ข่าว AI รอบโลก – สัปดาห์ที่ 2 เดือนมีนาคม 2023

มาเลือกนิสัยให้ AI กันเถอะ ! ฟีเชอร์ใหม่ของ Bing จาก Microsoft

บริษัท ไมโครซอฟท์ (Microsoft) เปิดให้ผู้ใช้งานเลือกนิสัยให้กับปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอ (AI) ของบิง (Bing) ได้ 3 โหมด 3 นิสัย เพื่อลักษณะการตอบกลับที่แตกต่างกันออกไปตามนิสัยของปัญญาประดิษฐ์ โดยผู้ใช้งานสามารถเลือกนิสัยของปัญญาประดิษฐ์ได้ 3 แบบ ดังนี้

  1. นิสัยจริงจังจะตอบกลับด้วยข้อความสั้น, กระชับและตรงประเด็น
  2. นิสัยขี้เล่นจะตอบกลับด้วยข้อความที่อ่านสนุก, สร้างสรรค์และแปลกใหม่มากกว่าเดิม
  3. นิสัยกลาง ๆ จะตอบกลับด้วยข้อความที่มีความสมดุลกันระหว่างความจริงจังและความคิดสร้างสรรค์

อย่างไรก็ตาม ผู้ใช้งานที่จะต้องระมัดระวังด้านความแม่นยำของข้อมูลเมื่อเลือกให้ปัญญาประดิษฐ์มีนิสัยขี้เล่น โดยผู้ใช้งานสามารถเลือกเปลี่ยนนิสัยของปัญญาประดิษฐ์ไปมาได้

การนำปัญญาประดิษฐ์แชตจีพีที (ChatGPT) มายกระดับการค้นหาของบิง (Bing)
สำหรับบิงนั้นเป็นเครื่องมือค้นหา (Search Engine) ของบริษัท ไมโครซอฟท์ที่พึ่งนำปัญญาประดิษฐ์ชื่อดังอย่างแชตจีพีที (ChatGPT) ของบริษัท โอเพนเอไอ (OpenAI) มายกระดับการค้นหาของบิง โดยก่อนที่เราจะใช้งานปัญญาประดิษฐ์บนบิงได้ ผู้ใช้งานจะต้องลงทะเบียนเพื่ออยู่ในรายการรอ (Waiting list) สำหรับใช้บริการ
ในส่วนของแชตจีพีทีเป็นแชตบอต (ChatBot) ที่ขับเคลื่อนด้วยปัญญาประดิษฐ์ประเภทที่เรียกว่าโมเดลภาษา (Language Model) ซึ่งเป็นปัญญาประดิษฐ์ที่ถูกฝึกฝนด้วยชุดข้อมูลด้านภาษาขนาดใหญ่ จึงสามารถตอบโต้ได้คล้ายกับมนุษย์ อีกทั้งแชตจีพีทียังมีความสามารถในการตอบคำถามคล้ายกับการค้นหาในกูเกิล (Google) หรือบิงที่เราคุ้นชินกันแต่แชตจีพีทีสามารถตอบกลับได้อย่างเฉพาะเจาะจงกับคำถามของเรามากกว่า
อย่างไรก็ตาม ฟีเชอร์เลือกนิสัยให้ปัญญาประดิษฐ์บนบิงยังไม่พร้อมใช้งานสำหรับผู้ใช้ทั้งหมดแต่มีผู้ใช้บางส่วนได้ใช้งานแล้ว

อ้างอิง : https://www.tnnthailand.com/news/tech/140446/

ไก่ชิ้นนี้ AI คิด McDonald’s จับกระแสฮิต แมคไก่ทอด ที่ ChatGPT เป็นคนบอกข้อมูล

เพราะว่ากระแส AI โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ChatGPT มาแรงสุดๆ แมคโดนัลด์ (McDonald’s) ประเทศไทย ก็ร่วมวงครีเอทแคมเปญ “The Perfect Fried Chicken” จัดงาน แมคไก่ทอด ท้าให้ลอง ไก่ทอดที่อร่อยสมบูรณ์แบบของ AI ท้าเหล่าอินฟลูเอนเซอร์ บล็อกเกอร์มาร่วมลองชิมไก่ทอดที่ปรับสูตรใหม่ ให้อร่อยสมบูรณ์แบบ ตามแบบฉบับของ AI

คุณพัชนีวรรณ ตันประวัติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มการตลาด บริษัท แมคไทย จำกัด เปิดเผยว่า “จากการจับกระแสเทรนด์ ChatGPT หรือ AI Chat Bot ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมกันในกลุ่ม Gen Z โดยเมื่อได้ลองทำการค้นหาคำว่า ไก่ทอดที่อร่อยสมบูรณ์แบบนั้นเป็นอย่างไร จะพบข้อมูลว่า ไก่ทอดที่สมบูรณ์แบบ คือไก่ทอดที่กรอบนอก เนื้อชุ่มฉ่ำด้านใน มีรสชาติที่อร่อยเข้าเนื้อ ซึ่งตรงกับความอร่อยของ แมคไก่ทอด ที่เราได้มีการพัฒนาปรับปรุงสูตร เพื่อให้โดนใจลูกค้ามากยิ่งขึ้น นอกจากความอร่อยของแมคไก่ทอดใหม่แล้ว แมคโดนัลด์ยังสร้างกลยุทธ์ทางการตลาดและโปรโมชั่นที่คุ้มค่า ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ ของลูกค้าทั้งกลุ่มคนรุ่นใหม่คือ Gen Z และกลุ่มลูกค้าครอบครัวที่ชื่นชอบการกินไก่ทอด เพื่อให้แมคไก่ทอดเป็นอีกหนึ่งเมนูสุดโปรดของลูกค้าต่อไป เราได้จัดงาน แมคไก่ทอด ท้าให้ลอง ไก่ทอดที่อร่อยสมบูรณ์แบบของ AI เพื่อให้เหล่าอินฟลูเอนเซอร์ บล็อกเกอร์ ได้มาท้าพิสูจน์ร่วมกันว่า แมคไก่ทอดของเรา มีคุณสมบัติความอร่อยตรงกับที่ AI ได้ให้คำนิยามไว้”

อ้างอิง : https://www.brandbuffet.in.th/2023/03/mcdonalds-mcfried-created-by-ai/

ผลสำรวจพบคนทำงานเห็นว่า AI มีประโยชน์ในที่ทำงาน ตราบใดที่ไม่ใช้ในด้าน HR

ผลสำรวจคนทำงาน 17,193 คน จาก 17 ประเทศ พบคนทำงานเห็นว่า AI มีประโยชน์ในที่ทำงาน ตราบใดที่ไม่ได้ใช้เพื่อวัตถุประสงค์ด้านการจัดทรัพยากรมนุษย์ (HR)

8 มี.ค. 2566 ปัจจุบันแนวโน้มการใช้ ‘ปัญญาประดิษฐ์’ หรือ AI (Artificial Intelligence) ในชีวิตประจำวันกำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว มีการนำเทคโนโลยีนี้ไปใช้หลายภาคส่วน เช่น ภาคธุรกิจ การแพทย์ การศึกษา และภาคอุคสาหกรรม เป็นต้น ทั้งนี้ AI มีศักยภาพในการพัฒนาระบบและเทคโนโลยีต่างๆ ในอนาคตได้อีกมากมาย

จากรายงาน Trust in Artificial Intelligence: A global study 2023 โดย University of Queensland และ KPMG Australia ที่ได้สำรวจความคิดเห็นคนทำงาน 17,193 คน จาก 17 ประเทศ (ออสเตรเลีย, บราซิล, แคนาดา, จีน, เอสโตเนีย, ฟินแลนด์, ฝรั่งเศส, เยอรมนี, อินเดีย, อิสราเอล, ญี่ปุ่น, เนเธอร์แลนด์, สิงคโปร์, แอฟริกาใต้, สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา)ในช่วงเดือน ก.ย. – ธ.ค. 2565 ต่อประเด็นความไว้วางใจและทัศนคติต่อการใช้งาน AI รวมทั้งความคาดหวังในการจัดการและการกำกับดูแล พบข้อค้นพบที่น่าสนใจดังต่อไปนี้

คนทำงานเชื่อถือระบบ AI มากน้อยเพียงใด? ผู้ตอบแบบสอบถาม 3 ใน 5 คน (ร้อยละ 61) ยังคงมีความสับสนหรือไม่เต็มใจที่จะไว้วางใจ AI อย่างไรก็ตามการยอมรับและการให้ความไว้วางใจนั้น ขึ้นอยู่กับลักษณะการใช้งาน AI ด้วยเช่นกัน ตัวอย่างเช่น การใช้ AI ในการดูแลสุขภาพมีความน่าเชื่อถือมากกว่าการใช้ AI เพื่อวัตถุประสงค์ด้านทรัพยากรมนุษย์ แม้คนทำงานจะเชื่อมั่นในความสามารถและประโยชน์ของระบบ AI แต่ก็มักกังขาในความปลอดภัยและความเที่ยงธรรม หลายคนรู้สึกสับสนเกี่ยวกับการใช้ AI ผู้ตอบแบบสอบถามบางส่วนระบุว่ามีทั้งอารมณ์มองโลกในแง่ดีและความตื่นเต้น ควบคู่ไปกับความกลัวและความกังวล

คนทำงานเห็นประโยชน์และความเสี่ยงของ AI อย่างไร? คนทำงานส่วนใหญ่ (ร้อยละ 85) เชื่อว่า AI จะให้ประโยชน์มากมาย แต่มีเพียงครึ่งเดียวเท่านั้นที่เชื่อว่าประโยชน์ของ AI มีมากกว่าความเสี่ยง, 3 ใน 4 คน (ร้อยละ 73) กังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับ AI โดยเฉพาะความปลอดภัยทางไซเบอร์ถูกมองว่าเป็นความเสี่ยงอันดับต้นๆ ส่วนความเสี่ยงอื่นๆ ที่น่ากังวล ได้แก่ การสูญเสียความเป็นส่วนตัว การยักย้ายถ่ายเทข้อมูลและการใช้งานที่เป็นอันตราย การถูก AI แย่งงาน (โดยเฉพาะในอินเดียและแอฟริกาใต้) ความล้มเหลวของระบบ (โดยเฉพาะในญี่ปุ่น) เป็นอันตรายต่อหลักการสิทธิมนุษยชน รวมทั้งผลลัพธ์ที่ไม่ถูกต้องและความลำเอียงจากการใช้ AI

ใครบ้างที่ได้รับความไว้วางใจให้พัฒนา ใช้ และควบคุม AI? ผู้ตอบแบบสอบถามให้ความมั่นใจสถาบันการศึกษา สถาบันการวิจัย และหน่วยงานด้านกลาโหม ในการพัฒนา ใช้ และควบคุม AI เพื่อประโยชน์สูงสุดของสาธารณะ (ร้อยละ 76-82) แต่ผู้ตอบแบบสอบถามมีความเชื่อมั่นในรัฐบาลและภาคเอกชนน้อยที่สุด โดย 1 ใน 3 ระบุว่ามีความเชื่อมั่นในระดับต่ำหรือไม่มีเลย เนื่องจากการใช้ AI เพิ่มขึ้นโดยรัฐบาลและภาคธุรกิจ

ผู้คนรู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับ AI ในที่ทำงาน? ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ (ร้อยละ 55) พอใจกับการใช้ AI ในที่ทำงานโดยใช้เป็นระบบอัตโนมัติเพื่อช่วยเสริมการทำงานของมนุษย์ รวมทั้งช่วยในด้านการให้คำแนะนำในการตัดสินใจ ตราบใดที่ไม่ได้ใช้เพื่อวัตถุประสงค์ด้านการจัดทรัพยากรมนุษย์ (HR) การจัดการประสิทธิภาพ หรือการตรวจสอบ แม้ผู้ตอบแบบสอบถามจะชอบการมีส่วนร่วมของ AI มากกว่าการตัดสินใจของมนุษย์เพียงลำพัง แต่พวกเขาก็ยังต้องการให้มนุษย์เป็นควบคุม ทั้งนี้ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ในจีนและอินเดียเชื่อว่า AI จะทำให้งานต่างๆ หายไป มากกว่าที่จะสร้างงานใหม่ๆ ให้มนุษย์

อ้างอิง : https://prachatai.com/journal/2023/03/103058

บริษัทเครื่องดื่มญี่ปุ่นรายยักษ์ หันพึ่ง AI ช่วยคิดสูตร

ซัปโปโร ใช้ AI ช่วยคิดสูตรเครื่องดื่ม คาดเร่งสปีดพัฒนาสินค้าได้ 2-3 เท่า

วันที่ 6 มีนาคม 2566 นิกเคอิเอเชีย รายงานว่า ซัปโปโร หนึ่งในยักษ์เครื่องดื่มสัญชาติญี่ปุ่น หันพึ่ง AI หรือปัญญาประดิษฐ์ ช่วยพัฒนาสูตรค็อกเทลชูไฮ หวังรับมือเทรนด์การดื่มที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และมีความหลากหลายสูงจนผู้ผลิตยากจะตามทัน

ทั้งนี้ ปัจจุบันดีมานด์ในตลาดชูไฮหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แบบพร้อมดื่มของญี่ปุ่นมีความซับซ้อนสูงมาก ทั้งด้านปริมาณแอลกอฮอล์ รสชาติ และอื่น ๆ เนื่องจากช่วงทศวรรษที่ผ่านมาตลาดเติบโตแบบก้าวกระโดดถึงเท่าตัว

ความท้าทายนี้ทำให้ซัปโปโรตัดสินใจนำ AI ซึ่งพัฒนาร่วมกับไอบีเอ็ม มาช่วยเร่งสปีดการพัฒนาสินค้าใหม่ พร้อมกับได้สินค้าที่ตรงใจผู้บริโภคมากขึ้น
โดยซัปโปโรยกตัวอย่างการใช้งาน AI นี้ว่า ในการพัฒนาสินค้านั้น เจ้าหน้าที่เพียงใส่คอนเซ็ปต์คร่าว ๆ และคำอธิบายรสชาติที่ต้องการเข้าไป เช่น รสเปรี้ยว หรือรสแหลม ซึ่งสามารถใส่ได้มากถึง 10 รสชาติ นอกจากนี้ ยังสามารถให้ AI ใช้สินค้าในพอร์ตของบริษัทมาเป็นตัวอ้างอิงพร้อมกำหนดระดับความใกล้เคียงได้ด้วย เมื่อใส่ข้อมูลครบแล้ว AI จะใช้ฐานข้อมูลสูตรเครื่องดื่ม 1,200 สูตร และวัตถุดิบ 700 ชนิดที่บริษัทเคยทดสอบ-ผลิตในอดีต สร้างสูตรสินค้าใหม่ที่ตรงตามเงื่อนไขจำนวน 100 รายการออกมา พร้อมจัดลำดับตามคะแนนความใกล้เคียงกับข้อมูลคอนเซ็ปต์และรสชาติที่ใส่เข้าไป ซึ่งทั้งหมดนี้ใช้เวลาเพียงไม่กี่วินาทีเท่านั้น

โซอิจิ ซาคะชิตะ เจ้าหน้าที่ของซัปโปโร บริวเวอรี่ กล่าวว่า ในทางทฤษฎี AI นี้สามารถสร้างสูตรเครื่องดื่มได้หลากหลายถึง 1 ล้านล้านสูตร อีกทั้งยังย่นระยะเวลาในการพัฒนาเครื่องดื่มใหม่ ซึ่งเดิมต้องใช้เวลาอย่างต่ำ 4-6 เดือนลงได้ โดยเฉพาะขั้นตอนทดสอบสินค้าที่อาจเร็วขึ้น 2-3 เท่า
นอกจากนี้ ยังช่วยให้นักพัฒนาสามารถคิดนอกกรอบได้มากขึ้น เพราะเอไอไม่ยึดติดกับสามัญสำนึก หรือประสบการณ์ในอดีตเหมือนมนุษย์ ทำให้สามารถสร้างสูตรที่แปลกใหม่สุดขั้วได้ เช่น สร้างรสส้มโดยไม่ใช้ส้มเป็นส่วนประกอบเลย หรือใช้เบียร์เป็นส่วนผสมเพื่อเพิ่มความแรงแทนวอดก้า เป็นต้น สอดคล้องกับจุดเด่นของชูไฮ ที่สามารถใช้วัตถุดิบได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นผลไม้ ชา หรือเครื่องเทศ

หลังจากนี้ ซัปโปโรเล็งเปิดให้บรรดานักดื่มส่งไอเดียเครื่องดื่มของตนเข้ามา จากนั้นจึงใช้ AI ช่วยให้สามารถพัฒนาสินค้าออกสู่ตลาดได้อย่างรวดเร็ว

นอกจากนี้ รายงานยังระบุว่า อีลอน มัสก์ และ Babuschkin ได้หารือเกี่ยวกับการรวมทีมเพื่อพัฒนา AI ตัวใหม่ แต่โครงการยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น และยังไม่มีแผนที่เป็นรูปธรรม ขณะที่ Babuschkin ยังไม่ได้ตกปากรับคำเซ็นสัญญาร่วมงานกับบริษัทของ Musk แต่อย่างใด

ทั้งนี้ ChatGPT เป็นรูปแบบหนึ่งของซอฟต์แวร์ภาษาที่ได้รับการฝึกฝนจากข้อมูลบนโลกออนไลน์จำนวนมหาศาล เพื่อสร้างการโต้ตอบแบบไร้ขีดจำกัด ทั้งยังสามารถตอบคำถามยาก ๆ จากผู้ใช้งานได้ ซึ่งเปิดให้บริการแก่สาธารณชนฟรีตั้งแต่ปลายเดือนพฤศจิกายน 2022 และได้รับความสนใจจากบริษัทเทคโนโลยีเป็นอย่างมาก

อ้างอิง : https://www.prachachat.net/marketing/news-1222618

นักวิทย์ฯ สามารถทำให้ ‘AI’ สร้างรูปภาพจาก ‘ความคิดของมนุษย์’ ได้แล้ว!

จะเกิดอะไรขึ้นหากปัญญาประดิษฐ์ (AI) สามารถอ่านความคิดของคุณ และแปลงความคิดนั้นออกมาเป็นรูปภาพจริง ๆ ได้? แม้คำถามนี้จะดูเหมือนเป็นเรื่องไกลตัวที่มีอยู่ในนิยาย Sci-Fi แต่อ้างอิงจากงานวิจัยที่ตีพิมพ์ล่าสุดของมหาวิทยาลัยโอซาก้าพบว่า มีนักวิจัยที่สามารถทำให้ AI อ่านความคิดของเราได้แล้ว

งานวิจัยนี้เป็นการค้นพบวิธีการสร้างภาพความละเอียดสูงและความแม่นยำสูงจากการทำงานของสมองด้วยการใช้ Stable Diffusion โมเดล AI ที่สามารถแปลงข้อมูลเป็นรูปภาพได้ โดยผู้วิจัยระบุว่า ความแตกต่างของงานวืจัยนี้คือ พวกเขาไม่ต้องฝึกปัญญาประดิษฐ์หรือปรับแต่ง (Fine-tune) โมเดล AI เพื่อสร้างรูปภาพขึ้นมา

ในงานวิจัยเผยว่า วิธีนี้จะใช้การแปลงสัญญาณจากวิธีการสร้างภาพด้วยเรโซแนนซ์แม่เหล็ก (fMRI) โดยตัวโมเดลจะประมวลผลและเพิ่มนอยซ์ (noise) เข้าไปผ่านกระบวนการ diffusion จากนั้นจึงถอดรหัสตัวอักษรจากสัญญาณ fMRI ที่ได้จากสมองส่วนการประมวลผลรูปภาพ (higher visual cortex) เพื่อให้ AI นำรหัสตัวอักษรเป็นอินพุตในการสร้างรูปภาพที่อยู่ในความคิดของเราออกมา

อ้างอิง : https://www.beartai.com/brief/sci-news/1220656

NewsGPT ครั้งแรกของเว็บไซต์นำเสนอข่าวที่เขียนด้วย AI ทั้งหมด !!

การเติบโตของปัญญาประดิษฐ์ ส่งผลให้มันเข้ามามีบทบาทในทุกแง่มุมของสื่อและโซเชียลมีเดียต่าง ๆ อย่างมาก และล่าสุด ปัญญาประดิษฐ์ถูกนำมาใช้ในการ “เขียนข่าว” ภายใต้ชื่อ NewsGPT (นิวส์จีพีที) ซึ่งเป็นเว็บไซต์ข่าวภาษาอังกฤษ

อลัน เลวี (Alan Levy) ซีอีโอของ NewsGPT เผยว่า เขาต้องการนำเสนอข้อเท็จจริงของเนื้อหาในข่าวต่าง ๆ โดยไร้ซึ่งอคติในการเขียนข่าว เหมาะสำหรับผู้อ่านทุกคน และไม่จำเป็นต้องมีผู้รายงานข่าวเฉพาะด้าน ซึ่งเลวีเชื่อว่านี่จะกลายเป็นจุดเปลี่ยนของการนำเสนอข่าวในอนาคต

เว็บไซต์ NewsGPT เคลมว่า อัลกอริธึมและกระบวนการทางภาษาธรรมชาติที่นำมาใช้งาน สามารถค้นหาแหล่งข่าวที่เกี่ยวข้องได้แบบเรียลไทม์ อีกทั้งยังสามารถวิเคราะห์เนื้อหาต่าง ๆ จากเว็บไซต์ข่าว, โซเชียลมีเดียว และข้อมูลจากองค์กรภาครัฐบาล ส่งผลให้ NewsGPT สามารถนำเสนอข่าวใหม่ได้อย่างรวดเร็วและหลากหลายหัวข้อ

ความแตกต่างที่สำคัญของ NewsGPT เมื่อเทียบกับแหล่งข่าวอื่น คือ การเขียนข่าวด้วยปัญญาประดิษฐ์ไม่จำเป็นต้องอาศัยผู้ให้การสนับสนุน, ความเห็นจากมุมมองเฉพาะบุคคล หรือความเห็นชอบของรัฐบาล นี่จึงทำให้เลวีเชื่อว่าข่าวจาก NewsGPT จะมีความแม่นยำและไร้อคติในการนำเสนอข่าวด้วย

ปัจจุบันการใช้ปัญญาประดิษฐ์ช่วยนำเสนอข่าว ถูกนำมาใช้งานมากขึ้นในสื่อสหรัฐอเมริกา เช่น บัซฟีด (BuzzFeed) ที่ใช้ปัญญาประดิษฐ์ช่วยเรียบเรียงเนื้อหา ก่อนที่จะตรวจทานโดยฝ่ายบรรณาธิการ แม้จะไม่ได้เขียนข่าวทั้งหมดด้วยปัญญาประดิษฐ์เหมือน NewsGPT แต่นี่แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของปัญญาประดิษฐ์ในด้านการนำเสนอสื่อ

อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่ผู้ใช้ไม่ควรมองข้าม คือ ภาพหลอนของปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI Hallucination หมายถึงการสร้างคำตอบขึ้นเองโดยที่ปัญญาประดิษฐ์ไม่ทราบคำตอบจริง ๆ ส่งผลให้ผู้ใช้ได้รับข้อมูลที่ผิดพลาดและอาจส่งผลกระทบต่อผู้รับสาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อนำมาใช้ในการสร้างสื่อและข่าว

แม้ปัญญาประดิษฐ์มีการพัฒนาต่อเนื่องอย่างก้าวกระโดด และมีประสิทธิภาพในการให้คำตอบต่าง ๆ ที่ค่อนข้างแม่นยำ ถึงกระนั้น เว็บไซต์ซีเน็ต (CNET) สื่อด้านเทคโนโลยีชื่อดังยังเชื่อว่า “ปัญญาประดิษฐ์ยังไม่สามารถทำงานในฐานนักเขียนข่าวได้โดยสมบูรณ์”

อ้างอิง : https://www.tnnthailand.com/news/tech/140265/

Slack รวม ChatGPT กับแอปฯ ช่วยพูดคุยกับเพื่อนร่วมงานแทนคุณ

เช่นเดียวกับ Microsoft และ Google ทาง Salesforce เจ้าของ Slack กำลังใส่แชทบอท AI ลงในซอฟต์แวร์ของพวกเขาเพื่อช่วยเขียนข้อความต่างๆ และสรุปการประชุมโดยอัตโนมัติ

ChatGPT กำลังจะถูกนำมาใช้ใน Slack โดยทางบริษัทได้ประกาศเปิดตัวแอปที่ขับเคลื่อนด้วย AI ตัวใหม่ไม่นานมานี้ ซึ่งมันจะช่วยให้คุณตอบกลับเพื่อนร่วมงานได้ “ในเวลาไม่กี่วินาที” เท่านั้น ผู้ที่ใช้งานแอปสามารถคลิกไอคอนสามจุดในโปรแกรม แล้วกด ” Draft reply ” แทนการพิมพ์คำตอบเองได้ ซึ่งตอนนี้ยังไม่ชัดเจนว่าคำตอบเหล่านั้นจะมีคุณภาพมากเพียงใด

นอกจากนี้ ChatGPT ใน Slack นั้นยังช่วยคุณค้นหาคำตอบ “ได้ทุกที่ในโปรแกรม” โดยใช้เครื่องมือที่ขับเคลื่อนด้วย AI ของพวกเขา รวมทั้งสรุปแชนเนลหรือเธรดต่างๆ เพื่อให้คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นในที่ทำงาน โดยบริษัทและองค์กรต่างๆ สามารถเข้าร่วม waiting list สำหรับ ChatGPT รุ่นเบต้าได้แล้ว ณ ตอนนี้

ข่าวดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการประกาศของ Salesforce เกี่ยวกับ Einstein GPT ซึ่งเป็นการนำโมเดล ChatGPT ของ OpenAI มาใช้สำหรับระบบซอฟต์แวร์ CRM (การจัดการลูกค้าสัมพันธ์) จากข้อมูลของ Salesforce โดย Einstein GPT ได้ผสมผสานทั้งเทคโนโลยี AI ของ Salesforce และ OpenAI ทำให้สามารถสร้างอีเมลที่พนักงานขายสามารถส่งถึงลูกค้าได้ สร้างการตอบสนองต่อคำถามของลูกค้าได้ และยังสามารถสร้าง “เนื้อหาที่ตรงเป้าหมาย” สำหรับนักการตลาดได้อีกด้วย

การเปิดตัวครั้งนี้ของ Salesforce สำหรับเครื่องมือที่ขับเคลื่อนด้วย AI ไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจแต่อย่างใด เพราะบริษัทอื่นๆ หลายแห่ง เช่น Microsoft, Google และ Meta นั้นก็กำลังมองหาวิธีรวม AI เข้ากับผลิตภัณฑ์ของตนเช่นกัน และการแข่งขันก็กำลังร้อนแรงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เพียงหนึ่งวันก่อนการประกาศนี้ Microsoft ได้เปิดตัว AI CoPilot สำหรับ Microsoft 365 ซึ่งสามารถเขียนอีเมลหรือข้อความที่ปรับแต่งได้ให้กับลูกค้าเช่นเดียวกับสร้างเนื้อหาทางการตลาด นอกจากนี้ Google ยังแลงการณ์ถึงการรวมเครื่องมือ AI เข้ากับแอปเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ เช่น Meet และ Spaces อีกด้วย

อ้างอิง : https://www.theverge.com/2023/3/7/23628673/chatgpt-slack-salesforce-einstein-ai-business-messaging

Microsoft เปิดตัวฟีเจอร์ “CoPilot” AI ใน Dymamics 365 ช่วยจัดการลูกค้าสัมพันธ์และวางแผนทรัพยากร

หากคุณสังเกตเห็นว่าอีเมลจากพนักงานขายหรือการตอบกลับจากตัวแทนฝ่ายสนับสนุนลูกค้าของคุณนั้นดูไม่ค่อยดี คุณอาจต้องขอบคุณ AI โดยทาง Microsoft ได้ประกาศว่าจะเปิดตัวฟีเจอร์ AI ใน Dynamics 365 ซึ่งเป็นชุดแอประดับองค์กรสำหรับการจัดการลูกค้าสัมพันธ์ (CRM) และการวางแผนทรัพยากรล

ทาง Microsoft เรียกชุดฟีเจอร์นี้ว่า “CoPilot” และกำลังเปิดตัวฟีเจอร์นี้เพื่อช่วยนักธุรกิจ “สร้างแนวคิดและเนื้อหาได้เร็วขึ้น ลดเวลางานที่ใช้เวลานาน และรับข้อมูลเชิงลึกรวมไปถึงการดำเนินการที่ดีที่สุดในขั้นตอนถัดไป” เช่น การให้ AI เขียนอีเมลที่ปรับแต่งได้ให้กับลูกค้าและสร้างสรุปการประชุมโดยอัตโนมัติ โดยเขียนการตอบกลับไปยังแชทและอีเมลของฝ่ายบริการลูกค้าตามการสนทนาก่อนหน้า และช่วยให้นักการตลาดเจาะลึกข้อมูลโดยไม่ต้องเขียน SQL นอกเหนือจากนี้ บริษัทยังเสนอว่ามันจะเป็นวิธีที่ช่วยสร้างไอเดียสำหรับการทำการตลาดผ่านอีเมล โดยหมายความว่าคุณอาจจะเริ่มเห็นโฆษณาที่ขับเคลื่อนด้วย AI ในกล่องจดหมายของคุณในไม่ช้านี้

Microsoft ได้ผลักดันเทคโนโลยี AI เชิงสร้างสรรค์ในแอปที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจอื่นๆ ของตนเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น GitHub ซึ่งเป็นเครื่องมือยอดนิยมสำหรับผู้เขียนโค้ด ที่มีฟีเจอร์ CoPilot เพื่อช่วยคุณเขียนโค้ดได้ และยังมี Teamsที่ ใช้ AI สำหรับสิ่งต่างๆ มากมาย เช่น การสรุปการประชุม รวมไปถึงนอกจากนี้ บริษัทยังได้เริ่มเผยแพร่ “บทความที่ได้รับการความร่วมมือในการเขียน” ที่สร้างโดย AI บน LinkedIn

ในโพสต์บน LinkedIn ซีอีโอ Satya Nadella เรียกการพัฒนาเหล่านี้ว่าการก้าวไปสู่ “การเปลี่ยนแปลงทุกกระบวนการทางธุรกิจและการทำงานด้วยการทำงานร่วมกันแบบอินเทอร์แอคทีฟที่ขับเคลื่อนด้วย AI” นอกจากนี้มีรายงานว่า Microsoft กำลังวางแผนที่จะรวม ChatGPT เข้ากับแอปต่างๆ เช่น Word, PowerPoint และ Outlook ในเร็วๆ นี้

อ้างอิง : https://www.theverge.com/2023/3/6/23627964/microsoft-ai-copilot-customer-support-chatbot-marketing-emails

Ford เปิดตัวบริษัท “Latitude AI” พัฒนา AI ช่วยขับขี่หลังจากการปิดตัวของ Argo AI ในปีที่ผ่านมา


หลังจากถอนการลงทุนของ Ford ใน Argo AI ผู้พัฒนาระบบขับขี่อัตโนมัติในเดือนตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา ทาง Ford ได้ประกาศจัดตั้งบริษัทใหม่ที่จะว่าจ้างวิศวกรหลายคนที่เคยทำงานด้านโรโบแท็กซี่มาก่อนมาร่วมกันพัฒนา

บริษัทนั้นก็คือ “Latitude AI” บริษัทลูกในเครือซึ่งจะมีสำนักงานใหญ่ในพิตต์สเบิร์ก โดยบริษัทใหม่นี้จะมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาระบบอัตโนมัติบางส่วนแบบแฮนด์ฟรีและระบบอัตโนมัติบางส่วน ซึ่ง Ford คาดว่าจะสร้างรายได้และผลกำไรใหม่ๆ ในอนาคตอันใกล้นี้

ในขณะที่มีการประกาศปิด Argo ทาง Jim Farley ซีอีโอของ Ford อธิบายว่าพวกเขาได้ตัดสินใจที่จะปรับโฟกัสความพยายามใหม่อีกครั้งโดยเปลี่ยนจากหุ่นยนต์แท็กซี่และรถส่งของที่ทำงานอัตโนมัติเต็มรูปแบบไปสู่ระบบอัตโนมัติบางส่วนหรือแบบมีเงื่อนไข โดยทั่วไปจะเรียกว่าระดับ 2 และระดับ 3 ตามคำจำกัดความของสมาคมวิศวกรยานยนต์ ซึ่งระบบรถยนต์เหล่านี้จะสามารถขายให้กับลูกค้าในวันนี้และในปีต่อๆ ไป โดยมันจะสร้างรายได้และผลกำไรได้ทันที

เทคโนโลยีอัตโนมัติระดับสูงที่เรียกว่าระดับ 4 ที่ Argo กำลังพัฒนานั้นได้รับการออกแบบให้ทำงานโดยไม่ต้องมีปฏิสัมพันธ์หรือการควบคุมจากมนุษย์เลย อย่างไรก็ตาม Ford ได้สรุปว่าเวลาในการบรรลุธุรกิจที่ต้องการขยายขนาดและทำกำไรร่วมกับความจำเป็นในการลงทุนด้านพลังงานไฟฟ้ามูลค่าสูงถึง 50,000 ล้านดอลลาร์นั้นไม่คุ้มค่าที่จะลงทุนในช่วงเวลานี้ และเมื่อมีการประกาศปิดตัว Argo พวกเขาก็กล่าวว่ามีแผนที่จะจ้างวิศวกรหลายคนที่นั่นเพื่อสนับสนุนความพยายามภายใน และมีทีมงาน Argo จำนวน 550 คนหรือประมาณหนึ่งในสี่เข้าร่วมกับบริษัทของพวกเขา

Latitude AI จะประจำอยู่ที่พิตต์สเบิร์ก ซึ่งเคยเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของ Argo และในฐานะที่เป็นบริษัทเดี่ยวที่ตั้งอยู่ในพิตส์เบิร์ก Latitude ยังแยกออกจากวัฒนธรรมดั้งเดิมที่ยังคงมีอยู่ในองค์กรหลักและสามารถดำเนินการได้รวดเร็วขึ้น Latitude อาจสามารถรับบทเรียนจาก Argo AI เพื่อพัฒนาได้เร็วขึ้น แต่ยังเร็วเกินไปที่จะบอกว่า Ford นั้นต้องการให้ Latitude เป็นคู่แข่งกับบริษัทอย่าง Mobileye ของ Intel แต่ก็ดูเหมือนว่าจะเป็นเช่นนั้น

อ้างอิง : https://www.forbes.com/sites/samabuelsamid/2023/03/02/ford-launches-new-company-to-focus-on-driver-assist-latitude-ai/?sh=413097e92389

—————————————————————————————-

ทั้งหมดเป็นข่าวที่น่าสนใจใน  3 – 9 มีนาคม 2565 พบกันใหม่ในสัปดาห์หน้านะคะ : )

หากมีข้อสงสัย ติชมสามารถ ติดตามและสอบถามได้ที่
 : AIไทยสามารถ โดย AI for all Thailand



เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึก