JWD ใช้ระบบ AI เพิ่มศักยภาพสู่ Smart Warehouse

นายชวนินทร์ บัณฑิตกฤษดา ประธานกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เจดับเบิ้ลยูดี อินโฟ โลจิสติกส์ จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทฯ มุ่งยกระดับธุรกิจให้บริการคลังสินค้าสู่การเป็น “ผู้นำคลังสินค้าโรโบติกส์” โดยหลังจากได้นำเทคโนโลยีโรโบติกส์เข้ามาใช้กับคลังสินค้าห้องเย็น เพื่อเพิ่มขีดความสามารถจัดเก็บสินค้า แก้ไขปัญหาแรงงานขาดแคลน เพิ่มความรวดเร็ว แม่นยำ ปลอดภัย ลดการใช้พลังงานไฟฟ้า บริษัทฯ ได้ขยายการลงทุนคลังสินค้าโรโบติกส์อย่างต่อเนื่อง ทั้งในกลุ่มคลังสินค้าห้องเย็นและขยายไปยังคลังจัดเก็บเอกสาร DataSafe ภายใต้เครือ JWD Group ซึ่ง JWD นับเป็นผู้ประกอบการรายแรกในประเทศไทยที่ให้บริการคลังสินค้าจัดเก็บเอกสารโรโบติกส์

บริษัทฯ มีแผนพัฒนาคลังสินค้าโรโบติกส์อย่างต่อเนื่องเพื่อเพิ่มศักยภาพเป็น Smart Warehouse (คลังสินค้าอัจฉริยะ) โดยนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) และนวัตกรรมทางเทคโนโลยีอื่น ๆ เข้ามาปรับใช้ในกระบวนการทำงานอื่นนอกจากการจัดเก็บสินค้า ปัจจุบันได้เริ่มทดลองเชื่อมต่อเทคโนโลยี AI เข้ากับกล้องเพื่อจับภาพสินค้าอาหารทะเลบนสายพานลำเลียงเพื่อทำการคัดแยกสายพันธุ์ปลาแทนการใช้แรงงานคัดแยก โดยบริษัทฯ ได้พัฒนาระบบกล้องให้รองรับการเชื่อมต่อกับกิจกรรมดังกล่าวและดำเนินการขอจดอนุสิทธิบัตรจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา รวมถึงนำระบบแชทบอท (Chat Bot) เข้ามาปรับใช้เป็นพี่เลี้ยงฝึกอบรมพนักงาน ติดตามพนักงานใหม่ที่เข้าทำงาน และต่อยอดสู่การพัฒนาข้อมูลด้านอื่น ๆ

นอกจากนี้ ได้นำเทคโนโลยีโรโบติกส์มาใช้กับกระบวนการทำงานอื่น ๆ ภายในคลังสินค้าห้องเย็น เช่น การจัดเรียงสินค้าบนรถเข็นก่อนนำเข้าห้องฟรีซที่มีอุณหภูมิ -40 องศาเซลเซียส เป็นต้น รวมถึงนำเทคโนโลยีดังกล่าวไปใช้กับคลังสินค้าห้องเย็น Fulfillment ในย่านบางนา ที่มีบริการจัดเก็บ แพ็ก ส่ง อย่างครบวงจรแก่ลูกค้า ที่เตรียมเปิดให้บริการในไตรมาส 4 ของปีนี้ มีพื้นที่จัดเก็บสินค้า 2,000 ตารางเมตร ซึ่งจะเพิ่มขีดความสามารถการให้บริการและสร้างความแตกต่างจากผู้ให้บริการรายอื่น ๆ ในตลาด

อ้างอิง : https://www.infoquest.co.th/2022/209499

—————————————————————————————-

ทั้งหมดเป็นข่าวที่น่าสนใจใน 17 – 23 มิถุนายน 2565 พบกันใหม่ในสัปดาห์หน้านะคะ : )

หากมีข้อสงสัย ติชมสามารถ ติดตามและสอบถามได้ที่
 : AIไทยสามารถ โดย AI for all Thailand



เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึก