ข่าว AI รอบโลก – สัปดาห์ที่ 2 เดือนกันยายน 2022

AI กำลังเป็นส่วนสำคัญมากขึ้นในด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ทั้งด้านดีและร้าย

ปัญญาประดิษฐ์มีบทบาทสำคัญมากขึ้นในการรักษาความปลอดภัยในโลกไซเบอร์ ทั้งในแง่ดีและร้าย องค์กรต่างๆ สามารถใช้ประโยชน์จากเครื่องมือที่ใช้ AI เพื่อตรวจจับภัยคุกคามได้ดีขึ้นรวมไปถึงการปกป้องระบบและทรัพยากรข้อมูลของพวกเขา แต่อย่างไรนั้นอาชญากรไซเบอร์ยังสามารถใช้เทคโนโลยีนี้เพื่อเริ่มการโจมตีที่ซับซ้อนยิ่งขึ้นเช่นกัน

การเพิ่มขึ้นของการโจมตีทางไซเบอร์นั้นสามารถช่วยกระตุ้นการเติบโตในตลาดผลิตภัณฑ์ความปลอดภัยที่ใช้ AI โดยรายงานของ Acumen Research and Consulting ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ระบุว่าตลาดโลกนั้นมีมูลค่า 14.9 พันล้านดอลลาร์ในปี 2021 และคาดว่าจะสูงถึง 133.8 พันล้านดอลลาร์ในปี 2030

โดยหนึ่งในแรงผลักดันของการเติบโตของตลาดคือการระบาดของโควิด-19 และเปลี่ยนไปทำงานทางไกล ซึ่งตามรายงาน หลายบริษัทให้ความสำคัญกับความปลอดภัยในโลกไซเบอร์และการใช้เครื่องมือที่ขับเคลื่อนด้วย AI เพื่อค้นหาและหยุดการโจมตีได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

สำหรับอนาคตแนวโน้มต่างๆ เช่น การนำ Internet of Things (IoT) ไปใช้ที่เพิ่มขึ้นและจำนวนอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อกันที่เพิ่มขึ้นนั้นคาดว่าจะกระตุ้นการเติบโตของตลาดได้อีกจำนวนมาก โดยรายงานของ Acumen บอกว่าการใช้บริการรักษาความปลอดภัยบนคลาวด์ที่เพิ่มขึ้นอาจเปิดโอกาสให้มีการใช้ AI สำหรับการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก

Brian Finch ผู้นำร่วมด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ การปกป้องข้อมูล และแนวปฏิบัติด้านความเป็นส่วนตัวของสำนักงานกฎหมาย Pillsbury Law กล่าวว่า “สิ่งที่น่าสนใจที่สุดคือเราเห็นเครื่องมือวิเคราะห์พฤติกรรมมากขึ้นโดยใช้ AI” “ซึ่งเป็นเครื่องมือ AI ที่วิเคราะห์ข้อมูลเพื่อค้นหารูปแบบพฤติกรรมของแฮ็กเกอร์ เพื่อดูว่ามีรูปแบบการโจมตีของพวกเขาหรือไม่ โดยใช้ข้อมูลอย่างเช่น เวลา วิธีการโจมตี และวิธีที่แฮกเกอร์เคลื่อนไหวเมื่ออยู่ในระบบ การรวบรวมข้อมูลดังกล่าวนั้นมีค่ามากสำหรับเจ้าของระบบ”

แต่ในทางกลับกัน ผู้ไม่หวังดียังสามารถใช้ประโยชน์จาก AI ได้หลายวิธีเช่นกัน ตัวอย่างเช่น AI สามารถใช้เพื่อระบุรูปแบบในระบบคอมพิวเตอร์ที่เป็นจุดอ่อนในซอฟต์แวร์หรือโปรแกรมความปลอดภัย ซึ่งช่วยให้แฮกเกอร์สามารถใช้ประโยชน์จากจุดอ่อนที่ค้นพบใหม่เหล่านั้นเช่นกัน และเมื่อรวมกับข้อมูลส่วนบุคคลที่ถูกขโมยหรือรวบรวมข้อมูลโอเพ่นซอร์ส เช่น โพสต์ในโซเชียลมีเดีย ก็จะสามารถทำให้อาชญากรไซเบอร์สามารถใช้ AI สร้างอีเมลฟิชชิ่งจำนวนมากเพื่อแพร่กระจายมัลแวร์หรือรวบรวมข้อมูลที่มีค่าได้

อ้างอิง : https://www.cnbc.com/2022/09/13/ai-has-bigger-role-in-cybersecurity-but-hackers-may-benefit-the-most.html?&qsearchterm=AI

นักวิจัยสร้าง AI ที่ปรับความยากของเกมให้เหมาะกับความเก่งและความสนุกของผู้เล่นได้เอง

ทีมนักวิจัยจาก Gwangju Institute of Science and Technology ประเทศเกาหลีใต้ได้เผยแพร่งานวิจัยในการพัฒนาระบบ DDA (dynamic difficulty adjustment) ซึ่งเป็นระบบปรับความยากของเกมในระหว่างการเล่นที่ล้ำหน้าไปอีกขั้น โดยระบบสามารถปรับความยากไม่เพียงให้สอดคล้องกับความเก่งของผู้เล่นเท่านั้น แต่ยังสัมพันธ์ความรู้สึกสนุกของผู้เล่นด้วย

เทคโนโลยี DDA นี้ไม่ใช่เรื่องใหม่เสียทีเดียว ในปัจจุบันระบบ DDA ที่มีใช้งานอยู่จะอาศัยการเก็บข้อมูลของผู้เล่นเกมเพื่อประเมินระดับฝีมือว่าเล่นได้เก่งเพียงใดและปรับความยากของเกมให้มีความท้าทายเหมาะสมกับฝีมือการเล่นนั้น หากผู้เล่นทำคะแนนได้ดีตัวเกมก็จะถูกปรับให้ยากขึ้นโดยอัตโนมัติ อย่างไรก็ตามทีมวิจัยคิดว่าการที่ผู้เล่นสามารถทำคะแนนได้ดีแล้วเจอเกมที่ยากขึ้นไม่ได้แปลว่าผู้เล่นจะรู้สึกสนุกขึ้นตามไปด้วยเสมอ

ทีมวิจัยจึงพัฒนาระบบ DDA ที่ไม่เพียงแต่สนใจแค่ความเก่งในการเล่นที่วัดได้จากคะแนนของผู้เล่นเท่านั้น แต่ยังคำนึงถึงองค์ประกอบอื่นๆ ที่สะท้อนถึงความสนุกในการเล่นเกม โดยระบบจะมุ่งเพิ่มระดับความพึงพอใจของผู้เล่นในด้านใดด้านหนึ่งหรือหลายด้านในมิติเหล่านี้

  • ความท้าทายของเกม หรือก็คือความยากในการเล่น
  • ความเก่งของระบบ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าจะเป็นการเพิ่มความยากหรือความท้าทายของเกมเสมอไป ตัวอย่างเช่น ระบบผู้ช่วยในเกมที่เก่งขึ้น อาจทำให้รู้สึกเพลิดเพลินหรือรู้สึกเล่นเกมง่ายขึ้นด้วยซ้ำ
  • ความลื่นไหล หรือความต่อเนื่องของการเล่น
  • ความน่าดึงดูด คือความน่าสนใจและสะกดให้ผู้เล่นจดจ่ออยู่กับเกมนานขึ้น

ทีมวิจัยเชิญอาสาสมัครมาร่วมทำการทดลองเล่นเกมประเภทเกมต่อสู้โดยให้แข่งกับคอมพิวเตอร์ที่มีความยากระดับต่างๆ กันหลายระดับ จากนั้นเก็บข้อมูลจากอาสามาสมัครโดยให้ตอบแบบสอบถามว่าการเล่นเกมที่ผ่านมานั้นทำให้พวกเขามีความรู้สึกอย่างไร

จากนั้นทีมวิจัยนำเอาข้อมูลที่ได้จากการสอบถามไปเทรนให้ระบบ DDA ทำความเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างระดับความยากแต่ละระดับกับความรู้สึกพึงพอใจในแต่ละมิติของกลุ่มผู้เล่นได้ดีขึ้น พวกเขาใช้เทคนิค Monte-Carlo tree search ในการปรับปรุงระบบ DDA ให้สามารถปรับระดับความยากของเกมได้ดีช่วยให้ผู้เล่นรู้สึกสนุกมากขึ้น

อ้างอิง : https://www.blognone.com/node/130351

รายงานเผยตลาด AI ด้านแฟชั่นอาจโตเฉลี่ย 42% ต่อปีจนถึงปี 2026

The Business Research Company ได้รายงานว่า ตลาด AI ด้านแฟชั่นทั่วโลกคาดว่าจะเติบโตจาก 0.47 พันล้านดอลลาร์ในปี 2564 เป็น 0.65 พันล้านดอลลาร์ในปี 2022 ที่อัตราการเติบโตต่อปี (CAGR) ที่ 40.0% และคาดว่าจะเติบโตเป็น 2.66 พันล้านดอลลาร์ในปี 2026 ที่ CAGR 42.1% โดยในปี 2022 นั้น อเมริกาเหนือเป็นภูมิภาคที่ใหญ่ที่สุดสำหรับตลาด AI ด้านแฟชั่น และจากการคาดการณ์ได้ช่วงที่ต่อไปจากนี้นั้น เอเชียแปซิฟิกจะเป็นภูมิภาคที่เติบโตเร็วที่สุด

อิทธิพลที่เพิ่มขึ้นของโซเชียลมีเดียในอุตสาหกรรมแฟชั่นกำลังผลักดันการเติบโตของตลาด AI ด้านแฟชั่น โดยโซเชียลมีเดียเป็นแหล่งข้อมูลหลักสำหรับอุตสาหกรรมแฟชั่น เนื่องจากมีความคิดเห็นและข้อมูลมากมายจากทุกแหล่งทั่วโลก แฟชั่นในปัจจุบันส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับการส่งเสริมแบรนด์และอินฟลูเอนเซอร์ด้านแฟชั่นที่ใช้โซเชียลมีเดียเพื่อสื่อสารความคิดเห็นเกี่ยวกับแฟชั่น

ตัวอย่างเช่น ตามที่ Influencer Marketing Hub ซึ่งเป็นแหล่งข้อมูลโซเชียลมีเดียสำหรับผู้มีอิทธิพล ตลาดผู้มีอิทธิพลทางการตลาดเติบโตขึ้นจาก 9.7 พันล้านดอลลาร์ในปี 2020 เป็น 13.8 พันล้านดอลลาร์ในปี 2021 จากความนิยมที่เพิ่มขึ้นของวิดีโอสั้นบนแพลตฟอร์มเช่น TikTok, Facebook และ YouTube รวมถึงผลกระทบของการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทั่วโลกต่อผู้บริโภค

ซึ่งเทคโนโลยี machine learning นั้นกำลังกำหนดแนวทางของ AI ตลาดแฟชั่นในตอนนี้ โดยมันสามารถเข้าใจภาพและดำเนินการที่ช่วยในการให้ข้อมูลและคำแนะนำแก่ลูกค้าได้ดีขึ้นตามพฤติกรรมของพวกเขา ตัวอย่างเช่น ในเดือนเมษายน 2021 Tommy Hilfiger แบรนด์แฟชั่นดีไซเนอร์ชื่อดังได้ใช้เครื่องมือ machine learning สำหรับภาพผลิตภัณฑ์จำนวนกว่า 15,000 ภาพ

อ้างอิง : https://www.businesswire.com/news/home/20220913006012/en/AI-in-Fashion-Global-Market-Report-2022-Growing-Influence-of-Social-Media-on-the-Fashion-Industry-Fueling-Sector—ResearchAndMarkets.com

สวยจึ้ง! โซเชียลแห่แชร์ ผลงาน AI ออกแบบขวดน้ำหอม ตามเอกลักษณ์ประเทศ

เรียกว่าเป็นอีกหนึ่งแรงกระเพื่อมในวงการศิลปะที่กำลังมาแรงในช่วงไม่กี่เดือนมานี้ สำหรับเว็บไซต์ www.midjourney.com การสร้างผลงานศิลปะด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่ทำหน้าที่เป็นบอท (Bot) ในการรับคำสั่งผ่าน ‘คีย์เวิร์ด’ ที่ป้อนลงไป ก่อนจะนำไปต่อยอดสร้างออกมาเป็นผลงานศิลปะ ซึ่งเป็นผลงานการพัฒนาที่เกิดจากทีมงานเพียง 10 คน ที่มีจุดประสงค์ไม่หวังผลกำไร กระทั่งเกิดเป็นคอมมูนิตี้ในการแชร์ผลงานจากเว็บไซต์ดังกล่าว

ดังเช่นในกลุ่มเฟซบุ๊กสาธารณะ Midjourney Thailand ที่มีสมาชิกถึง 6.9 หมื่นราย เมื่อวันที่ 10 กันยายนที่ผ่านมา ผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อว่า “ธตรัฐ ไตรณรงค์” ได้เผยภาพผลงานจากเว็บไซต์ดังกล่าว

โดยระบุว่า “ลองให้ A.I. ออกแบบขวดน้ำหอมโดยใช้เอกลักษณ์ของแต่ละประเทศดู บางอันก็ชัด บางอันก็ยักไหล่…”

ภายหลังจากที่เผยแพร่โพสต์ดังกล่าวออกไป ได้มีผู้ใช้งานออนไลน์แชร์ออกไปมากกว่า 6.4 พันครั้ง พร้อมทั้งกดไลค์และร่วมแสดงความคิดเห็นจำนวนมาก ทั้งในบางภาพที่เพียงแค่มองก็ทราบทันทีว่าเป็นการออกแบบตามเอกลักษณ์ของประเทศใด ขณะที่บางภาพก็ต้องใช้เวลาตรึกตรองสักหน่อย เป็นต้น

อ้างอิง : https://www.matichon.co.th/social/news_3557877

AI Patient Twin นวัตกรรมช่วยแพทย์จำลองอวัยวะมนุษย์ก่อนรักษาจริง

ข้อมูลจาก ซีเมนส์ เฮลท์ธิเนียร์ส (Siemens Healthineers) บริษัทผลิตเครื่องมือแพทย์ จากประเทศเยอรมัน ระบุว่า เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เป็นบทบาทสำคัญที่ช่วยแพทย์รักษาผู้ป่วย เนื่องจากหลาย ๆ ประเทศนั้นค่อนข้างขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ การมี AI เข้ามาจะทำให้ทุกโรงพยาบาลสามารถเข้าถึงการรักษาที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งซีเมนส์เล็งเห็นสำคัญส่วนนี้จึงได้พัฒนาสินค้าและบริการทางการแพทย์มาอย่างต่อเนื่อง

โดยก่อนหน้านี้ได้แลกเปลี่ยนเทคโนโลยีกับโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ด้วยการส่งกล้อง 3D Camera ติดตั้งเครื่องกับ CT Scan และชุดตรวจโควิด-19 แบบ ATK, การตรวจแบบ PCR ในช่วงโควิดระบาดแรก ๆ (ปี 2563) เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระงานของโรงพยาบาล ทำให้การตรวจโควิดนั้นง่าย-รวดเร็วกว่าเดิม ล่าสุด ซีเมนส์พัฒนา “Patient Twinning” นวัตกรรมที่สามารถจำลองระบบภายในร่างกายของผู้ป่วยด้วยเทคโนโลยีเสมือน (AR) ช่วยให้แพทย์สามารถตรวจสอบความผิดปกติของอวัยวะภายในได้อย่างละเอียด ทั้งยังจำลองการตอบสนองของร่างกายผู้ป่วยต่อการรักษาและให้ความแม่นยำในการวินิจฉัยโรค โดยคาดการว่าจะนำเข้าในประเทศไทยในไม่ช้านี้

บีเยิร์น โบเด็นสไตน์ กรรมการผู้จัดการบริษัทซีเมนส์ เฮลท์ธิเนียร์ส ประเทศไทย กล่าวว่า นวัตกรรม “Patient Twinning” หรือ “การรักษาแบบเสมือนจริง” ด้วยการใช้ AI จำลองอวัยวะในโลกเสมือนจริง เปรียบได้กับการสร้างฝาแฝดของผู้ป่วยขึ้นมาเพื่อวิเคราะห์และหาต้นตอของการเกิดโรค
AI จะทำหน้าที่ขจัดความซับซ้อนที่เป็นอุปสรรคต่อการวิเคราะห์ผู้ป่วย และจำลองการตอบสนองของร่างกายต่อการรักษาด้วยวิธีต่าง ๆ บนคอมพิวเตอร์ก่อนลงมือรักษาจริง จะช่วยให้แพทย์สามารถตรวจสอบความผิดปกติของอวัยวะภายในได้อย่างละเอียด และสามารถวินิจฉัยโรคได้แม่นยำมากขึ้น

นอกจากนี้ยังช่วยลดขั้นตอนการรักษาที่ไม่จำเป็น รวมไปถึงลดความเสี่ยงในการรักษาที่ผิดพลาด ทำให้บุคลากรทางการแพทย์สามารถวางแผนการรักษาล่วงหน้าเพื่อผลลัพธ์การรักษาที่ดีที่สุด ซึ่งวิธีการใช้งานจะแบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอน คือ

  • การแพลนมุมมองให้เห็นภาพรวมของระบบร่างกายจำลองที่แพทย์ต้องการรักษา
  • การซูมเข้า-ออกเพื่อทำให้แพทย์มองเห็นรายละเอียดของระบบภายในมากขึ้น เช่น หลอดเลือดต่าง ๆ
  • การหมุน 360 องศา ทำให้แพทย์เห็นทุกมุมมองของโมเดลจำลอง

นอกจากเทคโนโลยี Patient Twinning ที่เป็นไฮไลท์สำคัญของปีนี้ ซีเมนส์ยังมีการพัฒนาเทคโนโลยีอื่น ๆ อย่างต่อเนื่อง ได้แก่

AI Rad Companion – ระบบฐานข้อมูล (Big Data) ที่รวบรวมภาพผลการวินิจฉัยโรคของซีเมนส์ที่มีอยู่ทั่วโลก เพื่อช่วยกำหนดทิศทางให้แพทย์วินิจฉัยแนวโน้มรอยโรคของผู้ป่วยได้แม่นยำ จากการเทียบเคียงภาพของผู้ป่วยและผลการวินิจฉัยในคลังข้อมูล ทำให้วิเคราะห์โรคได้ง่ายและรวดเร็ว เพิ่มความครอบคลุมในการวินิจฉัยโรคของแพทย์ผู้รักษาให้มีประสิทธิภาพ
Syngo Virtual Cockpit – ระบบเชื่อมต่อทางไกลระหว่างแพทย์ผู้เชี่ยวชาญกับอุปกรณ์ทางการรักษา ที่ช่วยลดช่องว่างการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์เฉพาะทางในการเข้าถึงการรักษาผู้ป่วยที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล โดยเทคโนโลยีนี้จะช่วยให้แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคได้ทุกที่ทุกเวลาไม่ว่าจะอยู่มุมใดของโลกผ่านการเข้าระบบ Virtual Cockpit ทำให้แพทย์สามารถเข้าถึงการรักษาได้อย่างละเอียดทุกขั้นตอนเสมือนไปวินิจฉัยโรคอยู่ตรงหน้าผู้ป่วย โดยยังคงได้ผลลัพธ์การวินิจฉัยที่ถูกต้องและแแม่นยำที่สุด
Cinematic Reality – การนำเสนอภาพทางการแพทย์ที่สมจริง ผ่านเทคโนโลยี Cinematic Rendering ในทางการแพทย์จะใช้ในการสร้างภาพอวัยวะหรือร่างกายของผู้ป่วยขึ้นมาบนโลกเสมือนจริง หรือการทำให้ภาพเอกซเรย์อวัยวะในร่างกายธรรมดา ๆ กลายเป็น ภาพที่สามารถเคลื่อนไหวหรือจับต้องได้ ด้วยมุมมองภาพ 3 มิติ ซึ่งสามารถปรับเปลี่ยนทิศทางได้ตามความต้องการของแพทย์ และขจัดข้อจำกัดการมองเห็นสำหรับการวินิจฉัยอวัยวะและระบบภายในร่างกายที่ผิดปกติได้ ซึ่งให้ความละเอียดสูง สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า และภาพจะชัดเจนและมีมิติสมจริงยิ่งขึ้นเมื่อดูผ่านเทคโนโลยีความเป็นจริงแบบเสมือน (VR)

และในการกระจาย AI สู่โรงพยาบาลในชนบท บีเยิร์น กล่าวว่า สัดส่วนการนำเทคโนโลยีของซีเมนส์ไปใช้ระหว่างโรงพยาบาลรัฐและเอกชนนั้นมีจำนวนที่ค่อนข้างใกล้เคียงกัน สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ โรงพยาบาลทั้ง 2 ประเภทให้ความสำคัญกับ AI/AR เหมือนกัน เพราะมันเป็นสิ่งที่เข้ามาช่วยทำให้รักษาผู้ป่วยได้แม่นยำ และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

อ้างอิง : https://www.bangkokbiznews.com/tech/innovation/1025691

ม.มหิดล ร่วมวิจัยทีมแพทย์ไทยและอเมริกัน ใช้ AI วิเคราะห์ข้อมูลปลูกถ่ายไต ได้ตีพิมพ์วารสารวิชาการระดับโลก

ปัจจุบันด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ก้าวไกลทางด้านการปลูกถ่ายไต นอกจากจะทำให้ผู้ป่วย โรคไตวายระยะสุดท้ายได้รับการรักษาที่ดีที่สุดแล้ว ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ยังช่วยทำนายผลการปลูกถ่ายไตให้ผู้ป่วยและญาติได้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจก่อนเข้ารับการปลูกถ่ายไตได้ต่อไปอีกด้วย

รองศาสตราจารย์ นายแพทย์จักรพงษ์ บรูมินเหนทร์อายุรแพทย์โรคติดเชื้อจากสาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ และ ศูนย์ปลูกถ่ายอวัยวะ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เปิดเผยถึงความคืบหน้าของงานวิจัยเกี่ยวกับการใช้ AI เพื่อช่วยในการวิเคราะห์ข้อมูลผู้ป่วยปลูกถ่ายไต (Use of Machine Learning Consensus Clustering to Identify Distant Subtypes of Black Kidney Transplant Recipients and Associated Outcomes)

จากที่ได้ร่วมวิจัยกับทีมแพทย์ชาวไทยและอเมริกันที่มากด้วยประสบการณ์ ณ สหรัฐอเมริกา ปัจจุบันได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับโลก JAMA SURGERY ซึ่งเป็นTop 1% ของโลก ได้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว นับเป็นหนึ่งในความภาคภูมิใจของมหาวิทยาลัยมหิดลที่สามารถสร้างชื่อเสียงจากการวิจัยใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ “Machine Learning” จัดการข้อมูลขนาดใหญ่ (big data) ของผู้ป่วยโรคไตที่เข้ารับการปลูกถ่ายไต

โดย รองศาสตราจารย์ นายแพทย์จักรพงษ์ บรูมินเหนทร์ และทีมวิจัย ได้ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์จัดการข้อมูลผู้ป่วยโรคไต พบว่า การปลูกถ่ายไตจากผู้บริจาคไตที่ยังมีชีวิตอย่างทันท่วงที ให้ผลลัพธ์ของการทำงานต่อไตที่ปลูกถ่ายและการรอดชีวิตที่ยืนยาวกว่าการปลูกถ่ายไตจากผู้บริจาคที่เสียชีวิต ในผู้ป่วยโรคไตที่มีโรคประจำตัว

สาเหตุสำคัญเนื่องจากโดยปกติแล้วผู้ป่วยโรคไตระยะสุดท้ายที่จำเป็นต้องเข้ารับการฟอกเลือด หรือล้างไตทางหน้าท้องเป็นประจำ มักไม่แข็งแรง และเสี่ยงต่อการเสียชีวิตการปลูกถ่ายไตในผู้ป่วยดังกล่าวจะเพิ่มคุณภาพชีวิต รวมถึงการรอดชีวิตที่ดีกว่า

ซึ่งแน่นอนที่สุดว่า ไตที่ได้รับจากผู้บริจาคที่ยังคงมีชีวิตอยู่ย่อมมีสภาพที่สมบูรณ์กว่า

แม้ผลการวิจัยจะมาจากฐานข้อมูลของผู้ป่วยปลูกถ่ายไตชาวอเมริกัน แต่เชื่อมั่นว่าจะสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้กับผู้ป่วยโรคไตชาวไทยได้เป็นอย่างดี โดยอาจนำข้อมูลจากฐานข้อมูลผู้ป่วยที่เข้ารับการปลูกถ่ายไตจาก ศูนย์ปลูกถ่ายอวัยวะ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีมหาวิทยาลัยมหิดล กว่า 2,000 ราย ที่ได้รับการปลูกถ่ายไตในรอบกว่าสองทศวรรษที่ผ่านมา

อ้างอิง : https://www.ryt9.com/s/prg/3355784

LG MoodUp ตู้เย็น AI อัจฉริยะ เปลี่ยนสีได้ผ่านแอป ฟังเพลงและคุยกับผู้ใช้ได้

LG MoodUp ตู้เย็นอัจฉริยะ ที่ทำให้เราเห็นว่ายุคของเทคโนโลยีกำลังเข้าใกล้ตัวเราขึ้นทุกวัน ด้วยฟังก์ชันสุดล้ำไม่ว่าจะเป็น เปลี่ยนตู้เย็นได้ผ่านแอป เชื่อมต่อลำโพงบลูทูธของตู้เย็นเพื่อฟังเพลง และอื่นๆอีกมากมาย

ใครจะไปเชื่อว่าในปัจจุบัน ประตูของตู้เย็นจะกลายเป็นไฟ LED อัจฉริยะที่สามารถปรับสีได้ตามใจชอบ แต่ LG MoodUp ทำได้แล้ว โดยควบคุมผ่านแอป ThinQ ของทาง LG เลือกได้ทั้งหมด 22 สี (ประตูด้านบน) และ 19 สี (ประตูด้านล่าง) และยังปรับค่าธีมสีต่างๆ เช่น ปาร์ตี้ , พักผ่อน ที่จะช่วยเพิ่มบรรยากาศในห้องให้ดีขึ้นไปอีก

และตู้เย็นจะไม่ใช่แค่ตู้เย็นธรรมดาที่เอาไว้แช่เย็นอาหารอีกต่อไป เพราะ LG MoodUp มาพร้อมกับลำโพงบลูทูธไร้สาย ซึ่งจะช่วยให้สามารถเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟน แท็บเล็ตหรือแล็ปท็อป เมื่อเปิดเพลงจากแอปสตรีมมิงเช่น Spotify , JOOX หรือ Music Collection บนแอพ ThinQ ก็ได้ ระบบทำการซิงค์เชื่อมโยงให้ไฟกะพริบตามจังหวะและแนวเพลงได้อีกด้วย

ประตูตู้เย็น LED ของ LG MoodUp ไม่ได้มีไว้แค่สวยงาม แต่ยังแฝงด้วยความอัจฉริยะ เช่น เมื่อเปิดประตูตู้เย็นทิ้งไว้ หรือปิดไม่สนิท ประตู LED จะกะพริบเตือน , เซนเซอร์ตู้เย็นเมื่อตรวจจับว่ามีคนเข้ามาใกล้จะมีการกะพริบไฟเพื่อต้อนรับ , เวลากลางคืนประตูช่องแช่แข็งจะสว่างขึ้นอัตโนมัติเพื่อช่วยให้เราหยิบอาหารตอนกลางคืนได้ง่าย

นอกจากนี้ LG ยังได้นำระบบ AI เข้ามาใช้กับเครื่องใช้ไฟฟ้า และตู้เย็น LG MoodUp ก็เช่นกัน การผสานรวม AI ขั้นสูงช่วยให้ MoodUP สามารถปรับปรุงและขยายประสบการณ์ผู้ใช้ด้วยคุณสมบัติต่างๆ เช่น การจดจำเสียง และการเชื่อมต่อ Wi-Fi และ Bluetooth

ปัจจุบันระบบ AI ได้เข้ามาใกล้ชีวิตประจำวันของเรามากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการสั่งด้วยเสียงอย่าง Siri , Google ก็สามารถทำได้ หรือการควบคุมเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆผ่านแอปที่ทำได้ไม่ยาก (Smart Home) เมื่อเทคโนโลยีมีราคาถูกลงในทุกวันและเข้าถึงผู้คนได้มากขึ้น และความอัจฉริยะและความทันสมัยจากเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เราอาจคิดไม่ถึงว่าจะทำได้ เป็นอีกสัญญาณว่าเรากำลังขยับเข้าสู่ยุคของเทคโนโลยีและดิจิทัลอย่างเต็มตัว

อ้างอิง : https://www.springnews.co.th/digital-tech/gadget/829309

Uber Eats และ Nuro ลงนาม 10 ปี เปิดบริการส่งอาหารด้วยหุ่นยนต์ในรัฐแคลิฟอร์เนียและเท็กซัส

ลูกค้าอูเบอร์ อีทส์ (Uber Eats) ในแคลิฟอร์เนียและเท็กซัส อาจได้ทดลองสั่งอาหารด้วยประสบการณ์ใหม่ก่อนใคร เมื่ออูเบอร์ อีทส์ (Uber Eats) เซ็นสัญญา 10 ปี เป็นพาร์ตเนอร์กับบริษัท นูโร (Nuro) สตาร์ทอัพด้านยานยนต์ไร้คนขับ

บริษัท อูเบอร์ อีทส์ (Uber Eats) เคยมีแผนการที่จะใช้ยานพาหนะแบบไร้คนขับของบริษัท นูโร (Nuro) มาใช้ในการส่งสินค้ามาตั้งแต่ปี 2562 แต่ยังไม่เคยเกิดขึ้นจริง จนกระทั่งมีการเซ็นสัญญาเพื่อให้บริการส่งอาหารแบบไร้คนขับด้วยการใช้หุ่นยนต์ของบริษัท นูโร (Nuro)
โดยบริษัท นูโร (Nuro) และบริษัท อูเบอร์ อีทส์ (Uber Eats) จะเริ่มทดลองใช้หุ่นยนต์สำหรับส่งอาหารใน 2 เมืองแรกก่อน คือ เมืองเมาน์เทนวิว (Montain View) ในรัฐแคลิฟอร์เนีย (California) และเมืองฮุสตัน (Houston) ในรัฐเท็กซัส (Texas) แต่ยังไม่มีการเปิดเผยถึงจำนวนหุ่นยนต์ที่จะนำมาใช้ในการให้บริการ แต่คาดหวังว่าจะสามารถให้บริการได้มากขึ้น

หุ่นยนต์ที่นำมาใช้ของบริษัท นูโร (Nuro) เป็นหุ่นยนต์รุ่นอาร์ทู (R2) ซึ่งเป็นหุ่นยนต์รุ่นที่ 2 ซึ่งแตกต่างจากหุ่นยนต์ส่งของทั่วไป เพราะมีขนาดใหญ่กว่ารถยนต์ขนาดเล็ก แต่สั้นกว่ารถยนต์ทั่วไปครึ่งหนึ่ง และเป็นการขับเคลื่อนแบบไร้คนขับ หุ่นยนต์สามารถทำความเร็วได้สูงสุด 72.43 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หรือ 45 ไมล์ต่อชั่วโมง ช่องใส่ของสามารถใส่ของได้ประมาณ 24 ถุง รับน้ำหนักได้ 226.8 หรือ 500 ปอนด์ จึงเหมาะสำหรับการใช้งานในพื้นที่พักอาศัย

บริษัท นูโร (Nuro) ก่อตั้งขึ้นในปี 2559 โดยเดฟ เฟอร์กูสัน (Dave Ferguson) และเจียจุน ซู (Jiajun Zhu) อดีตวิศวกรของโครงการรถยนต์ไร้คนขับเวย์โม่ (Waymo) ของ Google บริษัท นูโร (Nuro) นูโรเป็นหนึ่งในไม่กี่บริษัทที่ให้บริการรถยนต์ไร้คนขับบนถนนสาธารณะ ได้รับการยกเว้นพิเศษจากข้อกำหนดด้านความปลอดภัยบางประเภทจากรัฐบาลกลาง และยังเป็นบริษัทแรกที่เรียกเก็บเงินสำหรับการจัดส่งสินค้าแบบไร้คนขับในรัฐแคลิฟอร์เนีย (California)
แต่ใบอนุญาตที่ออกโดยแผนกยานยนต์ (Department of Motor Vehicles: DMV) รัฐแคลิฟอร์เนีย (California) ของบริษัท นูโร (Nuro) สามารถใช้ให้บริการรับส่งสินค้าภายในเมืองซานต้าคลาร่า (Santa Clara) และเมืองซานมาเทโอ (San Mateo) ได้ หากบริษัทต้องการขยายพื้นที่บริการไปยังพื้นที่อื่น เช่น ซานฟรานซิสโก (San Francisco) หรือโอ๊คแลนด์ (Oakland) จะต้องขอใบอนุญาตเพิ่มเติมก่อนให้บริการ

บริษัท นูโร (Nuro) บริษัท อูเบอร์ (Uber) ยังได้ทำงานร่วมมือกับบริษัทหุ่นยนต์อีก 2 แห่ง คือบริษัท เซิร์ฟ โรโบติกส์ (Serve Robotics) ผู้พัฒนาหุ่นยนต์ส่งของบนทางเท้า และบริษัท โมชั่นแนล (Motional) ผู้พัฒนารถแท็กซี่ไฟฟ้ารุ่นฮุนได โลนิค ไฟว์ (Hyundai Ioniq 5) ร่วมกับบริษัท ฮุนได (Hyundai) โดยทั้ง 2 บริษัท ได้ให้บริการเพื่อส่งอาหารให้กับลูกค้าของอูเบอร์ (Uber) ในลอสแอนเจลิส (Los Angeles)

อ้างอิง : https://www.tnnthailand.com/news/tech/124850/

หรือคู่แข่งที่เก่งที่สุดสำหรับ Magnus Carlsen แชมป์โลกหมากรุก คือ AI ?

เป็นที่ถกเถียงกันอย่างมากในเมืองเซนต์หลุยส์เมื่อสัปดาห์ที่แล้วเมื่อแม็กนัส คาร์ลเซ่น แชมป์หมากรุกโลกถอนตัวจากการแข่งขันระดับท็อปรายการหนึ่ง ซึ่งหลายคนคาดการณ์ว่าการตัดสินใจอย่างหนึ่งที่ทำให้เขาขอถอนตัวของเขาคือเขาเชื่อว่าคู่แข่ง Hans Niemann ที่เอาชนะเขาในรอบที่สาม อาจจะโกงด้วยความช่วยเหลือทางคอมพิวเตอร์ และมันยิ่งเพิ่มความสงสัยมากขึ้นเมื่อ Niemann ก็ยอมรับว่าเคยโกงการแข่งขันมาแล้วถึงสองครั้งก่อนหน้านี้

ณ ตอนนี้หลายคนนั้นคงไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในเซนต์หลุยส์ แต่สิ่งที่น่าสนใจสำหรับการถกเถียงเกี่ยวกับเรื่องนี้ก็คือ ยิ่งมี AI ที่ดีขึ้นเท่าไร มนุษย์ก็จะยิ่งใช้มันให้เกิดประโยชน์มากขึ้นเท่านั้นและ บางครั้งอาจก่อให้เกิดการโกงได้เช่นเดียวกัน

ทุกวันนี้หลายคนพยายามหาวิธีเพื่อเชื่อมต่อกับ AI ของพวกเพื่อเป็นเครื่องมือช่วยเหลือให้กับเขาไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง แม้ว่าในการแข่งขันหมากรุกที่เซนต์หลุยส์นั้นทางผู้จัดได้ใช้มาตรการป้องกันความปลอดภัยซึ่งรวมถึงการค้นหาร่างกาย แต่วิธีแบบนั้นอาจไม่สามารถทำได้ในสภาพแวดล้อมของอื่นๆ หรืออาจจะเกิดข้อบกพร่องในการป้องกันได้ ดังนั้นผู้คนจึงมีแนวโน้มที่จะใช้อุปกรณ์ของตน เช่น หูฟัง เครื่องช่วยฟัง โทรศัพท์ เพื่อช่วยในสถานการณ์ที่พวกเขาต้องการ

แต่ถ้าเรามองในแง่ดีสำหรับการช่วยเหลือของ AI หรืออาจจะเรียกว่าการโกงแล้วแต่กรณีนั้น ก็คือ AI อาจจะสามารถผลักดันให้เกิดความก้าวหน้าอย่างมากในสื่อสารกันระหว่างมนุษย์และเครื่องจักร ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีที่เคยมีอย่าง Google glass หรือ เทคโนโลยีอย่าง “เสื้อผ้าอัจฉริยะ” ที่อาจจะส่งข้อความผ่านผ้าเพื่อสื่อสารกับคุณก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจ ในอนาคตคุณอาจเดินเข้าไปในบาร์และได้รับข้อความโดยตรงบอกว่าใครนั้นสามารถเป็นพาร์ทเนอร์ในธุรกิจที่เหมาะสมกับคุณก็ได้

อย่างไรก็ตามบางทีบทเรียนสำหรับเหตุการณ์ของ Carlsen-Niemann อาจจะสามารถบอกได้ว่าในอนาคตนั้นเราจะสามารถตรวจจับการโกงได้ยากขึ้นเรื่อยๆ และผู้เล่นหลายๆคนอาจจะมีชื่อเสียงที่เสื่อมเสียจากข้อกล่าวหาเรื่องการโกงที่อาจจะคลุมเครือและไม่สามารถหาคำตอบได้ โดยในอนาคต AI นั้นอาจจะสามารถนำความชัดเจนมาสู่การแข่งขันและการแข่งเกมมากมาย แต่ก็จะนำความคลุมเครือบางอย่างมาสู่การแข่งขันและเกมเองด้วยเช่นกัน

อ้างอิง : https://www.bloomberg.com/opinion/articles/2022-09-13/magnus-carlsen-chess-controversy-will-ai-lead-to-more-cheating#xj4y7vzkg

—————————————————————————————-

ทั้งหมดเป็นข่าวที่น่าสนใจใน 9 – 15 กันยายน 2565 พบกันใหม่ในสัปดาห์หน้านะคะ : )

หากมีข้อสงสัย ติชมสามารถ ติดตามและสอบถามได้ที่
 : AIไทยสามารถ โดย AI for all Thailand



เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึก