ข่าว AI รอบโลก – สัปดาห์ที่ 5 เดือนมิถุนายน 2022

ข้อมูลสังเคราะห์” เทรนด์ต่อไปสำหรับ AI !

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว Microsoft Corp. กล่าวว่าจะหยุดขายซอฟต์แวร์ที่คาดเดาอารมณ์ของบุคคลโดยดูที่ใบหน้าของพวกเขาซึ่งเหตุผลที่ทำให้พวกเขาหยุดขายซอฟต์แวร์นั้นอาจเป็นปัญหาการเลือกปฏิบัติ (discrimination) ของโมเดลการทำนาย การตัดสินใจของ Microsoft ในการหยุดระบบทั้งหมดเป็นวิธีหนึ่งในการจัดการปัญหาดังกล่าว แต่มีแนวทางใหม่อีกประการหนึ่งที่บริษัทเทคโนโลยีหลายแห่งกำลังทำการศึกษา นั่นคือ การเทรน AI โดยใช้รูปภาพ “สังเคราะห์” เพื่อลดปัญหาอคติ (bias) ของตัว AI ให้น้อยลง

แนวคิดนี้คล้ายกับการฝึกนักบินโดยแทนที่จะฝึกซ้อมการบินในสภาพจริงที่คาดเดาไม่ได้ นักบินใหญ่จะใช้เวลาหลายร้อยชั่วโมงโดยผ่านการจำลองการบินที่ออกแบบมาเพื่อครอบคลุมสถานการณ์ต่างๆ ที่อาจพบได้ในเหตุการณ์จริง โดยในขณะนี้ผู้ผลิต AI จำนวนมากใช้ภาพปลอมหรือภาพ “สังเคราะห์” เพื่อฝึกคอมพิวเตอร์ให้รู้จัก โทนสีผิว อายุ หรือคุณสมบัติอื่นๆ ที่กว้างขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นการพลิกความคิดที่ว่า “ข้อมูลปลอมนั้นไม่ดี” และแนวโน้มนี้นั้นแพร่หลายมากจนมีการประมาณการว่า 60% ของข้อมูลทั้งหมดที่ใช้ในการฝึก AI จะถูกสังเคราะห์ภายในปี 2024 และจะทดแทนข้อมูลจริงสำหรับการฝึกอบรม AI ภายในปี 2030

Datagen Technologies ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองเทลอาวีฟ ประเทศอิสราเอล เป็นหนึ่งในบริษัทที่ใช้ข้อมูลแบบสังเคราะห์ในการออกแบบกราฟิก 3D โดยแอนิเมชันสไตล์ CGI ของพวกเขาจะช่วยฝึกระบบรถให้ตรวจจับอาการง่วงนอนของคนขับได้ Gil Elbaz ผู้ร่วมก่อตั้ง Datagen สตาร์ทอัพข้อมูลสังเคราะห์ กล่าวว่า ผู้ผลิตรถยนต์ได้ฝึกฝนเซนเซอร์ของพวกเขาในอดีตโดยการถ่ายทำนักแสดงที่แกล้งหลับขณะจับพวงมาลัย แต่ก็มีปัญหาเรื่องจำนวนชุดข้อมูลที่จำกัดและวิดีโอยังต้องถูกส่งไปให้ผู้รับเหมาในประเทศอื่น ๆ เพื่อทำการ label ข้อมูลซึ่งอาจใช้เวลาหลายสัปดาห์ ซึ่ง Datagen ได้สร้างแอนิเมชันหลายพันแบบของคนประเภทต่างๆ ที่ผล็อยหลับไปบนพวงมาลัยด้วยวิธีต่างๆ แม้ว่าแอนิเมชันจะดูไม่สมจริงสำหรับมนุษย์ แต่ Elbaz กล่าวว่าปริมาณข้อมูลที่มากขึ้นทำให้เซนเซอร์ในรถยนต์มีความแม่นยำมากขึ้น

อาจฟังดูแปลกแต่การเติบโตของข้อมูลสังเคราะห์เป็นขั้นตอนในทิศทางที่ถูกต้องไม่ใช่เพียงเพราะการเลี่ยงการใช้ข้อมูลส่วนบุคคลของผู้คน แต่มันอาจเปลี่ยนแปลงรูปแบบการขายข้อมูลในปัจจุบันได้อีกด้วย ตัวอย่างเช่น ผู้ค้าปลีกสามารถสร้างรายได้เสริมโดยการขายข้อมูลสังเคราะห์เกี่ยวกับพฤติกรรมการซื้อของลูกค้า ซึ่ง Fernando Lucini ผู้นำระดับโลกด้านวิทยาศาสตร์ข้อมูลและ machine learning ของ Accenture Plc ได้กล่าวว่า “ผู้นำธุรกิจจำเป็นต้องศึกษาเกี่ยวกับข้อมูลสังเคราะห์บ้างแล้ว”

อย่างไรก็ตาม Julien Cornebise รองศาสตราจารย์กิตติมศักดิ์ด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ที่ University College London กล่าวไว้ว่า ข้อมูลสังเคราะห์จะไม่สามารถขจัดอคติ (bias) ได้โดยทั้งหมด “อคติไม่ได้อยู่ที่ข้อมูลเท่านั้น แต่มันยังอยู่ในคนที่พัฒนาเครื่องมือเหล่านั้นด้วยสมมติฐานทางวัฒนธรรมของพวกเขาและนั่นเป็นกรณีของทุกสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น”

อ้างอิง : https://www.bloomberg.com/opinion/articles/2022-06-27/ai-is-using-fake-data-to-learn-to-be-less-discriminatory-and-racist#xj4y7vzkg

AI Plus Wearable Sensor อาจตรวจพบเชื้อ COVID-19 ได้ก่อนมีอาการ

อัลกอริทึม AI อาจสามารถประมวลผลข้อมูลสุขภาพจากอุปกรณ์สวมใส่พกพา(Wearable) เช่น Smart Watch ที่สวมใส่เพื่อตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาของร่างกายเพื่อค้นหาและระบุว่าผู้สวมใส่ติดเชื้อ COVID-19 ได้ก่อนที่จะแสดงอาการของโรค

เทคโนโลยี Wearable sensor สามารถอำนวยความสะดวกในการตรวจหา COVID-19ก่อนแสดงอาการ โดยได้เผยแพร่ข้อมูลออนไลน์ในวันที่ 21 มิถุนายนในงาน BMJ Open

กรรมการผู้จัดการ Martin Risch จาก Dr. Risch Medical Laboratory ในเมืองวาดุซ ประเทศลิกเตนสไตน์ และเพื่อนร่วมงานได้ทำการศึกษาและวิเคราะห์กลุ่มประชากรที่ติดเชื้อ COVID-19 ที่มีอาการ เพื่อตรวจสอบการระบุการติดเชื้อ COVID-19 ด้วยการเรียนรู้ด้วยเครื่องมือ Wearable sensor โดยผู้เข้าร่วมทั้งหมด 1,163 คนสวม Ava-bracelet ที่สามารถวัดอัตราการหายใจ (RR), อัตราการเต้นของหัวใจ (HR), ความแปรปรวนของชีพจร (HRV), อุณหภูมิผิวข้อมือ (WST) และภาวะการไหลเวียนที่กระจายบนผิวหนังทุกคืน โดยทำการเก็บบันทึกข้อมูลเหล่านี้เป็นเวลา 1.5 ล้านชั่วโมง

นักวิจัยพบว่า ผู้ที่สวมใส่ Wearable sensor ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงเริ่มแสดงอาการ AI ทำการการวิเคราะห์และพบการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในอัตราส่วนของ อัตราการหายใจ, อัตราการเต้นของหัวใจ , ความแปรปรวนของชีพจร, และอุณหภูมิผิวข้อมือ สังเกตพบความผิดปกติระหว่างระยะฟักตัว ระยะก่อนแสดงอาการ ระยะแสดงอาการ และระยะพักฟื้นของ COVID-19 ที่สัมพันธ์กับการตรวจวัดจากค่าพื้นฐาน

ทีมนักวิจัยจึงกล่าวว่า “การวิจัยของเราแสดงให้เห็นว่าอุปกรณ์เหล่านี้เมื่อพัฒนาร่วมกับปัญญาประดิษฐ์สามารถขยายขอบเขตของการรักษาเฉพาะรายบุคคล เนื่องจากสามารถตรวจหาโรคก่อนที่จะเริ่มมีอาการได้ ซึ่งอาจช่วยลดการแพร่เชื้อไวรัสในชุมชน”

อ้างอิง : https://consumer.healthday.com/wearable-sensor-technology-can-detect-presymptomatic-covid-2657533116.html

ประตูสัตว์เลี้ยงอัตโนมัติ สแกนหน้าสัตว์เลี้ยง ด้วยระบบ AI

สำหรับใครที่เลี้ยงสัตว์ แบบระบบเปิด คงเคยเจอปัญหาสัตว์เลี้ยงของเราเข้าบ้านไม่ได้ เรามักแก้ปัญหาโดยการติดตั้งประตูสำหรับสัตว์เลี้ยง แบบที่เห็นต่างประเทศใช่กันบ่อยๆ แต่บางครั้งก็มีสัตว์ไม่ได้รับเชิญแอบเข้ามาในบ้านได้เหมือนกัน

ซึ่งปัจจุบัน ได้มีการนำระบบ AI เข้ารวมกับประตูสำหรับสัตว์เลี้ยง ด้วยระบบ สแกนใบหน้า ที่สามารถทำได้กับสัตว์แล้ว ซึ่งประตูสัตว์เลี้ยงอัตโนมัติ เป็นประตูที่สามารถจำแนกใบหน้าของสัตว์เลี้ยงได้อย่างถูกต้องและแม่นยำ ประตูสัตว์เลี้ยงอัตโนมัตินี้ ออกแบบโดย จาวิส ซีจิน (Javis Sijin) ภายใต้แบรนด์ที่ชื่อว่า เพทเวชัน (Petvation)

โดยการทำงานของประตูสัตว์เลี้ยงอัตโนมัติ มีเซนเซอร์หลักเป็นกล้องอินฟราเรดที่ มองเห็นได้ 120 องศา มองเห็นในที่มืด โดยมีเครื่องตรวจจับการเคลื่อนไหว เพื่อที่ประตูจะปิดหลังจากที่สัตว์เลี้ยงเข้ามาในบ้านกันหมดทุกตัว และ ยังมีเซนเซอร์ กันการหนีบสัตว์เลี้ยงของเรา สามารถตรวจจับวัตถุที่มี ขนาดเล็กถึง 0.2 นิ้ว มั่นใจได้เลยว่า สัตว์เลี้ยงของเราจะไม่ได้รับอันตราย โดยยังสามารถอ่านได้ว่าเป็นสัตว์ชนิดไหน เพื่อกันไม่ให้สัตว์ตัวอื่นเข้ามาในบ้าน เช่น งู หรือตัวเงินตัวทอง และเรายังสามารถควบคุมทุกอย่าง เช่นเวลาเปิดปิดของประตู เมื่อมีการทำงานของประตูสัตว์เลี้ยงอัตโนมัติ จะมีการแจ้งเตือนทุกครั้ง ผ่านแอปพลิเคชันในโทรศัพท์ของเรา

ประตูสัตว์เลี้ยงอัตโนมัติ จะมีความกว้างอยู่ที่ 25.4 เซนติเมตร และความยาวอยู่ที่ 40.6 เซนติเมตร ผลิตจาก อะลูมิเนียมอัลลอยด์ ที่มีความแข็งแรง และยังสามารถกันน้ำได้ในส่วนของการติดตั้ง สามารถติดได้กับประตูที่มีความหนา 20-185 มิลลิเมตร ซึ่งต้องการไฟฟ้าที่แรงดัน 12 โวลต์ขึ้นไปและสามารถใช้งานกับ Power Bank ในกรณีไฟดับ

ซึ่งสิ่งนี้ถือเป็นสิ่งที่น่าสนใจไม่น้อยสำหรับ ทาสหมาทาสแมว เพราะเราสามารถควบคุมเวลาเข้าออกของสัตว์เลี้ยงของเราได้ และยังป้องกันมีสัตว์แปลกปลอมแอบเข้ามาในบ้านได้อีกด้วย

อ้างอิง : https://www.springnews.co.th/digital/826292

Alexa ลำโพงอัจฉริยะ “เลียนเสียงคนที่ล่วงลับไปแล้ว”

ลำโพงอัจฉริยะ Alexa คิดค้นฟีเจอร์ที่แสดงให้เห็นถึงความสามารถของเทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยเติมเต็มชีวิตของผู้คน โดยการพัฒนาฟังก์ชันใหม่ล่าสุดที่สามารถเลียนแบบเสียงผู้ล่วงลับให้กลับมาอีกครั้งได้

บริษัทแอมะซอน (Amazon) ยักษ์ใหญ่ของประเทศสหรัฐฯ ที่ทำงานคล้ายกับ Siri หรือ Google ได้ผลิตลำโพง Alexa ซึ่งเป็นลำโพงอัจฉริยะโดยได้พัฒนามาหลากหลายรุ่นแล้ว โดยปกติ Alexa สามารถสั่งการและตอบโต้ได้หลากหลาย เช่น เปิดเพลง เปิดไฟ และสั่งการอื่นๆในรูปแบบ AI แต่ปัจจุบันทีมผู้พัฒนาได้เพิ่มฟังก์ชันใหม่เข้าไปในตัว Alexa ที่จะทำให้เลียนแบบเสียงผู้ล่วงลับไปแล้วได้ โดยทีมผู้พัฒนาได้ใช้การแปลงเสียงให้คล้ายคลึงที่สุด และทำได้ในเวลาเพียง 1 นาที และได้กล่าวถึงเทคโนโลยีนี้ว่าคือ “คือตัวอย่างความสุดยอดของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์”

ในการเปิดตัวได้มีการแสดงตัวอย่างเสียงอ่านนิทานก่อนนอนของคุณยายที่ล่วงลับไปแล้วให้เด็กคนหนึ่งฟัง ซึ่งทำให้เห็นว่าความฝัน นิยาย และวิทยาศาสตร์เป็นความจริง เพราะนั่นเปรียบเหมือนการได้ปลุกคุณยายจากการหลับชั่วนิรันดร์

การพัฒนาครั้งนี้ของ Alexa ทำให้เราได้เห็นประสิทธิภาพของ AI หรือปัญญาประดิษฐ์ที่สามารถเรียนรู้และต่อยอดได้อย่างน่าตื่นเต้น และในอนาคตปัญญาประดิษฐ์จะเข้ามามีส่วนร่วมกับชีวิตผู้คนอีกมากมาย ทั้งการใช้ชีวิตและการพัฒนาต่อยอดทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ฟีเจอร์ของ Alexa นี้ยังไม่เปิดตัวอย่างเป็นทางการว่าจะใช้ได้เมื่อไร แต่ด้วยฟีเจอร์อันชาญฉลาดเหล่านี้จะสามารถเข้ามาช่วยเติมเต็มชีวิตผู้คนที่สูญเสียคนที่รักไปให้หายคิดถึง และรู้สึกอบอุ่นใจเมื่อได้ยินเสียงที่คุ้นเคยของคนในครอบครัวที่จากไปเป็นเวลานาน

อ้างอิง : https://www.springnews.co.th/digital/826425

AI สุดทรหดดูคนเล่นเกม Minecraft บนยูทูบไปแล้วกว่า 40,000 ชั่วโมง เพื่อที่มันจะได้เล่นเองเป็น !

คุณจะรู้หรือไม่ AI เขาจ้องจะเล่น (กับ) คุณ ! ปัญญาประดิษฐ์ หรือสิ่งที่เราเรียกง่าย ๆ ว่า AI ซึ่งเป็นการประมวลผลอันลึกล้ำของคอมพิวเตอร์ให้รู้จักคิด วิเคราะห์ และแก้ไขปัญหาเองเพื่อนำมาเป็นประโยชน์ในหลาย ๆ ด้านของมนุษย์ แต่ตามข้อมูลที่ได้รับมาดูเหมือนว่าจะมีเจ้า AI ตัวหนึ่งใช้เวลานั่งดูยูทูบไปกว่า 40,000 ชั่วโมง กับเกมเอาชีวิตรอด Minecraft สุดคลาสสิคเพื่อที่มันจะได้ศึกษาวิธีการเอาไว้เล่นเอง

OpenAI บริษัทเจ้าของและผู้พัฒนาปัญญาประดิษฐ์ดังกล่าวได้ลงวิดีโอในทวิตเตอร์แสดงให้เราเห็นถึงความสามารถของเจ้าสมองกลตามข้างต้นที่กล่าวมา เล่นเกม Minecraft เสมือนกับเป็นคนเล่นเองจริง ๆ โดยฝึกเล่นผ่านการดูวิดีโอบนยูทูบเท่านั้น ซึ่งมันน่าตกใจมากเมื่อการเล่นของมันทำแทบทุกอย่างเป็นเหมือนคนเล่นปกติ ทั้งตัดไม้ คราฟต์โต๊ะเครื่องช่าง ว่ายน้ำ ขุดเหมือง และหาเพชรเพื่อมาสร้างอุปกรณ์ !

ถึงแม้ตัวปัญญาประดิษฐ์นี้จะยังทำไม่ได้ถึงขั้นสร้างบ้านหรือสิ่งสวยงามเหมือนผู้เล่นปกติ แต่มันก็แสดงให้เห็นถึงความเจริญและการก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ซึ่งบางทีผู้เล่นเกม Minecraft ใหม่ ๆ แรกเริ่มอาจต้องใช้เวลากว่าในวิดีโอด้วยซ้ำกว่าจะค้นหาเพชรเจอ ดังนั้นบางทีโลกอนาคตที่เรามี AI เป็นเพื่อนมนุษย์คงอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม

อ้างอิง : AI สุดทรหดดูคนเล่นเกม Minecraft บนยูทูบไปแล้วกว่า 40,000 ชั่วโมง เพื่อที่มันจะได้เล่นเองเป็น ! (gamefever.co)

AI ตรวจจับฟันผุ

ปัญญาประดิษฐ์ (AI) สามารถช่วยทันตแพทย์ในการประเมินภาพในช่องปากได้ เช่น การตรวจจับฟันผุ โดยคุณ Falk Schwendicke จาก Universitaetsmedizin Berlin ประเทศเยอรมนี ได้นำเสนอในงาน The Interactive Talk presentation ที่จัดขึ้นที่ประเทศจีน ถึงการศึกษาการตรวจสอบความคุ้มค่าของการตรวจหาฟันผุเบื้องต้นโดยใช้ AI โดยในการทดลองที่มีกลุ่มเปรียบเทียบ ผลการวิจัยพบว่าในการตรวจหารอยโรคฟันผุในระยะแรก ทันตแพทย์สามารถ detect โรคฟันผุได้รวดเร็วเมื่อใช้ AI อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจในการรักษาเป็นตัวกำหนดความคุ้มค่าตลอดอายุการใช้งาน

อย่างไรก็ตาม หากรอยโรคในระยะแรกๆ ที่ตรวจพบทั้งหมดได้รับการรักษาโดยการที่ไม่ใช้ AI ในการ detect การรักษาจะมีต้นทุนที่ต่ำกว่าการไม่ใช้ AI เเต่เมื่อเทียบกับประสิทธิภาพในการรักษา การใช้ AI ในการตรวจหาฟันผุนั้นน่าจะคุ้มค่ามากกว่า นอกจากนี้ในอนาคต AI ไม่เพียงแค่ตรวจหาฟันผุเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการวางแผนจัดการรอยโรคฟันผุตามที่ตรวจพบตามมาด้วย

อ้างอิง :  https://www.news-medical.net/news/20220626/Study-examines-the-cost-effectiveness-of-AI-supported-detection-of-proximal-caries.aspx

Instagram ทดสอบการยืนยันอายุด้วยใบหน้าผ่านระบบ AI

Instagram เริ่มทดสอบการเปิดตัวฟีเจอร์ใหม่ล่าสุด การยืนยันตัวด้วยใบหน้าที่สามารถเช็กอายุของผู้ใช้ได้ผ่านการสแกนและวิเคราะห์ด้วยปัญญาประดิษฐ์หรือระบบ AI ถ้ามีผู้ปลอมแปลงหรือแก้ไขอายุจะไม่สามารถทำได้ เนื่องจากทางอินสตาแกรมจะบังคับให้ยืนยันตัวตนผ่านสามช่องทาง คือ

1.การอัปโหลดบัตรประชาชนหรือใบขับขี่ โดยข้อมูลจะถูกเก็บไว้อย่างปลอดภัยบนเซิร์ฟเวอร์และจะถูกลบออกภายใน 30 วัน

2.การบันทึกวิดีโอเซลฟี่ หรือที่เราได้เคยทำกันบนแอปพลิเคชันของประเทศไทย “เป๋าตัง” ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่คล้ายกัน คือทางแอปฯไม่ได้เก็บข้อมูลภาพหรือวีดีโอไว้ ด้วยเทคโนโลยีของ Yoti จะสามารถประเมินอายุของคุณโดยพิจารณาจากลักษณะใบหน้า

3.Social Vouching หรือการยืนยันอายุกับเพื่อนของคุณ โดยระบบจะให้คุณถามผู้ติดตามที่มีร่วมกันเพื่อยืนยันว่าคุณอายุเท่าไหร่ บุคคลที่ให้การรับรองต้องมีอายุอย่างน้อย 18 ปี จะต้องไม่รับรองบุคคลอื่นในขณะนั้น และจะต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันอื่นๆ โดยต้องใช้คนยืนยันถึง 3 คน

ทั้งนี้ได้ร่วมมือกับ Yoti ซึ่งเป็นบริษัทที่เชี่ยวชาญด้านการตรวจสอบอายุทางออนไลน์ เพื่อช่วยรับรองความเป็นส่วนตัวของผู้คน ในขณะนี้ทางอินสตาแกรมได้กำหนดให้ผู้ใช้มีอายุ 13 ปีขึ้นไปจึงจะใช้ได้ และทางแพลตฟอร์มยังได้มอบความเป็นส่วนตัวให้กับวัยรุ่น เช่น สามารถตั้งค่าเป็นบัญชีส่วนตัวได้ หรือป้องกันการติดต่อผู้ที่ไม่ต้องการให้เข้ามาดู
หากเลือกที่จะอัปโหลดวิดีโอเซลฟี่เพื่อยืนยันอายุ Meta และ Yoti จะลบทิ้ง เมื่ออายุของคุณได้รับการยืนยัน หากคุณเลือกที่จะอัปโหลด ID หลังจากที่คุณส่งสำเนา ID สำเนานั้นจะถูกเข้ารหัสและจัดเก็บไว้อย่างปลอดภัย

ข่าวอัปเดตนี้ก็ทำให้เราเห็นว่าเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์สามารถทำให้สื่อโซเชียลเข้าใจอายุและสื่อที่เหมาะสมมากยิ่งขึ้น เช่น วัยรุ่นควรได้รับสื่อ โฆษณา คอนเทนต์แบบใดและไม่ควรรับสื่อเหมือนวัยผู้ใหญ่ และนี่ก็เป็นอีกหนึ่งประโยชน์ของเทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยจัดแจงและคัดกรองให้กลุ่มวัยรุ่นได้รับข้อมูลที่เหมาะสมมากยิ่งขึ้นในโลกของโซเชียลมีเดียในปัจจุบัน

อ้างอิง : https://www.springnews.co.th/digital/826475

งานวิจัยตรวจหาไก่ป่วยด้วยเสียงแม่นยำถึง 97%

มีงานวิจัยใหม่ชี้ให้เห็นว่าเทคโนโลยีซึ่งตรวจจับและวัดปริมาณเสียงที่แสดงถึงอาการป่วยของไก่ที่อยู่ในโรงเรือนในร่มขนาดใหญ่สามารถแยกความแตกต่างของเสียงเหล่านั้นจากเสียงอื่น ๆ ได้อย่างถูกต้องด้วยความแม่นยำถึง 97%

ในแต่ละปี มีการเลี้ยงไก่ประมาณ 25 พันล้านตัวทั่วโลก หลายตัวอยู่ในเพิงขนาดใหญ่ แต่ละคอกนั้นมีไก่หลายพันตัว วิธีหนึ่งในการประเมินสุขภาพความเป็นอยู่ของไก่เหล่านั้นคือการฟังเสียงของพวกมัน ตามทฤษฎีแล้ว ชาวนาสามารถใช้เสียงร้องของไก่เพื่อวัดระดับความเครียดของพวกมัน และเพิ่มคุณภาพการอยู่อาศัยของพวกมันได้เมื่อจำเป็น อย่างไรก็ตาม ในฝูงไก่ที่เป็นการเลี้ยงเพื่อการค้านั้นมีจำนวนมากเป็นพันหรือหลายหมื่นตัว ฉะนั้นการนำคนไปสังเกตการณ์ไก่ให้ทั่วถึงนั้นเป็นเรื่องที่ทำได้ยากและอีกอย่างก็คือการที่มีคนไปคอยตรวจดูไก่เหล่านั้นตลอดเวลาอาจจะทำให้ฝูงไก่มีความเครียดมากขึ้นได้ รวมไปถึงการหาไก่จำนวนมากที่มีเสียงร้องที่บ่งบอกถึงสัญญาณอาการป่วยของพวกมันในฝูงไก่จำนวนมากขนาดนั้นแทบจะเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เลย

Alan McElligott รองศาสตราจารย์ด้านพฤติกรรมสัตว์และสวัสดิภาพสัตว์ที่ City University of Hong Kong และทีมงานของเขาได้พัฒนาเครื่องมือโดยใช้เทคโนโลยี deep learning เพื่อระบุไก่ที่มีอาการป่วยโดยอัตโนมัติจากเสียงบันทึกของไก่ โดยเครื่องมือนั้นได้รับการฝึกฝนโดยใช้การบันทึกเสียงที่ได้รับการจัดประเภทโดยผู้เชี่ยวชาญเพื่อกำหนดประเภทของเสียงของพวกมัน ซึ่งเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันสามารถพัฒนาเพื่อตรวจสอบสัตว์ในฟาร์มอื่นๆ โดยเฉพาะสุกรหรือไก่งวง ซึ่งมักถูกเลี้ยงในบ้านและมีการใช้เสียง

Royal Society for the Prevention of Cruelty to Animals (RSPCA) ได้กล่าวว่าเทคโนโลยีเช่นนี้มีประโยชน์อย่างมากในการเฝ้าติดตามและปรับปรุงสุขภาพความเป็นอยู่ของสัตว์ในฟาร์ม แต่เราไม่ต้องการเห็นสิ่งนี้มาแทนที่การตรวจสอบทางกายภาพหรือลดการติดต่อระหว่างคนเลี้ยงสัตว์กับสัตว์ เพราะมันอาจจะทำให้คนนั้นสูญเสียทักษะการดูแลสัตว์เหล่านี้ นอกจากนี้ การส่งเสียงแสดงถึงอาการป่วยเป็นเพียงหนึ่งในสิ่งที่บ่งชี้สุขภาพความเป็นอยู่ของพวกมัน ซึ่งมีปัจจัยทางกายภาพอื่นๆ อีกหลายประการ เช่น ความอ่อนแอและการไหม้ที่ขา ซึ่งเกษตรกรควรระวังไว้ด้วย

อ้างอิง : https://www.theguardian.com/science/2022/jun/29/ai-could-improve-welfare-of-farmed-chickens-by-listening-to-their-squawks

ม.มหิดลใช้ AI ช่วยแพทย์วินิจฉัยผู้ป่วย COVID-19 ปอดติดเชื้อ

COVID-19 ในยุคแรก มาพร้อมกับความวิตกกังวลในเรื่องผลกระทบต่อปอด หรือระบบทางเดินหายใจ จนเมื่อมีสายพันธุ์ใหม่ๆ เกิดขึ้นเช่นในปัจจุบัน ก็ยังคงพบอย่างน้อย 1 ใน 3 ของผู้ป่วย COVID-19 มีอาการปอดอักเสบ

โครงการ “RAMAAI” หรือ “ระไม” คือ ผลผลิตของความร่วมมือและตั้งใจจากทีมบุคลากรทางการแพทย์ และทีมผู้เชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยี ที่ไม่ย่อท้อต่อวิกฤติ COVID-19 ที่ทำให้โลกแทบหยุดหมุน โดยมีเป้าหมายหลักเดียวกัน คือ เพื่อเป็นตัวช่วยหนึ่งที่ทำให้การวินิจฉัย รักษา โรคปอดอักเสบจาก COVID-19 เป็นไปได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพในช่วงการระบาด อันเป็นภาวะวิกฤติของประเทศ

ในทันทีที่ผู้ป่วย COVID-19 มีอาการที่บ่งชี้ หรือสงสัยภาวะปอดอักเสบ จะถูกส่งถ่ายภาพรังสีเอกซเรย์ เพื่อส่งต่อให้รังสีแพทย์ให้ประกอบการวินิจฉัย ซึ่งหากพบการติดเชื้อที่ปอด ผู้ป่วยจะต้องเปลี่ยนแนวทางการรักษา โดยมุ่งรักษาที่อาการปอดอักเสบก่อนเป็นอันดับแรก

ดังนั้น ขั้นตอนดังกล่าวจึงเป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุด ซึ่งรังสีแพทย์และแพทย์ผู้ให้การรักษาจะรอช้าไม่ได้หากเป็นนาทีวิกฤติแห่งความเป็นและความตาย

ทีมอาจารย์แพทย์ประจำภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี นำโดย อาจารย์ แพทย์หญิงชญานิน นิติวรางกูร ได้ร่วมกับ ภาควิชาระบาดคลินิกและชีวสถิติ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี และภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล สร้างสรรค์และพัฒนา “RAMAAI” ขึ้น เพื่อต่อชีวิตผู้ป่วย ด้วยการนำเอาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาช่วยทำให้รังสีแพทย์ทำงานได้ง่ายขึ้น สะดวกรวดเร็วมากขึ้น ผ่านเว็บไซต์ และ LINE BOT ซึ่งได้ช่วยทำให้โอกาสรอดชีวิตของผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย

โดยสามารถนำไปใช้ทั้งในระบบโรงพยาบาล และแพทย์สนาม พัฒนาขึ้นจากฐานข้อมูลของผู้ป่วยจากทั่วโลก เทียบเคียงกับข้อมูลผู้ป่วยโรงพยาบาลรามาธิบดีที่คอย update อย่างต่อเนื่อง ซึ่งรับรองผลได้ถึงความถูกต้อง และแม่นยำ
สะดวกทั้งในระบบ web-based โดยการนำภาพถ่ายรังสีเอกซเรย์ของผู้ป่วยที่เชื่อมต่อจากห้องถ่ายภาพรังสีเอกซเรย์มาดาวน์โหลดเพื่อให้ AI ในระบบได้ประมวลผล แสดงให้แพทย์ได้ใช้ประกอบการวินิจฉัยได้ในทันที หรือจะส่งภาพปรึกษาผ่าน LINE BOT ก็ย่อมได้

อาจารย์ ดร.สุเมธ ยืนยง อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ดูแลฝ่ายเทคนิค กล่าวเสริมว่า จุดเด่นของ “RAMAAI” อยู่ที่การออกแบบให้ใช้งานง่าย แม้แต่แพทย์ที่ไม่ได้มีความชำนาญเฉพาะด้านรังสีวิทยาก็สามารถใช้งานได้

การทำงานของระบบไม่ได้มุ่งออกแบบเพื่อให้ใช้แทนการวินิจฉัยโดยแพทย์ในระบบปกติ แต่จะใช้เพื่อช่วยแพทย์วินิจฉัย โดยสามารถจำแนกภาพได้ครอบคลุม 3 ประเภท คือ ภาพถ่ายรังสีเอกซเรย์แบบปกติที่ไม่มีลักษณะบ่งชี้ ภาพถ่ายรังสีเอกซเรย์ที่แสดงอาการปอดติดเชื้อจาก COVID-19 และภาพถ่ายรังสีเอกซเรย์ที่แสดงความผิดปกติอื่นๆ

ในอนาคต เพื่อให้เกิดการต่อยอดประยุกต์ใช้นวัตกรรมขยายผลออกไป ทีมวิจัยเตรียมพัฒนา “RAMAAI” ให้สามารถรองรับการวินิจฉัยความผิดปกติทางปอดให้ครอบคลุมถึง 14 กลุ่มโรคหรือความผิดปกติ ได้แก่ โรคถุงลมโป่งพอง โรคมะเร็งปอด โรควัณโรค และโรคหัวใจโต เป็นต้น

ทุกชีวิตมีค่า และจะยิ่งมีความหมาย หากได้ “ช่วยชีวิต เพื่อต่อชีวิต” ให้ได้มีโอกาสอยู่ต่อไปเพื่อทำสิ่งที่ดี มีคุณค่า ต่อสังคมประเทศชาติ และคนรุ่นหลัง ด้วยการใช้เทคโนโลยีได้อย่างเหมาะสม และเกิดประโยชน์ให้ได้มากที่สุด

อ้างอิง : https://www.ryt9.com/s/prg/3335232

บริษัทอวกาศจีนคว้ารางวัลจากการแข่งขัน AI ระดับนานาชาติ

สตาร์.วิชัน แอโรสเปซ กรุ๊ป ลิมิเต็ด (STAR.VISION AEROSPACE GROUP LIMITED) บริษัทนวัตกรรมเทคโนโลยีอวกาศสัญชาติจีน ได้รับรางวัลที่สองจากการแข่งขันการเรียนรู้หลากหลายรูปแบบสำหรับโลกและสภาพแวดล้อม (Multimodal Learning for Earth and Environment หรือ MultiEarth 2022) ในระหว่างการประชุมว่าด้วยคอมพิวเตอร์วิทัศน์และการรู้จำแบบ (Computer Vision and Pattern Recognition หรือ CVPR 2022) ของสถาบันวิศวกรไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์นานาชาติ (IEEE) นอกจากนั้นยังคว้ารางวัลชนะเลิศในการแข่งขันจำแนกพันธุ์พืช “CropHarvest 2022” โดยใช้ชุดข้อมูลทดสอบจากประเทศเคนยา โตโก และบราซิล

การแข่งขัน MultiEarth 2022 ซึ่งจัดโดยเอ็มไอที ลินคอล์น ลาบอราทอรี (MIT Lincoln Laboratory) มุ่งเน้นไปที่การใช้เทคโนโลยีการเรียนรู้ของเครื่อง (Machine Learning) ในการแก้ปัญหาเกี่ยวกับการสังเกตการณ์โลกและสภาพแวดล้อม เช่น การลดลงของป่าฝนแอมะซอน โดยทางผู้จัดการแข่งขันระบุว่า “การทำลายป่าฝนแอมะซอนมีส่วนมากที่สุดที่ทำให้ความหลากหลายทางชีวภาพลดลง เกิดการสูญเสียถิ่นที่อยู่ของสัตว์ รวมถึงเกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเนื่องจากพื้นที่ส่วนมากของป่าเข้าถึงได้ยาก การสำรวจจากระยะไกลด้วยดาวเทียมจึงเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังในการติดตามการเปลี่ยนแปลงของป่าแอมะซอน” ทั้งนี้ การแข่งขันนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อผนึกกำลังนักวิจัยในแวดวงวิชาการ ภาคอุตสาหกรรม และภาคส่วนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อใช้ประโยชน์จากภาพถ่ายจากระยะไกลที่รวบรวมโดยเซนเซอร์มากมายหลายตัว เพื่อประโยชน์ในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

บริษัทสัญชาติจีนแห่งนี้คว้ารางวัลสองประเภทจากการแข่งขัน MultiEarth 2022 ได้แก่ “ความสมบูรณ์ของเมทริกซ์” (matrix completion) และ “การแปลงภาพหลากหลายรูปแบบ” (multimodal image translation) ซึ่งนำเสนอมุมมองใหม่ในการติดตามการเปลี่ยนแปลงของป่าฝนในระยะยาว และช่วยแก้ไข “ปัญหาน่าปวดหัว” ที่มักพบบ่อยในการเก็บภาพถ่ายดาวเทียมแบบออปติคอลเมื่อมีเมฆปกคุลมหนาแน่น

การประชุมว่าด้วยคอมพิวเตอร์วิทัศน์และการรู้จำแบบ (CVPR) ซึ่งได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางว่าเป็นการแข่งขัน AI ที่มีชื่อเสียงที่สุดโลก เป็นกิจกรรมทางเทคนิคซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีโดยสถาบันวิศวกรไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์นานาชาติ (IEEE) สำหรับผู้ที่เคยชนะการแข่งขันนี้มีทั้งบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่อย่างกูเกิล (Google) และอาลีบาบา (Alibaba) รวมถึงองค์กรวิจัยชั้นนำจากทั่วโลก

บริษัทสตาร์.วิชันมีสำนักงานใหญ่อยู่ในนครหางโจวทางตะวันออกของจีน โดยมีความเชี่ยวชาญด้านการวิจัยและพัฒนาดาวเทียมสำรวจระยะไกลเทคโนโลยี AI และบริการประมวลผลข้อมูลทางธุรกิจ บริษัททุ่มเทให้กับการบูรณาการเทคโนโลยี AI สุดล้ำเข้ากับอุตสาหกรรมอวกาศที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างไม่หยุดยั้ง

ดร. หย่าซู่ คัง หัวหน้าทีม AI ของสตาร์.วิชัน กล่าวว่า บริษัทหวังว่าจะใช้เทคโนโลยีอวกาศในการ “พัฒนาโลกจากห้วงอวกาศ” พร้อมกับกล่าวเสริมว่า “ในฐานะบริษัทอวกาศ เราได้เข้าร่วมการแข่งขันชั้นนำระดับนานาชาติเป็นครั้งแรกร่วมกับบริษัท AI ชื่อดังและผู้ที่มีบทบาทสำคัญมากมาย การได้รับรางวัลจึงสร้างกำลังใจให้เราอย่างมาก และทำให้เรามีความมุ่งมั่นมากยิ่งขึ้นในการพัฒนาดาวเทียมสำรวจระยะไกลและการให้บริการด้วยเทคโนโลยี AI”

อ้างอิง : https://www.ryt9.com/s/anpi/3335187

GM บริษัทรถยนต์ชื่อดังลงทุนสตารท์อัพตรวจสอบรถด้วย AI

General Motors (GM) กำลังนำปัญญาประดิษฐ์มาสู่กระบวนการตรวจสอบยานพาหนะของพวกเขา

ผู้ผลิตรถยนต์ชื่อดัง GM กำลังทำการลงทุนในบริษัทสตาร์ทอัพของอิสราเอล UVeye ที่ใช้เซนเซอร์และ AI เพื่อทำระบบตรวจสอบรถยนต์ซึ่งสามารถระบุชิ้นส่วนที่เสียหายหรือระบุปัญหาสำหรับการซ่อมบำรุงต่าง ๆ ได้ โดยการลงทุนใน UVeye ดำเนินการโดย GM Ventures กองทุนร่วมลงทุนของผู้ผลิตรถยนต์ ซึ่งยังได้ลงทุนในสตาร์ทอัพธีม AI อื่นๆ อีกมากมาย

ในส่วนหนึ่งของความร่วมมือนั้น GM จะขายเทคโนโลยีของ UVeye ให้กับเครือข่ายตัวแทนจำหน่ายเพื่ออัปเกรดระบบตรวจสอบยานพาหนะของพวกเขา นอกจากนั้น GM จะทำงานร่วมกับ UVeye ในโครงการเทคโนโลยีการตรวจสอบยานพาหนะที่หลากหลายซึ่งเกี่ยวข้องกับการประมูลรถยนต์ใช้แล้ว การดำเนินการด้านยานพาหนะ และการขายสำหรับตัวแทนจำหน่ายยานยนต์

เทคโนโลยีของ UVeye จะเป็นเหมือนเครื่องสแกนร่างกายที่สนามบินสำหรับรถยนต์ โดยให้รถยนต์ขับผ่านเครื่องสแกนที่มีไฟส่องสว่างด้านใน และภายในไม่กี่นาที จะมีรายงานโดยละเอียดเกี่ยวกับทุกสิ่งที่รถผู้ใช้งานผิดปกติไปจนถึงแรงดันลมยาง ระบบของ UVeye ใช้ปัญญาประดิษฐ์ กล้องความละเอียดสูง และ machine learning เพื่อตรวจสอบยาง ใต้ท้องรถ และด้านนอกของรถเพื่อหาข้อบกพร่อง รวมไปถึงชิ้นส่วนที่หายไป และปัญหาด้านความปลอดภัยอื่นๆ

GM ไม่ได้เป็นเพียงบริษัทเดียวที่มองเห็นศักยภาพในระบบตรวจสอบไฮเทคของ UVeye โดยปีที่แล้วบริษัทสตาร์ทอัพรายนี้ได้ปิดการระดมทุนซีรีส์ C มูลค่า 60 ล้านดอลลาร์ โดย GM กล่าวว่าเทคโนโลยีของ UVeye จะพร้อมให้บริการแก่ตัวแทนจำหน่าย 4,000 แห่งทั่วสหรัฐอเมริกาในเร็วๆนี้

อ้างอิง : https://www.theverge.com/2022/6/22/23178966/general-motors-uveye-vehicle-inspection-ai-investment

—————————————————————————————-

ทั้งหมดเป็นข่าวที่น่าสนใจใน 24 – 30 มิถุนายน 2565 พบกันใหม่ในสัปดาห์หน้านะคะ : )

หากมีข้อสงสัย ติชมสามารถ ติดตามและสอบถามได้ที่
 : AIไทยสามารถ โดย AI for all Thailand



เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึก