ข่าว AI รอบโลก – สัปดาห์ที่ 2 เดือนกรกฎาคม 2022

เตรียมบอกลาตำนานรถเมล์สาย 8 ก่อนเปลี่ยนเป็น EV พร้อม AI ควบคุมการเดินรถ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ยืนยัน “รถเมล์สาย 8” ยังมีรถวิ่งให้บริการประชาชน ก่อนเปลี่ยนให้ผู้ประกอบการรายใหม่ที่ได้รับใบอนุญาตเดินรถในเดือนสิงหาคมนี้ โดยจะใช้รถพลังงานไฟฟ้า หรือ รถ EV

จากกรณีองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และกรมการขนส่งทางบก ออกแผนการปฏิรูปรถโดยสารสาธารณะ จำนวน 77 เส้นทาง ส่งผลให้ “รถเมล์สาย 8” เส้นทางแฮปปี้แลนด์–สะพานพุทธ เตรียมยุติการดำเนินกิจการเนื่องจากไม่ผ่านคุณสมบัติในเส้นทางสัมปทานเดินรถ และต้องยุติการให้บริการนั้น

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า สำหรับเส้นทางเดินรถของสาย 8 เดิม มีผู้ประกอบการรายใหม่ที่ได้รับใบอนุญาตเดินรถในเส้นทางนี้ คือ บริษัท ไทย สมายล์ บัส จำกัด ซึ่งจะจัดหารถโดยสารมาให้บริการทดแทนในเส้นทางสาย 8 โดยจะเรียกชื่อสายใหม่ว่า “สาย 2-38” ซึ่งผู้ประกอบการรายใหม่จะใช้รถโดยสารไฟฟ้า (อีวี) ในการให้บริการ เริ่มตั้งแต่เดือนสิงหาคมนี้ ซึ่งผู้ประกอบการรายเดิมยังเดินรถต่อได้ ระหว่างที่รอรายใหม่ดำเนินการแล้วเสร็จ เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของผู้โดยสารในการเดินทาง

สำหรับผู้ประกอบการขนส่งที่ได้รับใบอนุญาตฯ จำนวน 77 เส้นทางนั้น ทางผู้ประกอบการได้เสนอใช้รถพลังงานไฟฟ้า พร้อมด้วยนำระบบเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้ในการควบคุมการเดินรถโดยมีเงื่อนไขจำนวนรถจำนวน 19-54 คัน ขั้นต่ำ 80 เที่ยว ซึ่งในระหว่างที่รอผู้ประกอบการฯ รายใหม่เข้าจัดการเดินรถนั้น ยืนยันว่า ผู้ประกอบการรถเอกชนร่วมบริการ ขสมก. จะยังคงจัดการเดินรถต่อไปได้ เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทาง และบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชน

อ้างอิง : https://www.tnnthailand.com/news/social/119187/

เมืองซิดนี่ย์เปิดตัว AI ช่วยการบำรุงรักษาและซ่อมแซมถนน

รัฐนิวเซาท์เวลส์ของออสเตรเลียได้เปิดตัวเทคโนโลยี AI ใหม่ที่จะมาปฏิวัติวิธีการบำรุงรักษาและซ่อมแซมถนนของรัฐ โดยโครงการนี้จะได้ทุนสำหรับการทดลองใช้จำนวน 2.9 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย (1.96 ล้านดอลลาร์) จากบริษัท AI Asset ซึ่งจะติดตั้งเซนเซอร์บนรถโดยสารสาธารณะ 32 แห่งพร้อมเส้นทางทั่วซิดนีย์

เซนเซอร์จะใช้ AI เพื่อรวมข้อมูลภาพกับสภาพอากาศในท้องถิ่นเพื่อคาดการณ์อัตราการเสื่อมสภาพของถนนในเมือง ซึ่งหมายความว่าในทางทฤษฎีแล้วจะสามารถแจ้งเตือนทีมซ่อมบำรุงก่อนที่พวกหลุมบ่อหรือความเสียหายอื่นๆ บนถนนจะก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการจราจร โดย Victor Dominello รัฐมนตรีกระทรวงบริการลูกค้าและรัฐบาลดิจิทัลของรัฐนิวเซาท์เวลส์กล่าวว่า “ถนนมักจะมีรอยแยกและหลุมบ่ออยู่เสมอ แต่ด้วยเทคโนโลยีอัจฉริยะเช่นนี้ เราสามารถคาดการณ์การเสื่อมสภาพ เพิ่มความคล่องตัวในการบำรุงรักษา และได้ผลลัพธ์ที่ดีขึ้นอย่างรวดเร็ว”

ปัจจุบันการตรวจสอบความเสียหายและข้อบกพร่องของถนนนั้นขึ้นอยู่กับรายงานของผู้อยู่อาศัยในบริเวณนั้นๆ ซึ่งในช่วงหลายเดือนที่ฝนตกหนัก ถนนมักจะทรุดโทรมเร็วกว่าที่จะตรวจสอบได้ทันเวลาซึ่งอาจจะก่อให้เกิดอันตรายได้

Khal Asfour นายกเทศมนตรีเมือง Canterbury Bankstown พื้นที่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของซิดนีย์ ซึ่งเข้ารับการทดลองเทคโนโลยีนี้ก่อนบริเวณอื่นได้กล่าวว่าเทคโนโลยี AI นั้นได้เข้ามาช่วยปรับปรุงความปลอดภัยทางถนนในพื้นที่เป็นอย่างมาก “เราทำการตรวจสอบถนนทุก ๆ สี่ปีและมีราคาแพงมาก แต่เทคโนโลยีใหม่นี้จะทำให้เราทำเป็นรายสัปดาห์แทน”

อ้างอิง : https://www.india.com/news/world/australias-sydney-to-use-ai-technology-to-smooth-bumpy-roads-5510608/

“แอสตร้าเซนเนก้า” เผยความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ เพื่อสุขภาพคนไทย

เมื่อวันที่ 8 ก.ค. 65 เจมส์ ทีก ประธาน บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวในงาน “มหกรรม 80 ปี กรมการแพทย์” โดยระบุว่า ตลอดระยะเวลากว่า 40 ปีที่ แอสตร้าเซนเนก้า ดำเนินงานในประเทศไทย มุ่งมั่นนำวิทยาศาสตร์มาต่อยอดและพัฒนาการดูแลสุขภาพของประชาชน โดยเริ่มตั้งแต่การสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับโรคและปัญหาสุขภาพ การยกระดับประสิทธิภาพในการตรวจวินิจฉัยโรคในระยะเริ่มต้น การส่งเสริมการเข้าถึงระบบการดูแลสุขภาพ และการพัฒนายานวัตกรรมให้กับผู้ป่วย ผ่านความร่วมมือกับองค์กรพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน
“โดยการเกิดวิกฤตการณ์แพร่ระบาดของโรค โควิด-19 ในช่วงสามปีที่ผ่านมานั้น ทำให้เราเห็นถึงคุณค่าและความสำคัญของการขยายขีดความสามารถด้านวิทยาศาสตร์เพื่อยกระดับการดูแลสุขภาพที่ยั่งยืนให้กับประชาชน (People) ชุมชน (Society) และโลก (Planet) ที่เราอาศัยอยู่มากยิ่งขึ้น”

แอสตร้าเซนเนก้า ไม่เพียงแต่จะคิดค้นยาในการรักษาโรคภัย แต่บริษัทยังมุ่งมั่นพัฒนาโซลูชันการดูแลสุขภาพอย่างยั่งยืน ผ่านการสร้างความตระหนักรู้ให้กับคนไทย ในการดูแลสุขภาพเพื่อป้องกันความเสี่ยงการเกิดโรคผ่านช่องทางและแคมเปญต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น โครงการให้ความรู้และคำแนะนำด้านการป้องกันและรักษาปัญหาสุขภาพหัวใจให้แก่ประชาชน อาทิ โครงการ Hug Your Heart โครงการ คุยเรื่องไต ไขความจริง ให้ความรู้และไขข้อข้องใจเกี่ยวกับโรคไตสำหรับประชาชน

ตลอดจนส่งเสริมการเข้าถึงการตรวจคัดกรองและวินิจฉัยโรคในระยะเริ่มต้นเพื่อเพิ่มโอกาสการรักษาด้วยนวัตกรรมทางการแพทย์ นำร่องด้วย โครงการ “ตรวจไว สู้ภัยมะเร็งปอด” ที่นำนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์หรือ Artificial Intelligence (AI) มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจหา โรคมะเร็งปอด ในระยะเริ่มต้น และ โครงการ SEARCH โครงการตรวจคัดกรองความเสี่ยงโรคไตเรื้อรัง (CKD) ใน ผู้ป่วยเบาหวานและ ผู้ป่วยความดันโลหิต สูงด้วยการตรวจหาระดับอัลบูมินในปัสสาวะ โดยมีจุดประสงค์เพื่อเป็นเครื่องมือส่งเสริมคุณภาพการบริการ การป้องกันหรือชะลอการเสื่อมของไต และยืดระยะเวลาการบำบัดทดแทนไต

อีกทั้ง แอสตร้าเซนเนก้า ยังจัดตั้งโครงการสนับสนุนการเข้าถึงยา (Patient Affordability Programme) หรือ รู้จักกัน ในนาม AZ PAP (AstraZeneca Patient Affordability Programme) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่าย ช่วยเพิ่มการเข้าถึงยา นวัตกรรม หลายรายการ ให้กับผู้ป่วยในประเทศไทย เป็นต้น

อ้างอิง : https://www.bangkokbiznews.com/health/1014635

เปิดตัวบริษัท Apriori Bio ใช้ AI ทำนายสายพันธุ์ COVID-19 

Flagship Pioneering ธุรกิจเงินร่วมลงทุน (venture capital) ด้านการแพทย์ชื่อดังได้ประกาศเปิดตัว Apriori Bio บริษัทซึ่งใช้ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI เพื่อทำนายรูปแบบต่างๆของไวรัส รวมถึง COVID-19 ด้วย

Octavia ซึ่งเป็นแพลตฟอร์ม AI ที่พัฒนาโดย Apriori Bio มีความสามารถในการอนุมานสายพันธุ์ของไวรัสจำนวนมากที่เป็นไปได้ที่อาจกลายพันธุ์มาจากไวรัสสายพันธุ์เดียว นอกจากนั้น AI ยังสามารถกำหนดแอนติบอดีที่อาจป้องกันสายพันธุ์เวอร์ชันปัจจุบันและอนาคตได้อีกด้วย ซึ่งเป้าหมายของตัวแพลตฟอร์มคือการใช้แนวทางเชิงรุกในการจัดการไวรัสผ่าน machine learning

โมเดล AI ของ Octavia นั้นสามารถเรียนรู้ว่าไวรัสมีพฤติกรรมอย่างไรและทำการระบุสิ่งที่อาจนำมาซึ่งภัยคุกคามที่สำคัญที่สุด สิ่งนี้จะช่วยให้นักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์สามารถสร้างยาและวัคซีนแอนติบอดี ที่สามารถป้องกันไวรัสเหล่านั้นได้แทนที่จะเป็นการทำปฏิกิริยาตอบโต้เฉยๆ ยิ่งไปกว่านั้นเครื่องมือและชุดข้อมูลจากแพลตฟอร์มจะสร้างข้อมูลเชื้อโรคแบบเรียลไทม์ที่สามารถช่วยในการสร้างนโยบายด้านสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพ

Apriori Bio ก่อตั้งขึ้นในปี 2020 โดยได้รับการสนับสนุนทางการเงินเพียงรายเดียวจาก Flagship Pioneering เป็นจำนวน 50 ล้านดอลลาร์ในการวิจัยและพัฒนา โดย Apriori เป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศ Flagship Pioneering ที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ซึ่งประกอบด้วยบริษัท 41 แห่ง รวมถึง Moderna, Denali Therapeutics และ Seres Therapeutics

Noubar Afeyan, Ph.D. ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Flagship Pioneering และผู้ร่วมก่อตั้งและประธาน Apriori Bio กล่าวในแถลงการณ์ว่า “โลกต้องคุกเข่าลงเมื่อสองปีที่แล้วจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ฉะนั้นเราต้องจินตนาการถึงอนาคตที่เรารักษาสุขภาพของเราไว้แพลตฟอร์มเทคโนโลยีของ Apriori Bio นั้นสามารถใช้พัฒนาวัคซีน และยาต้านไวรัสสำหรับสายพันธุ์ที่ยังไม่เกิดขึ้น นับเป็นการก้าวกระโดดเพื่อปกป้องมนุษยชาติจากภัยคุกคามจากไวรัสที่มีอยู่และในอนาคต”

อ้างอิง : https://www.biospace.com/article/apriori-bio-s-ai-platform-hopes-to-predict-covid-19-influenza-hiv-variants/

AI ของ DeepMind สามารถเรียนรู้การเคลื่อนไหวฟิสิกส์อย่างง่ายได้เหมือนเด็กทารก

ในงานนี้นักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ได้แรงบันดาลใจจากการวิจัยเกี่ยวกับวิธีการเรียนรู้ของทารก จึงสร้างโปรแกรมที่สามารถรับกฎทางกายภาพง่ายๆ เกี่ยวกับพฤติกรรมของวัตถุ ซึ่งงานนี้ได้ถูกตีพิมพ์เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคมใน Nature Human Behaviour
โดยนักจิตวิทยาพัฒนาการจะทดสอบว่าทารกเข้าใจการเคลื่อนไหวของวัตถุอย่างไรโดยการติดตามการจ้องมองของพวกเขา เมื่อแสดงวิดีโอ เช่น เมื่อลูกบอลที่หายไปอย่างกะทันหัน เด็ก ๆ ก็จะแสดงความประหลาดใจ ซึ่งนักวิจัยหาจำนวนโดยการวัดว่าทารกจ้องมองไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่งนานแค่ไหน

Luis Piloto นักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ที่ DeepMind บริษัท Google ที่ Google เป็นเจ้าของในลอนดอน และผู้ร่วมงานของเขา ต้องการจะพัฒนาการทดสอบที่คล้ายกันสำหรับปัญญาประดิษฐ์ (AI) นี้ด้วยเช่นกัน ทีมงานจึงได้ฝึกอบรมโครงข่ายประสาทเทียม ซึ่งเป็นระบบซอฟต์แวร์ที่เรียนรู้โดยจากข้อมูลจำนวนมาก ด้วยวิดีโอภาพเคลื่อนไหวของวัตถุง่ายๆ เช่น ลูกบาศก์และลูกบอล

ซึ่งโมเดลซอฟต์แวร์ที่ชื่อว่า Physics Learning through Auto-encoding and Tracking Objects (PLATO) นี้จะไม่เพียงแค่รับข้อมูลจาก raw video เท่านั้น แต่ยังรวมถึงเวอร์ชันที่เน้นแต่ละวัตถุในฉากด้วย
โดยระบบจะได้รับการฝึกอบรมจากวิดีโอหลายสิบชั่วโมงซึ่งแสดงกลไกง่ายๆ เช่น ลูกบอลกลิ้งไปตามทางลาดหรือลูกบอลสองลูกที่กระดอนกัน และเรียนรู้เพื่อสามารถคาดการณ์ว่าวัตถุเหล่านั้นจะมีพฤติกรรมอย่างไรในสถานการณ์ที่ต่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มันได้เรียนรู้รูปแบบต่างๆ เช่น ความต่อเนื่อง ซึ่งวัตถุจะเคลื่อนที่ไปตามวิถีที่ไม่ถูกขัดจังหวะ แทนที่จะเคลื่อนย้ายแบบจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งแบบแปลกประหลาดหรือไม่ต่อเนื่อง โดย Piloto ได้กล่าวว่า “ในทุกขั้นตอนของภาพยนตร์ จะเป็นการทำนายเกี่ยวกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไป และเมื่อเล่นวิดีโอไปเรื่อยๆ ก็จะทำให้การทำนายแม่นยำยิ่งขึ้น”

นอกจากนี้ เมื่อแสดงวิดีโอที่มีเหตุการณ์ที่ “เป็นไปไม่ได้” เช่น วัตถุหายไปอย่างกะทันหัน PLATO ก็ยังสามารถวัดความแตกต่างระหว่างวิดีโอกับการคาดคะเนของวิดีโอได้ ทำให้มันบ่งบอกถึงสภาวะการเกิดความประหลาดใจในระดับหนึ่ง

Piloto กล่าวว่า PLATO ไม่ได้ออกแบบมาให้เป็นแบบจำลองพฤติกรรมของทารก แต่อาจเป็นก้าวแรกสู่ AI ที่สามารถทดสอบสมมติฐานเกี่ยวกับวิธีที่ทารกของมนุษย์เรียนรู้ “เราหวังว่านักวิทยาศาสตร์ด้านความรู้ความเข้าใจจะสามารถใช้สิ่งนี้ได้ในที่สุดเพื่อจำลองพฤติกรรมของทารกอย่างจริงจัง”

อ้างอิง : https://www.nature.com/articles/d41586-022-01921-7

ยอดจองหุ่นยนต์ตัดหญ้า Scythe Robotics พุ่งทะลุหลักพัน เตรียมเปิดให้เช่าในปีหน้า

หุ่นยนต์ตัดหญ้าจาก Scythe Robotics มียอดสั่งจองล่วงหน้านับพันเครื่อง โดยเป็นผลจากภาวะขาดแรงงานในสหรัฐฯ ซึ่งจะพร้อมให้เช่าใช้งานในปีหน้า
หุ่นยนต์ตัดหญ้าไม่ถือว่าเป็นเรื่องใหม่ในโลกใบนี้หรือแม้แต่ในสหรัฐอเมริกาก็ตาม มีผู้ผลิตหลายคนตัดสินใจสร้างผลิตภัณฑ์หุ่นยนต์ตัดหญ้าขึ้นมาทำตลาดในสหรัฐฯ แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ แต่อย่างไรก็ตาม ยอดสั่งจองล่วงหน้าของหุ่นยนต์ตัดหญ้าจาก ไซท์โรบอติกส์ (Scythe Robotics) กลับพุ่งสูงทะลุหลักพัน สะท้อนว่าตลาดหุ่นยนต์ตัดหญ้าในสหรัฐอเมริกากำลังมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ

ไซท์โรบอติกส์ (Scythe Robotics) เป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นในรัฐโคโลราโดในปี 2018 โดยมีเป้าหมายในการสร้างหุ่นยนต์ตัดหญ้าขับเคลื่อนอัตโนมัติ (Autonomous Mower Robot) สำหรับการใช้งานเชิงพาณิชย์ โดยได้ดึงตัวอดีตผู้รับผิดชอบในโครงการสตาร์ลิงก์ (Starlink) อินเทอร์เน็ตดาวเทียมของสเปซเอ็กซ์ (SpaceX) และอดีตแมวมอง (Recruiter) จากเมจิก ลีป (Magic Leap) บริษัทเทคสตาร์ทอัพชื่อดัง มาช่วยกันพัฒนาหุ่นยนต์ตัดหญ้าที่สร้างเสียงตอบรับอันยอดเยี่ยม

เอ็มดอท 52 (M.52) คือหุ่นยนต์ตัดหญ้าจากไซตท์โรบอติกส์ (Scythe Robotics) ที่มีความสามารถในการขับเคลื่อนด้วยตัวเองด้วยกล้องไดนามิกสูง (HDR) จำนวน 8 ตัว ทำงานร่วมกับปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อให้รองรับการแยกแยะสิ่งกีดขวาง มนุษย์ ตลอดจนทำงานบนทางชัน หรือพื้นที่ไม่สม่ำเสมอได้ สั่งการและควบคุมการทำงานผ่านมาตรฐานอินเทอร์เน็ตไร้สาย (Wi-Fi) และระบบ 4G ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าแรงขับเคลื่อน 20 แรงม้า ทำความเร็วสูงสุด 16 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ส่งเสียงรบกวนเพียง 20 เดซิเบล (dB) ซึ่งเบากว่าเสียงกระซิบ ใช้พลังงานแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนที่สามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าได้ทั้งวัน พร้อมอุปกรณ์ส่วนเสริมต่าง ๆ ที่ใช้ในงานตัดหญ้าระดับมืออาชีพ

เอ็มดอท 52 (M. 52) ไม่ได้เปิดให้ซื้อขาย แต่มาในรูปแบบการให้บริการเช่าแทน โดยมีขั้นต่ำในการเช่าเครื่องตัดหญ้าไม่ต่ำกว่าครั้งละ 10 ตัว ซึ่งเป็นการตลาดที่แก้ปัญหาเรื่องของราคาหุ่นยนต์ตัดหญ้าที่มีราคาสูง รวมถึงค่าอุปกรณ์จิปาถะที่เพิ่มต้นทุนการตัดหญ้าในพื้นที่หน้างาน โดยนับตั้งแต่เปิดหน้าเว็บให้จองตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา เครื่องตัดหญ้าอัตโนมัติตัวนี้นั้นมียอดจองเพื่อขอเช่าไม่ต่ำกว่าหลักพัน เพราะในตอนนี้เครื่องตัดหญ้ารุ่นนี้ยังอยู่ในระหว่างการผลิต ซึ่งคาดการณ์ว่าจะส่งมอบให้ลูกค้ากลุ่มแรกที่ต้องการเช่าได้ภายในปีหน้า

อ้างอิง : https://www.tnnthailand.com/news/tech/118641/

Volkswagen พิจารณาให้บริการระบบขับขี่อัตโนมัติแบบ subscription

Volkswagen ได้เปิดเผยเพิ่มเติมเกี่ยวกับแผนระยะยาวสำหรับระบบการขับขี่แบบอัตโนมัติของพวกเขา ซึ่งรวมถึงความเป็นไปได้ของรูปแบบการ subscription รุ่นบุกเบิก

Dirk Hilgenberg ซีอีโอของ Cariad ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ Volkswagen Group ได้อธิบายแนวคิดบางประการที่บริษัทกำลังพิจารณาและวิธีดำเนินการในทางปฏิบัติในการให้สัมภาษณ์กับ Bloomberg

Hilgenberg กล่าวว่ารูปแบบธุรกิจใหม่อาจจะเป็นรูปแบบ subscription หรือ “ฟังก์ชันตามความต้องการ (function-on-demand)” ซึ่ง AI สามารถบอกคุณได้ว่าคุณสามารถขับรถโดยใช้ระบบขับขี่อัตโนมัติในระยะทางหลายไมล์ถัดไปเพื่อให้ผู้ขับขี่สามารถผ่อนคลายหรือนอนหลับได้ โดย Hilgenberg ยอมรับว่าการบูรณาการกับบริการอื่น ๆ เป็นกุญแจสำคัญ เนื่องจากมนุษย์พยายามใช้เวลาให้มากขึ้นซึ่งสูญเสียไปกับการขับขี่แบบแอคทีฟ ซึ่งตอนนี้เขาได้บอกว่าทางบริษัทยังไม่ได้มีระบบการขับขี่อัตโนมัติระดับ 4 (ตาม Society of Automotive Engineers) ที่รถยนต์นั้นอยู่ในการควบคุมและมนุษย์ไม่จำเป็นต้องพร้อมที่จะเข้าไปแทรกแซงแต่อย่างใด อย่างไรก็ตามเขากล่าวว่าในบางพื้นที่บางสถานการณ์นั้น AI อาจจะสามารถนำเสนอ driver-assistance ให้กับผู้ขับได้

บริการแบบนี้นั้นสามารถสร้าง “เวลา” ในรถได้ เช่น ให้เวลาคนขับทำงาน พักผ่อน ดูหนัง หรือสื่อสารกับผู้โดยสารท่านอื่น ซึ่งทาง Hilgenberg ต้องการที่จะสร้างแพลตฟอร์มที่ให้คนมาใช้ในระหว่างเดินทางซึ่งเขาบอกว่านั่นคือสินค้าที่เขาต้องการขาย

อย่างไรก็ตามแม้ว่าความคิดเห็นของ Hilgenberg จะให้ข้อมูลเชิงลึกที่เจาะจงเกี่ยวกับสิ่งที่เราคาดหวังจากรถยนต์ไร้คนขับของ VW Group ในอนาคต แต่ก็ยังไม่มีหลักฐานว่ามีความต้องการจำนวนมากจากผู้บริโภค โดยการสำรวจล่าสุดจาก Cox Automotive เน้นย้ำถึงความไม่เต็มใจที่จะจ่ายสำหรับระบบ subscription

อ้างอิง : https://www.iotworldtoday.com/2022/07/11/volkswagen-hints-at-pay-as-you-go-autonomous-driving/

รพ.กรุงเทพ เสริมความแม่นยำในการวินิจฉัยภาพถ่ายเอกซเรย์ทรวงอก โดยใช้นวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์ AI

ในปัจจุบันปัญหาการขาดแคลนรังสีแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ด้านรังสีวิทยา นับเป็นปัญหาสำคัญด้านสาธารณสุข ซึ่งอาจส่งผลให้คนไข้จำนวนมากได้รับการวินิจฉัยและรักษาล่าช้ากว่าที่ควรจะเป็น โรงพยาบาลกรุงเทพได้เล็งเห็นความสำคัญและเลือกใช้นวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์ ( Artificial Intelligence ), Inspectra CXR มาเป็นผู้ช่วยแพทย์อัจฉริยะที่สามารถวิเคราะห์ความผิดปกติจากภาพรังสีทรวงอกได้อย่างละเอียด รวดเร็ว แม่นยำ และมีความโดดเด่นเฉพาะตัวที่สามารถตอบโจทย์การปฏิบัติงานของแพทย์ได้อย่างตรงจุด

นวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์ หรือ ระบบ AI นี้ จะแปลผลภาพแบบอัตโนมัติโดยไม่ต้องป้อนคำสั่งใด ๆ ผลรายงานจะปรากฏขึ้นทันทีผ่านหน้าจอการทำงานของรังสีแพทย์ และมีการออกแบบให้สามารถปรับการทำงานให้เข้ากับระบบไอทีที่แตกต่างกันของแต่ละโรงพยาบาลได้อย่างราบรื่น ทั้งยังรองรับระบบการทำงานทางไกลรวมถึงหน่วยการตรวจเอกซเรย์เคลื่อนที่ได้อีกด้วย

นพ.ดุลย์ ดำรงศักดิ์ ผู้ช่วยประธานคณะผู้บริหาร กลุ่ม 1 โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่า AI เป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีที่ได้นำมาใช้กับงานรังสีวิทยา โดยทางโรงพยาบาลกรุงเทพได้เลือกเทคโนโลยี Inspectra CXR ด้วยเหตุผลที่ว่ามีความถูกต้องแม่นยำและเป็นเทคโนโลยีที่พัฒนาด้วยคนไทย เพราะฉะนั้นการวินิจฉัยโรคโดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของโรคคนไทยจะได้ความแม่นยำสูง เช่น วัณโรค ที่ต่างชาติเองที่ยังมีเคสไม่มาก หลังจากที่ทางโรงพยาบาลได้นำ AI มาใช้ในการประมวลผลก็สามารถวิเคราะห์ได้อย่างถูกต้องและได้รับการยอมรับจากรังสีแพทย์ว่าได้ผลลัพธ์ที่ตรงและสามารถนำไปใช้ได้จริง ทั้งนี้การดูแลข้อมูลของคนไข้ นอกจากจะช่วยในการวินิจฉัยแล้ว ระบบ AI นี้ยังสามารถเชื่อมต่อกับระบบของโรงพยาบาลซึ่งมีความปลอดภัยในการป้องกันข้อมูลของผู้ป่วย ด้านสาธารณสุขของประเทศไทยยังขาดผู้เชี่ยวชาญสาขารังสีวิทยาที่จะดูแลคนไข้ได้ทั้งประเทศ เพราะฉะนั้น การใช้เทคโนโลยีเอไอ นับเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยที่ทำให้คนไข้ได้รับการวินิจฉัยได้มากขึ้น

สุพิชญา พู่พิสุทธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เพอเซ็ปทรา จำกัด กล่าวว่า เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์เป็นเทคโนโลยีที่ค่อนข้างใหม่ในประเทศ แต่ปัจจุบันทั่วโลกให้การยอมรับสำหรับการนำไปใช้งานและสามารถช่วยแพทย์ได้จริง โรงพยาบาลกรุงเทพเล็งเห็นถึงความสำคัญและมีวิสัยทัศน์ในการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ เพื่อยกระดับการให้บริการผู้ป่วยให้ดีขึ้นอย่างสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะเป็นการนำระบบปัญญาประดิษฐ์มาใช้เป็นเพื่อนคู่คิดของแพทย์รังสี ช่วยเตือนตำแหน่งรอยโรคที่บางครั้งอาจยากที่จะเห็นได้ด้วยสายตามนุษย์ หรือการนำเทคโนโลยีมาทำให้ระบบการทำงานของแพทย์มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้นและให้บริการผู้ป่วยได้เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย

ระบบ Inspectra CXR เป็นซอฟต์แวร์ปัญญาประดิษฐ์ที่พัฒนาขึ้นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของแพทย์ โดย AI ถูกเทรนให้มีความไวสูงในการตรวจจับรอยโรคบนภาพถ่ายเอกซเรย์ทรวงอก สามารถบ่งชี้ตำแหน่งที่ผิดปกติ รอยโรคที่อาจมีขนาดเล็ก หรือรอยโรคที่ทับซ้อนกับอวัยวะอื่นได้ โดยระบบ AI จะทำงานร่วมกับแพทย์เพื่อช่วยให้แพทย์ตัดสินใจได้เร็วขึ้นและผิดพลาดน้อยลง ระบบ Inspectra CXR เป็น AI มีประสิทธิภาพเทียบเคียงกับ AI ที่ดีที่สุดในเวทีโลก และถูกเทรนจากภาพถ่ายเอกซเรย์คุณภาพสูงจากกว่า 1.5 ล้านภาพทั่วโลก โดยเป็นภาพถ่ายของคนไทยมากกว่า 40% ทางบริษัทนำเอาอัลกอริทึมความแม่นยำสูงที่สามารถตรวจจับครอบคลุมทุกรอยโรคมาผนวกกับเทคโนโลยีอื่นที่ตอบโจทย์โรงพยาบาลเช่น ระบบรักษาความปลอดภัยของข้อมูลที่เข้มแข็ง และระบบจัดการข้อมูลที่ทันสมัย ทั้งหมดนี้ทำให้ Inspectra CXR เป็นแพลตฟอร์มที่สร้างมาตรฐานใหม่ในการวินิจฉัยภาพถ่ายทางการแพทย์ได้

อ้างอิง : https://www.prachachat.net/public-relations/news-978830

—————————————————————————————-

ทั้งหมดเป็นข่าวที่น่าสนใจใน 8 – 14 กรกฎาคม 2565 พบกันใหม่ในสัปดาห์หน้านะคะ : )

หากมีข้อสงสัย ติชมสามารถ ติดตามและสอบถามได้ที่
 : AIไทยสามารถ โดย AI for all Thailand



เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึก