ข่าว AI รอบโลก – สัปดาห์ที่ 4 เดือนตุลาคม 2022

10 อันดับประเทศที่มีดัชนีการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ (AI)

ปัจจุบันปฏิเสธไม่ได้ว่าเลยว่าประเทศที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI กำลังกลายเป็นประเทศผู้นำด้านเทคโนโลยี เศรษฐกิจและสังคม เนื่องจากขีดความสามารถของปัญญาประดิษฐ์จะสามารถสร้างผลกระทบในวงกว้างและรอบด้าน

ดัชนีปัญญาประดิษฐ์ AI ถูกพัฒนาขึ้นโดย Tortoise Media ซึ่งเป็นสื่อรายแรก ๆ ของโลกที่จัดทำดัชนีเปรียบเทียบประเทศที่มีการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ AI การลงทุน นวัตกรรม และการนำปัญญาประดิษฐ์ไปใช้ มากเป็นลำดับต้น ๆ

แนวทางการจัดอันดับใช้ข้อมูลดัชนีตัวบ่งชี้ทั้งหมด 143 ตัว แบ่งออกเป็น 7 หมวดหมู่สำคัญ ความสามารถด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ โครงสร้างพื้นฐาน สภาพแวดล้อม การวิจัย การพัฒนา กลยุทธ์ของรัฐบาล และการค้า โดยแต่ละหมวดหมู่ได้รับการจัดอันดับโดยทีมงานที่ปรึกษาหารือกับผู้เชี่ยวชาญจากทุกภาคส่วน
1. ความสามารถด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ เน้นศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับความสามารถทักษะด้านปัญญาประดิษฐ์ การจัดหารูปแบบการทำงานปัญญาประดิษฐ์
2. โครงสร้างพื้นฐาน เน้นศึกษาความน่าเชื่อถือ ขนาดของโครงสร้างพื้นฐาน ระบบพลังงานไฟฟ้า อินเทอร์เน็ต ความสามารถในการประมวลของคอมพิวเตอร์
3. สภาพแวดล้อมการทำงาน เน้นศึกษากฎระเบียบของภาครัฐ การสอบถามความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์
4. การวิจัย เน้นการศึกษารายงานการวิจัย จำนวนนักวิจัย การตรวจสอบจำนวนสิ่งพิมพ์ที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัย การอ้างอิงในวารสารวิชาการที่มีความน่าเชื่อถือ
5. การพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ เน้นการศึกษารูปแบบการพัฒนาแพลตฟอร์ม การใช้งานจริง การสร้างอัลกอริทึม นวัตกรรมใหม่ ๆ
6. ยุทธศาสตร์ของรัฐบาล เน้นการศึกษาขีดความสามารถและนโยบายของรัฐบาล การตรวจสอบความถูกต้อง การส่งเสริมจากภาครัฐ
7. ธุรกิจการค้าด้านปัญญาประดิษฐ์ เน้นการศึกษากิจกรรมการลงทุน การทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับปัญญาประดิษฐ์

สำหรับทีมงานที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องกับการจัดอันดับในครั้งนี้ เช่น ผู้ก่อตั้ง The Exponential View นักลงทุนด้านธุรกิจ AI, อดีตข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ, ผู้ร่วมก่อตั้ง CognitionX และประธานสภา AI ของรัฐบาลสหราชอาณาจักร และผู้ก่อตั้งบริษัทด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ระดับโลกอื่น ๆ ผู้อำนวยการ Data Science for Internet of Things แห่ง University of Oxford, ประธานบริษัทซีเมนส์ และบรรณาธิการอาวุโส The Economist

โดย 10 อันดับประเทศที่มีดัชนีพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ จะมีดังนี้
1.สหรัฐอเมริกา
2.จีน
3.อังกฤษ
4.แคนาดา
5.อิสราเอล
6.สิงคโปร์
7.เกาหลีใต้
8.เนเธอร์แลนด์
9.เยอรมนี
10.ฝรั่งเศส

อ้างอิง : https://www.tnnthailand.com/news/tech/128520/

นักวิจัยจีนออกแบบ “นักเคมีปัญญาประดิษฐ์” เอื้อทดลองเคมีสะดวก

เหอเฝย, 24 ต.ค. (ซินหัว) — คณะนักวิจัยจีนจากมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศจีน ในนครเหอเฝย มณฑลอันฮุยทางตะวันออกของจีน นำเสนอระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่ช่วยอำนวยความสะดวกด้านการวิจัยและทดลองทางเคมี

คณะนักวิจัยกล่าวว่าระบบนักเคมีปัญญาประดิษฐ์ (AI-Chemist) ที่ครอบคลุมรอบด้าน ถูกติดตั้งความจำทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งสามารถดำเนินการตามขั้นตอนที่จำเป็นทั้งหมดของการวิจัยทางเคมี

ระบบนักเคมีปัญญาประดิษฐ์สามารถรวบรวม ประมวลผล วิเคราะห์ และแสดงข้อมูลอย่างอัตโนมัติ โดยถูกออกแบบมาเพื่อให้สามารถค้นหาและอ่านงานวิจัยที่เกี่ยวข้องได้อย่างอัตโนมัติจากฐานข้อมูลบนคลาวด์ ตลอดจนเสนอแผนการทดลองที่สอดคล้อง

ระบบดังกล่าวยังสามารถควบคุมหุ่นยนต์เคลื่อนที่ภายในหน่วยงานหรือทางออนไลน์ เพื่อดำเนินตามกระบวนการทดลองทั้งหมดอย่างอัตโนมัติบนสถานีงานมากกว่า 10 แห่ง ทั้งสามารถวิเคราะห์ข้อมูลการทดลองในเวลาเดียวกันผ่านการใช้สมองคำนวณ (computational brain) ซึ่งช่วยนำเสนอสมมติฐานใหม่สำหรับการทำซ้ำครั้งต่อไป

ทั้งนี้ บทความวิจัยล่าสุดที่ตีพิมพ์ในวารสารเนชันแนล ไซเอนซ์ รีวิว (National Science Review) ระบุว่าความสามารถของระบบนักเคมีปัญญาประดิษฐ์นั้นได้รับการทดสอบด้วยการตั้งค่าภารกิจทางเคมีที่แตกต่างกัน 3 รายการ

อ้างอิง : https://www.newtv.co.th/news/107845

นักวิทย์ญี่ปุ่นคิดค้น เครื่องซักมนุษย์ ควบคุมโดย AI มิติใหม่แห่งการอาบน้ำ แค่ลงไปแช่ก็สะอาดแล้ว

สำหรับใครที่เคยวาดฝันจะมีเครื่องอาบน้ำอัตโนมัติ แบบเดียวกับเครื่องซักผ้า ดูเหมือนว่าฝันนั้นจะไม่เกินจริงเสียแล้ว เมื่อมีรายงานว่า กลุ่มนักวิทยาศาสตร์ชาวญี่ปุ่น กำลังพัฒนา “เครื่องซักมนุษย์” ควบคุมด้วยระบบ AI ที่นอกจากจะอาบน้ำให้อัตโนมัติแล้ว ยังสามารถดูคลิปเพลิน ๆ ในขณะที่อาบน้ำได้อีกด้วย

สำหรับเครื่องซักมนุษย์ที่ว่านั้น ถูกออกแบบมาในรูปทรงของอ่างอาบน้ำ พร้อมกับเคลมว่า สามารถทำความสะอาดได้ล้ำลึกถึงรูขุมขน ซึ่งโปรเจกต์นี้มีชื่อว่า Project Usoyaro พัฒนาโดยบริษัท Science ในโอซาก้า โดยเป้าหมายของโปรเจกต์ดังกล่าว ไม่ได้มีเพียงแค่การทำความสะอาดร่างกายเท่านั้น แต่จะช่วยให้ผู้ใช้รู้สึกผ่อนคลาย ด้วยการติดตั้งหน้าจอเพื่อให้ผู้ใช้สามารถดูคลิปวิดีโอที่ชื่นชอบในขณะอาบน้ำ

ทั้งนี้ Project Usoyaro เป็นโปรเจกต์ที่สานต่อมาจาก Sanyo Electric ที่เคยเปิดตัวอ่างอาบน้ำพลังอัลตราโซนิค ในงาน Osaka Expo เมื่อปี 1970 ซึ่งเป็นอ่างอาบน้ำร้อน เมื่อลงไปแช่น้ำก็จะใช้คลื่นอัลตราโซนิคให้ลูกบอล 300 ลูกทำหน้าที่เป็นระบบนวดตัว นอกจากนี้ ยังมีระบบเป่าแห้งด้วย ทั้งหมดนี้ใช้เวลาเพียง 15 นาทีเท่านั้น โดยในปีที่เปิดตัวนั้น Yasuaki Aoyama ประธานของบริษัท Science มีอายุเพียง 10 ขวบ ซึ่งเจ้าตัวก็เผยว่า ได้ไอเดียมาจากอ่างอาบน้ำของ Sanyo และนำมาพัฒนาให้มีความทันสมัยขึ้น ด้วยการคิดค้นระบบ AI มาช่วยควบคุมการใช้งาน

สำหรับเครื่องซักมนุษย์ของบริษัท Science นั้น นอกจากจะช่วยอาบน้ำแล้ว ยังมีการติดตั้งเซนเซอร์วัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจ รวมถึงระบบประสาท เพื่อคำนวณว่าร่างกายของผู้ใช้ผ่อนคลายมากน้อยแค่ไหน ซึ่งระบบ AI จะใช้ข้อมูลดังกล่าวในการวิเคราะห์และเลือกโหมดการทำงานให้เหมาะกับคนนั้น ๆ โดย Project Usoyaro คาดว่าจะพัฒนาได้เสร็จสมบูรณ์ภายในปี 2024 นี้ และจะเผยโฉมในงาน Osaka Expo ปี 2025

อ้างอิง : https://www.techmoblog.com/scientists-developing-human-washing-machine-uses-AI/

“สหรัฐ” ขวาง “จีน” เข้าถึง “ควอนตัม-เอไอ” กดดันหุ้นเทคฯ ร่วงหนัก

แหล่งข่าวระบุว่า แผนการดังกล่าวซึ่งขณะนี้ยังคงอยู่ในขั้นตอนเบื้องต้นนั้น จะมุ่งเน้นไปที่ควอนตัม คอมพิวติง (Quantum Computing) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ใช้ทดสอบทักษะ รวมทั้งซอฟต์แวร์ปัญญาประดิษฐ์ (AI)

ทั้งนี้ หากมาตรการดังกล่าวมีผลบังคับใช้ ก็จะเป็นการดำเนินการต่อเนื่องจากเมื่อวันที่ 7 ต.ค.ที่ผ่านมา เมื่อคณะบริหารของปธน.ไบเดนออกมาตรการควบคุมการส่งออกชิปให้กับจีน โดยพุ่งเป้าไปที่การส่งออกชิปคอมพิวเตอร์ขั้นสูงที่มีจุดประสงค์เพื่อการใช้งานในซูเปอร์คอมพิวเตอร์ โดยรัฐบาลสหรัฐวิตกว่า จีนกำลังใช้ระบบซูเปอร์คอมพิวเตอร์ที่ล้ำสมัยเพื่อปรับปรุงการคำนวณต่าง ๆ ในการออกแบบอาวุธ, การทดสอบอาวุธนิวเคลียร์, ระบบไฮเปอร์โซนิก และระบบขีปนาวุธอื่น ๆ รวมถึงเพื่อวิเคราะห์ผลการสู้รบ

หุ้นกลุ่มเทคโนโยของจีนร่วงลงในวันนี้ โดยหุ้นนอรา เทคโนโลยี กรุ๊ป และหุ้นเอซีเอ็ม รีเสิร์ช เซี่ยงไฮ้ ร่วงลง 6.1% และ 8.7% ตามลำดับ ส่วนหุ้นไพโอเทค ร่วงลงรุนแรงถึง 13%

อย่างไรก็ดี สำนักงานอุตสาหกรรมและความมั่นคงในสังกัดกระทรวงพาณิชย์สหรัฐซึ่งมีบทบาทสำคัญในการออกแบบและบังคับใช้มาตรการควบคุมการส่งออกและเป็นผู้ประกาศควบคุมการส่งออกชิปให้กับจีนเมื่อวันที่ 7 ต.ค.นั้น ปฏิเสธที่จะแสดงความเห็นใด ๆ เกี่ยวกับรายงานข่าวดังกล่าว

รายงานระบุว่า กระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศของจีนได้จัดการประชุมฉุกเฉินหลายครั้งในสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยได้เชิญบรรดาผู้บริหารของบริษัทเซมิคอนดักเตอร์ชั้นนำ เพื่อร่วมกันประเมินความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการที่คณะบริหารของประธานาธิบดีโจ ไบเดนแห่งสหรัฐ ประกาศใช้มาตรการควบคุมการส่งออกชิปให้กับจีน
นอกจากนี้ ทางกระทรวงยังให้คำมั่นสัญญาว่าจะสนับสนุนอุตสาหกรรมการผลิตชิปซึ่งมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ

อ้างอิง : https://www.bangkokbiznews.com/business/economic/1033624

GSK จับมือ มหิดล และ depa ใช้ AI คิดค้น’ยานวัตกรรม’ รับยุคไทยแลนด์ 4.0

ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานในงานสัมมนา “AI in Drug Discovery, Ahead Together for Future Healthcare” การใช้เทคโนโลยี AI ในการคิดค้นยานวัตกรรม เพื่อก้าวนำหน้ามุ่งสู่อนาคตในการดูแลสุขภาพที่ดีด้วยกัน จัดโดย บริษัท แกล็กโซสมิทไคล์น จำกัด หรือ GSK ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล สถาบันปัญญาประดิษฐ์มหิดล และสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล เพื่อแลกเปลี่ยนและส่งต่อองค์ความรู้ในการใช้เทคโนโลยี AI เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมเภสัชกรรมของไทย สร้างเสริมศักยภาพประเทศในระดับสากล โดยมีวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้าน AI และเทคโนโลยีด้านสุขภาพ จากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษา ร่วมแลกเปลี่ยน

ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า อว.ให้ความสำคัญต่อการขับเคลื่อนประเทศด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม จึงมุ่งเน้นการพัฒนาและส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและพัฒนา และนวัตกรรม ตลอดจนการร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัย หน่วยงานของรัฐ และภาคเอกชน ในการพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมไปสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ เพื่อให้ประเทศมีความสามารถในการแข่งขันและมีความก้าวหน้าทัดเทียมกับประเทศอื่น อว. ให้การสนับสนุนทุกหน่วยงานในการนำเทคโนโลยี AI และเทคโนโลยีด้านสุขภาพมาใช้ในการพัฒนาต่อยอดเชิงรุกในด้านต่าง ๆ เช่น การผลิตยาและวัคซีน ที่จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศในระยะยาว สนับสนุนนโยบายการเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ (Medical Hub) พร้อมตอบโจทย์การพัฒนาด้านเทคโนโลยีของประเทศไทยในยุคไทยแลนด์ 4.0

นายวิริยะ จงไพศาล กรรมการผู้จัดการ บริษัท แกล็กโซสมิทไคล์น (ประเทศไทย) จำกัด (GSK) กล่าวว่า GSK ในฐานะผู้มุ่งมั่นพัฒนาด้านชีวเภสัช (Biopharma) และผู้นำในการใช้เทคโนโลยี AI เพื่อการพัฒนาและคิดค้นยานวัตกรรม มุ่งหวังให้ประเทศไทยมีบทบาทสำคัญในการนำเทคโนโลยี AI มาใช้ในการพัฒนายานวัตกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระดับสากล การจัดสัมมนาครั้งนี้เพื่อแลกเปลี่ยนและส่งต่อองค์ความรู้การนำเทคโนโลยี AI มาใช้ในการพัฒนายานวัตกรรม และผลักดันโครงการด้านเทคโนโลยี AI ในประเทศให้มีความก้าวหน้า ซึ่งเทคโนโลยี AI มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อกระบวนการคิดค้นยาและวัคซีนนวัตกรรม และเป็นหนึ่งในพื้นฐานนวัตกรรมที่ช่วยขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจใหม่ (S-Curve) ของประเทศไทย สอดคล้องกับโมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy) เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวมของประเทศ โดย GSK พร้อมสนับสนุนภาครัฐและหน่วยงานต่าง ๆ ในการขับเคลื่อนโครงการด้านเทคโนโลยี AI เพื่อสุขภาพอย่างเต็มที่ ตอกย้ำความมุ่งมั่นของบริษัทฯ ในการนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาผนวกกับความสามารถของบุคลากรและเทคโนโลยี เพื่อให้ก้าวนำการป้องกันโรคภัยต่าง ๆ

ศ.นพ.บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า มหาวิทยาลัยมหิดลมุ่งมั่นในการผลิตมหาบัณฑิตที่มีศักยภาพและเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ ควบคู่กับการมีบทบาทในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมไทยและสังคมโลก มหาวิทยาลัยให้ความสำคัญต่อการนำ AI เข้ามาประยุกต์ใช้
ในด้านการแพทย์และสุขภาพในทุกสาขา โดยมีความก้าวหน้าของการดำเนินงานของสถาบันปัญญาประดิษฐ์มหิดล ซึ่งมีโครงการวิจัยแบบบูรณาการกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งมหาวิทยาลัยภายในประเทศ และมหาวิทยาลัยชั้นนำจากต่างประเทศอีกหลายแห่ง

ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยมีความเชี่ยวชาญในการใช้ AI เพื่อตรวจและวินิจฉัยโรค และกำลังศึกษาพัฒนาการนำ AI มาใช้ในการคิดค้นและผลิตยานวัตกรรม ด้วยระบบ AI จะทำให้การผลิตยาด้วยความแม่นยำและลดระยะเวลาในการวิจัยและพัฒนา ส่งผลต่อการพัฒนาวงการแพทย์และยารักษาโรคให้มีความก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น

อ้างอิง : https://www.bizpromptinfo.com/gsk-%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B8%AD-%E0%B8%A1%E0%B8%AB%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B8%A5-%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0-depa-%E0%B9%83%E0%B8%8A%E0%B9%89-ai-%E0%B8%84%E0%B8%B4%E0%B8%94/

Shutterstock ร่วมมือกับ OpenAI วางแผนเริ่มขายภาพที่สร้างโดย AI

โปรแกรมสร้างภาพ AI จะทำลายอุตสาหกรรมภาพสต๊อกหรือไม่? เป็นคำถามที่หลายคนสงสัยหลังจากเหตุการณ์ของโมเดล AI แปลงข้อความเป็นรูปภาพที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และสำหรับคำตอบจากผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมคือ “ไม่” มันจะไม่ใช่ถ้าเราสามารถเริ่มขายเนื้อหาที่สร้างโดย AI ได้ก่อน

วันนี้ Shutterstock ยักษ์ใหญ่ด้านภาพสต๊อกได้ประกาศขยายความร่วมมือกับ OpenAI บริษัทด้าน AI ชื่อดัง ซึ่งเราจะได้เห็นโมเดลแปลงข้อความเป็นรูปภาพ DALL-E 2 ที่รวมเข้ากับ Shutterstock โดยตรง “ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า” นอกจากนี้ Shutterstock ได้เปิดตัว “Contributor Fund” ซึ่งจะคืนเงินให้กับผู้สร้างเมื่อบริษัทขายงานของพวกเขาเพื่อไปเทรนโมเดล AI ซึ่งการเปิดตัวกองทุนนี้เกิดขึ้นจากการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางจากศิลปินซึ่งผลงานถูกคัดลอกมาจากเว็บโดยไม่ได้รับความยินยอมให้สร้างระบบเหล่านี้ และที่สำคัญ Shutterstock ได้ห้ามการขายงานศิลปะที่สร้างโดย AI บนเว็บไซต์ของเขาซึ่งไม่ได้สร้างขึ้นโดยใช้ตัวโมเดลของ DALL-E

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ Shutterstock และ OpenAI ทำงานร่วมกัน โดยในปี2021 Shutterstock ได้ขายภาพและข้อมูลให้กับ OpenAI เพื่อช่วยสร้าง DALL-E (OpenAI อธิบายว่าข้อมูลที่ได้นั้น “มีความสำคัญต่อการฝึกอบรมของ DALL-E มาก”)

ซึ่งหากภาพของ Shutterstock มีความสำคัญต่อการสร้าง DALL-E ตามที่ OpenAI กล่าว ผู้สนับสนุนของแพลตฟอร์มอาจรู้สึกไม่สบายใจที่เนื้อหาของพวกเขาถูกใช้เพื่อแย่งงานของพวกเขาเอง นี่คือเหตุผลที่ Shutterstock เปิดตัว Contributor Fund ซึ่งจะใช้เพื่อจ่ายให้กับศิลปิน ช่างภาพ และนักออกแบบ เมื่อเนื้อหาที่อัปโหลดไปยัง Shutterstock ถูกขายโดยบริษัทให้กับบริษัทอย่าง OpenAI เพื่อพัฒนาโมเดล AI

อ้างอิง : https://www.theverge.com/2022/10/25/23422359/shutterstock-ai-generated-art-openai-dall-e-partnership-contributors-fund-reimbursement

วิจัยเผย AI แสดงถึงอคติทางเชื้อชาติได้อย่างแม่นยำ โดยวิเคราะห์จากรูปภาพเอกซเรย์

งานวิจัยล่าสุด เผยให้เห็นว่าปัญญาประดิษฐ์ (AI) มีความสามารถในการคาดเดาเชื้อชาติของบุคคลผ่านภาพเอกซเรย์ได้อย่างแม่นยำ ซึ่งนักวิจัยกล่าวว่า นี่คือสิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญที่เป็นมนุษย์ไม่สามารถทำได้

นักวิจัยเผยถึงงานวิจัยล่าสุดที่ตีพิมพ์ใน The Lancet (เดอะแลนเซต) วารสารการแพทย์รายสัปดาห์ที่มีความน่าเชื่อถือสูง โดยนักวิจัยชี้ว่า การศึกษานี้เผยให้เห็นถึงความเป็นไปได้ที่ AI จะมีอคติทางเชื้อชาติ และแม้ว่า AI จะถูกใช้เพื่อวินิจฉัยการเจ็บป่วยทางการแพทย์ผ่านการใช้เหตุผลและสติปัญญาเหมือนที่มนุษย์ การศึกษาจาก The Lancet กล่าวว่า อาจมีปัจจัยหลายประการที่นำไปสู่อคติ เช่น การใช้ข้อมูลที่ไม่ได้ครอบคลุมตัวแทนของประชากรผู้ป่วยทั้งหมด อีกปัจจัยหนึ่งที่สามารถนำไปสู่อคติของ AI ก็คือการเรียนรู้เกี่ยวกับลักษณะที่อาจมีอยู่ในกลุ่มประชากร เช่น ฟีโนไทป์ (phenotypes) หรือลักษณะทางพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิตที่ปรากฏให้เห็นโดยการควบคุมของยีน เช่น ความหนาแน่นของกระดูก
ต่อมา ทีมวิจัยต้องการศึกษาว่า AI สามารถระบุเชื้อชาติได้จากการเอกซเรย์ทรวงอกเท่านั้นหรือไม่ โดยพวกเขาใช้ชุดข้อมูลขนาดใหญ่สามชุดที่มีประชากรจำนวนมากและหลากหลาย แต่กลับกลายเป็นว่า AI สามารถทำนายเชื้อชาติของผู้ป่วยได้อย่างแม่นยำโดยอาศัยภาพเอกซเรย์เพียงอย่างเดียว ซึ่งแม้แต่ผู้เชี่ยวชาญก็ไม่สามารถทำได้

“AI ยังสามารถระบุเชื้อชาติได้แม้ว่าภาพจะมีคุณภาพแย่มาก หรือถูกครอบตัดให้เหลือหนึ่งในเก้าของขนาดดั้งเดิม หรือเมื่อความละเอียดได้รับการแก้ไขจนถึงระดับที่ภาพแทบจะดูไม่ออกว่าเป็นภาพเอกซเรย์” ดร. จูดี กิโชยา (Judy Gichoya) ผู้เขียนหลักงานวิจัยเผย

และเพื่อป้องกันอคติทางเชื้อชาติผ่านฟีโนไทป์ นักวิจัยได้ใช้ชุดข้อมูลเอกซเรย์อื่น ๆ นอกเหนือจากทรวงอก ซึ่งรวมถึงแมมโมแกรม การสแกนทรวงอกด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) และใช้การฉายแสงถ่ายภาพกระดูกสันหลังส่วนคอ แต่ถึงกระนั้น AI ก็ยังสามารถระบุเชื้อชาติของบุคคลได้

“เราจำเป็นต้องเร่งความเข้าใจว่าทำไมอัลกอริทึมเหล่านี้จึงมีความสามารถนี้ เพื่อให้ไม่เป็นอันตรายต่อประชากรกลุ่มน้อยและผู้ป่วยที่ด้อยโอกาส” ทีมวิจัยกล่าว

แม้ว่านักวิจัยกำลังพยายามตรวจสอบว่า AI คาดเดาเชื้อชาติได้ถูกต้องได้อย่างไร แต่พวกเขาก็ยังไม่พบสาเหตุที่แท้จริง โดยพวกเขาไม่สามารถระบุปัจจัยเฉพาะใด ๆ ที่อธิบายความสามารถของ AI ในการทำนายเชื้อชาติด้วยตนเองได้อย่างถูกต้อง กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ AI จำแนกเชื้อชาติได้ แม้ว่าจะไม่มีอะไรที่เป็นปัจจัยทางกายภาพบ่งบอกเลย

ทั้งนี้ ทีมวิจัยระบุว่า พวกเขาตระหนักถึงข้อดีและข้อเสียในการสร้าง AI ที่มีความสามารถใกล้เคียงกับความฉลาดของมนุษย์ ซึ่งมันสามารถยกระดับระบบการดูแลสุขภาพไปอีกขั้น ในขณะที่ยังแสดงอคติโดยไม่ได้ตั้งใจได้เช่นกัน
“AI มีศักยภาพในการปฏิวัติการวินิจฉัย การรักษา และการเฝ้าติดตามโรคและสภาวะต่าง ๆ ได้อย่างมากมาย และสามารถกำหนดแนวทางในการดูแลสุขภาพของเราได้อย่างมาก” ดร. จูดี กิโชยา (Judy Gichoya) ผู้เขียนหลักงานวิจัยเผย “อย่างไรก็ตาม สำหรับ AI ที่จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยทุกรายอย่างแท้จริง เราต้องการความเข้าใจมากขึ้นว่า อัลกอริทึมเหล่านี้ตัดสินใจอย่างไรเพื่อป้องกันอคติที่ไม่ได้ตั้งใจ” กิโชยาเสริม
อย่างไรก็ตาม มีการเปิดเผยก่อนหน้านี้เกี่ยวกับ AI ที่มีอคติทางเชื้อชาติ เช่น งานวิจัยก่อนหน้านี้เกี่ยวกับ DeepAI ที่ระบุว่า AI อาจเรียนรู้พฤติกรรมการเหมารวมได้ ซึ่งรายงานระบุว่า “โชคไม่ดีที่การทดลองของเราแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า AI สามารถแสดงพฤติกรรมเหมารวมในเชิงลบเกี่ยวกับเพศ เชื้อชาติ”

การวิจัยของ DeepAI ยังกล่าวว่า AI รู้จักจดจำเพศชายได้มากกว่าเพศหญิง และจดจำคนผิวขาวมากกว่าคนที่มีผิวสีอื่น ๆ ไม่เพียงเท่านั้น แต่การวิจัยยังแสดงให้เห็นว่า AI ยังเลือกใช้ทัศนคติแบบเหมารวมในทางลบต่อทั้งเพศหญิงและคนเชื้อชาติอื่น ๆ ด้วย
ส่วนการวิจัยอื่น ๆ เช่น ในวารสาร Nature Medicine แสดงให้เห็นว่า AI สามารถได้รับอิทธิพลจากข้อมูลประชากร ซึ่งรวมถึงความแตกต่างทางเชื้อชาติ โดยงานวิจัยดังกล่าวเผยว่า “มีความกังวลเพิ่มขึ้นว่าระบบ AI ดังกล่าวอาจสะท้อนและขยายอคติของมนุษย์ และลดคุณภาพของประสิทธิภาพการให้บริการในกลุ่มประชากรที่ตกค้างในอดีต เช่น ผู้ป่วยหญิง ผู้ป่วยผิวดำ หรือผู้ป่วยที่มีสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมต่ำ”
ซึ่งกรณีนี้ นี้แสดงให้เห็นว่าแนวคิดเรื่องอคติของ AI ไม่ใช่เรื่องใหม่ที่น่าประหลาดใจ แต่เป็นประเด็นที่น่าหนักใจในเหล่าผู้พัฒนาที่ต้องระมัดระวังการสร้างอคติขึ้น

อ้างอิง : https://www.tnnthailand.com/news/tech/128417/

CEO ของ Getty Images วิจารณ์ AI สร้างภาพอาจผิดกฎหมาย

Craig Peters ซีอีโอของ Getty Images วิจารณ์บริษัทต่างๆ ที่ “แข่งขันกัน” เพื่อทำการค้า AI สร้างงานศิลปะ โดยเขากล่าวว่าบริษัทต่างๆ ไม่ได้คิดถึงอันตรายทางกฎหมายและจริยธรรมที่อาจเกิดขึ้นจากเทคโนโลยีเหล่านี้

Craig Peters ได้ย้ำถึงกฎในบริษัทของ Getty Images ที่ห้ามขายเนื้อหาที่สร้างจาก AI (ซึ่งถูกสั่งห้ามในเดือนกันยายนที่ผ่านมา) ในขณะที่ประกาศความร่วมมือใหม่ระหว่างบริษัทของเขาและบริษัท Bria ของอิสราเอลเพื่อเสนอเครื่องมือแก้ไขภาพที่ขับเคลื่อนด้วย AI ซึ่งท่าทีเหล่านี้ของ Getty Images เกี่ยวกับเนื้อหาที่สร้างโดย AI ทำให้เห็นถึงความแตกต่างอย่างชัดเจนอย่าง Shutterstock ซึ่งประกาศว่าจะรวม DALL-E ตัวสร้างงานศิลปะ AI เข้ากับเว็บไซต์ของเขาโดยตรง

AI ที่ทำการสร้างงานศิลปะจำนวนมากนั้นได้รับการฝึกเกี่ยวกับข้อมูลที่คัดลอกมาจากเว็บ รวมถึงภาพที่มีลิขสิทธิ์ เช่น ภาพถ่ายในสต๊อกของ Getty Images และแม้ว่าผู้เชี่ยวชาญบางคนกล่าวว่าการสร้างระบบเหล่านี้อาจจะไม่ได้ผิดหลักการการใช้งานสำหรับสหรัฐฯ แต่มีหลายคนชี้ว่าสำหรับเรื่องนี้นั้นมันจะเป็นความท้าทายทางกฎหมายในอนาคตเนื่องจากกฎหมายต้องทันกับเทคโนโลยีชนิดใหม่นี้

Peters กล่าวว่า Getty Images ไม่ได้เพิกเฉยต่อศักยภาพในการสร้างสรรค์ผลงานของ AI และเน้นว่าการเป็นหุ้นส่วนระหว่างบริษัทกับ Bria จะช่วยให้บริษัทสามารถนำเสนอเครื่องมือ AI ที่ “มีจริยธรรม” มาให้บริการแก่ลูกค้าได้ สำหรับในระยะสั้นนี้ เครื่องมือของพวกเขานี้จะเน้นที่การแก้ไขภาพมากกว่าการสร้างผลงานขึ้นมาใหม่ ทางบริษัท Bria โฆษณาว่าเทคโนโลยีของบริษัทสามารถใช้เพื่อทำให้งานง่าย ๆ เป็นแบบอัตโนมัติได้ด้วย AI เช่น การลบวัตถุ หรือทำการแก้ไขต่างๆ เช่น การเปลี่ยนเชื้อชาติ เพศ และรูปลักษณ์ของนางแบบในภาพถ่าย

เมื่อถูกถามว่าเนื้อหาที่สร้างโดย AI เป็นภัยคุกคามต่อธุรกิจของ Getty Images หรือไม่ ทาง Peters ก็ยืนกรานว่าไม่เป็นเช่นนั้น โดยเขาอ้างถึงการเพิ่มขึ้นของกล้องที่แพร่หลายในสมาร์ทโฟนเพื่อพิสูจน์ว่าความเชี่ยวชาญมีความสำคัญมากกว่าปริมาณสำหรับการขายเนื้อหา “สมาร์ทโฟนไม่ได้คุกคามธุรกิจของเรา เพราะหัวใจของธุรกิจคือการให้ภาพที่ซึ่งดึงดูดความสนใจของเรา”

อ้างอิง : https://www.theverge.com/2022/10/25/23422412/getty-images-ai-art-banned-dangerous-bria-partnership

ผลสำรวจชี้ ผู้มีอำนาจตัดสินใจประสบปัญหาในการอธิบาย AI

รายงานจาก Forrester บริษัทวิจัยตลาดชั้นนำระดับโลกที่ได้ทำร่วมกับ Capital One บอกว่าการเป็นพันธมิตรกับบุคคลภายนอกจะช่วยผลักดันการเติบโตของ machine learning

บริษัทต่างๆกำลังยอมรับการใช้งาน AI แต่พวกเขาตอนนี้กำลังประสบปัญหาในการปรับใช้งาน โดยเกือบสามในสี่ของผู้มีอำนาจตัดสินในการจัดการข้อมูลนั้นได้เจอปัญหาเกี่ยวกับความสามารถในการอธิบายผลลัพธ์ที่ได้จากโมเดล ตามการสำรวจของ Capital One และ Forrester

Dave Kang รองประธานอาวุโสและหัวหน้า Data Insights ของ Capital One กล่าวว่า “ธุรกิจต่างๆ มองเห็นศักยภาพมหาศาลในการใช้ machine learning (ML) แต่ต้องเผชิญกับอุปสรรคในเรื่องข้อมูล ซึ่ง “สิ่งนี้สามารถขัดขวางธุรกิจต่างๆ จากการได้เห็นถึงข้อมูลเชิงลึกที่สามารถนำไปใช้งานได้ และทำให้พวกเขาหลีกเลี่ยงที่จะนำโซลูชัน ML มาใช้และดำเนินการตั้งแต่แรก”

รายงานได้กล่าวว่า “ในการเอาชนะความท้าทาย องค์กรต่างๆ จะต้องมุ่งเน้นไปที่ผลลัพธ์ทางธุรกิจของ ML และสร้างความร่วมมือกับผู้นำที่ได้รับการพิสูจน์แล้วในการใช้งาน ML ของพวกเขา” ยิ่งไปกว่านั้น ผู้บริหารและกรรมการระดับสูงก็มีปัญหาในการมองเห็นผลประโยชน์ทางธุรกิจหลังจากนำโซลูชัน AI/ML มาใช้ เมื่อพวกเขา “ไม่สามารถอธิบายผลลัพธ์และที่มาที่ไปได้ชัดเจนจากโมเดล ML”

Capital One และ Forrester ได้สำรวจผู้มีอำนาจตัดสินใจด้านข้อมูล 150 คนในอเมริกาเหนือเพื่อสอบถามเป้าหมายและความท้าทาย ML ของพวกเขา จากการสำรวจพบว่า 67% ระบุว่าพวกเขาต้องการยกระดับความร่วมมือเพื่อเติมเต็มช่องว่างของพนักงาน กับML และประมาณ 37% กล่าวว่าพวกเขากำลังร่วมมือกับบุคคลที่สามในการพัฒนาโมเดล ML และวางแผนที่จะขยายการทำงานร่วมกันนั้น

นอกจากนี้รายงานยังได้กล่าวอีกว่า “ในการผลักดันองค์กรของตนออกจากขั้นตอนการทดลอง ผู้มีอำนาจตัดสินใจควรหาพันธมิตร ML ที่มีประสบการณ์โดยตรงในการสร้างและดำเนินการแอปพลิเคชัน ML” แต่โดยรวมแล้วรายงานได้สรุปว่า การมุ่งความสนใจไปที่ผลลัพธ์ทางธุรกิจโดยใช้ ML เป็นกลยุทธ์หลักที่จะ “ขับเคลื่อนการเติบโตของ ML” ต่อไป

อ้างอิง : https://aibusiness.com/document.asp?doc_id=781336

—————————————————————————————-

ทั้งหมดเป็นข่าวที่น่าสนใจใน 21 – 27 ตุลาคม 2565 พบกันใหม่ในสัปดาห์หน้านะคะ : )

หากมีข้อสงสัย ติชมสามารถ ติดตามและสอบถามได้ที่
 : AIไทยสามารถ โดย AI for all Thailand



เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึก