ข่าว AI รอบโลก – สัปดาห์ที่ 3 เดือนพฤศจิกายน 2022

นิวรอล พ็อกเก็ต สตาร์ทอัพชั้นนำของโลกด้าน AI เปิดสาขาในไทย

นิวรอล พ็อกเก็ต สตาร์ทอัพชั้นนำของโลกด้านปัญญาประดิษฐ์เพื่อการจดจำภาพ (Image Recognition Artificial Intelligence หรือ AI) จากประเทศญี่ปุ่น ประกาศจัดตั้ง บริษัท นิวรอล กรุ๊ป (ไทยแลนด์) จำกัด ซึ่งถือเป็นสำนักงานแห่งแรกในต่างประเทศที่จะให้บริการเต็มรูปแบบ โดยมี คุณคาซึมะ ทาเคนะกะ เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทฯมีแผนที่จะส่งพนักงานจากประเทศญี่ปุ่นให้มาทำงานร่วมกับทีมงานในประเทศไทย และสนับสนุนการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาเมืองอัจฉริยะในประเทศไทยและขยายธุรกิจต่อไปยังตลาดอาเซียน

บริษัทนิวรอล พ็อกเก็ต ผู้นำในโครงการเมืองอัจฉริยะมากกว่า 40 โครงการทั่วประเทศญี่ปุ่น เป็นผู้พัฒนาเทคโนโลยี Edge AI เพื่อช่วยให้เกิดเมืองอัจฉริยะที่ปลอดภัย และสะดวกสบาย กลุ่มลูกค้าของบริษัทมีทั้งภาครัฐและภาคเอกชน โดยเทคโนโลยีนี้สามารถใช้ช่วยอำนวยความสะดวกเชิงพาณิชย์ เชิงสาธารณะ จัดระเบียบพื้นที่ในเมือง ห้างสรรพสินค้า คอมเพล็กซ์ขนาดใหญ่ ศูนย์ลอจิสติกส์ สถานที่ท่องเที่ยว เพื่อช่วยแก้ปัญหาที่ลูกค้าหรือเมืองต้องเผชิญผ่านการวิเคราะห์การจราจรและการเคลื่อนที่ของผู้คน

การที่ประเทศไทยมีการพัฒนาเมืองและเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วทำให้เกิดปัญหาหลายประการ เช่น ความแออัดของการจราจร มลพิษ และ อุบัติเหตุนี้ถือเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา นิวรอล กรุ๊ป มีความตั้งใจแน่วแน่ที่จะมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาที่สังคมไทยกำลังเผชิญโดยนำความรู้ความชำนาญมาใช้กับการพัฒนาเมืองใหม่ในตลาดอาเซียนเพื่อสร้างเมืองอัจฉริยะระดับโลก เทคโนโลยี Edge AI ของบริษัทฯซึ่งมีการประมวลผลในตัวนี้ถือว่าเป็นระบบการเก็บข้อมูลที่เป็นไปตามข้อบังคับของกฎหมายว่าด้วยการปกป้องความเป็นส่วนตัวที่มีการประกาศในเดือนมิถุนายนในปีพ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา

อ้างอิง : https://www.prachachat.net/public-relations/news-1119885

“โก วา จี” AI สัญชาติไทย คัดกรองผู้ป่วยซึมเศร้า นวัตกรรมเพื่อคนไทย

ทุกวันนี้เราเริ่มคุ้นชินกับการใช้เสียงออกคำสั่งหรือบอกให้โปรแกรม AI (Artificial Intelligence หรือ ปัญญาประดิษฐ์) อย่าง Google หรือ Siri เพื่อค้นหาหรือทำงานตามที่เราต้องการ แทนการสัมผัสแป้นพิมพ์อักษร แต่ AI voice เหล่านั้น ดูเหมือนจะไม่ค่อยเข้าใจโทนเสียงภาษาไทยที่เราพูดนัก เพราะถูกพัฒนามาจากบริษัทต่างชาติ ซึ่งเน้นการใช้งานกับหลายภาษาโดยเฉพาะภาษาสากล เช่น ภาษาอังกฤษ หลายครั้งก็แปลงเสียงเป็นข้อความที่ไม่ตรง ทำให้เราต้องปรับการออกเสียงภาษาไทยเพื่อให้เข้ากับ AI

จากปัญหาดังกล่าว อาจารย์วิศวฯ จุฬาฯ จึงได้ออกแบบ “Gowajee” (โก วา จี) นวัตกรรม AI ถอดความภาษาไทย แปลงเสียงเป็นข้อความและข้อความเป็นเสียง แม่นยำเป็นธรรมชาติราวเจ้าของภาษา เก็บข้อมูลปลอดภัย เริ่มใช้งานแล้วกับระบบคอลเซ็นเตอร์และการคัดกรองผู้ป่วยซึมเศร้า
ดร.เอกพล ช่วงสุวนิช อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และทีมได้พัฒนา AI สัญชาติไทยแท้ “Gowajee” ที่เข้าใจภาษาไทยโดยเฉพาะ เพื่อตอบโจทย์การถอดความภาษาไทยที่แม่นยำและเป็นธรรมชาติมากขึ้น พิสูจน์ผ่านการใช้งานจริงแล้วว่ามีข้อผิดพลาดทางภาษาเพียง 9% เท่านั้นเมื่อเทียบกับ AI ถอดความอื่นๆ ที่มีความผิดพลาดราว 15%

ดร.เอกพล และทีมงานของคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เริ่มเก็บฐานข้อมูลเสียงภาษาไทยมาตั้งแต่ปี 2560 จนปัจจุบัน โดยเก็บข้อมูลเสียงภาษาไทยหลายรูปแบบและวิธีการมีทั้งเปิดเว็บไซต์ให้คนเข้ามาอ่านข้อความเพื่อเก็บฐานข้อมูลเสียง จ้างคนมานั่งสนทนากัน หรือจ้างนักแสดงมาพูดสื่อสารอารมณ์ ทั้งหมดรวมแล้วกว่า 5,000 ชั่วโมง จนมั่นใจว่ามีข้อมูลมากเพียงพอในการถอดความภาษาไทยได้อย่างแม่นยำ โดยการค้นความหมายในเสียง Gowajee ยังสามารถช่วยคัดกรองผู้ป่วยซึมเศร้า เพราะจากการเก็บข้อมูลเสียงที่สื่ออารมณ์ต่างๆ
โดยทีม Gowajee ได้เข้าไปมีส่วนช่วยพัฒนาระบบของแอปพลิเคชัน DMIND ที่ทำหน้าที่ช่วยคัดกรองผู้ป่วยโรคซึมเศร้า โดยทีม Gowajee ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้พัฒนาให้ Gowajee สามารถจำแนกอารมณ์จากเสียงพูด เพื่อนำไปวิเคราะห์คัดกรองกลุ่มเสี่ยงอีกด้วย บางครั้งผู้ป่วยจะพูดไปร้องไห้ไป ซึ่งทำให้ฟังยากขึ้น แต่ Gowajee ก็ทำงานได้ค่อนข้างดี สามารถจับคำสำคัญให้ได้เพื่อถอดความสำคัญออกมา ซึ่งเป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมช่วยเหลือสังคม

Gowajee สามารถประยุกต์ใช้งานได้ 3 ลักษณะสำคัญ ได้แก่
1. Automated Speech Recognition (ASR) เป็นการทำงานในลักษณะของการถอดความ คือ เมื่อเราพูดอะไรลงไป โปรแกรมก็จะแปลงสิ่งที่เราพูดให้ออกมาเป็นข้อความ โดยมีจุดเด่นที่สามารถถอดความภาษาไทยปนอังกฤษได้เป็นอย่างดี ยกตัวอย่างการใช้งานในการเรียนรู้ เวลาเราฟังเลคเชอร์ หากเราบันทึกเสียงอาจารย์เอาไว้ โปรแกรมก็จะช่วยถอดความออกมาเป็นตัวหนังสือให้เราใช้ในการค้นหาส่วนที่ต้องการได้เลย ไม่ต้องคอยฟังทั้งหมด
2. Text-to-Speech (TTS) เป็นการทำงานในลักษณะของการแปลงข้อความให้เป็นเสียงพูด อย่างที่เราคุ้นเคยกับการใช้ Google หรือ Siri ในการช่วยอ่านข้อความ แต่ทว่า สำหรับองค์กรหรือบริษัทแล้ว การมีเสียงที่เป็นตัวแทนขององค์กรโดยเฉพาะ จะเป็นการสร้างอัตลักษณ์ขององค์กร ซึ่งทาง Gowajee มีกระบวนการสร้างเสียงจำเพาะที่มีงานวิจัยรองรับว่าเสียงที่ออกมาจะสมจริง
3. Automatic Speaker Verification (ASV) เป็นการยืนยันตัวตนผู้พูดด้วยเสียง ซึ่งสามารถนำมาใช้เพื่อยืนยันตัวตนในการติดต่อกับคอลเซ็นเตอร์ หรือนำมาใช้เพื่อบ่งบอกว่าใครพูดเมื่อใด

ละอีกจุดเด่นของ Gowajee ที่เหนือกว่า AI ถอดความอื่นๆ ก็คือ “ความปลอดภัยของข้อมูล” เพราะโดยปกติแล้ว เวลาเราใช้โปรแกรมถอดความของเจ้าอื่นๆ ข้อมูลจะถูกเก็บไว้บนคลาวด์ (Cloud) หรือทำการประมวลผลข้อมูลที่คอมพิวเตอร์ของผู้ให้บริการ แต่สำหรับ Gowajee ข้อมูลเหล่านี้จะถูกเก็บอยู่ในฐานข้อมูลของผู้ใช้เอง สำหรับธุรกิจที่ต้องการความปลอดภัยของข้อมูล เช่น ธุรกิจจำพวกธนาคารหรือประกันภัย จะสามารถสร้างความอุ่นใจให้กับผู้ใช้ได้มากขึ้น

อ้างอิง : https://www.salika.co/2022/11/12/gowajee-ai-screens-depressed-patients/

Amazon เปิดตัวหุ่นยนต์ล่าสุด ใช้ AI ระบุผลิตภัณฑ์ เพื่อสร้างความปลอดภัยให้พนักงาน

Amazon ได้เปิดตัวหุ่นยนต์ล่าสุดสำหรับทำงานในคลังสินค้า โดยมีชื่อว่า ‘Sparrow’ ซึ่งเป็นระบบหุ่นยนต์ตัวแรกในคลังสินค้าของ Amazon ที่สามารถระบุ, เลือก และจัดการกับผลิตภัณฑ์ในคลังสินค้าของ Amazon ได้อย่างง่ายดาย

ทาง Amazon ได้กล่าวว่า หุ่นยนต์ดังกล่าวได้รับการออกแบบในลักษณะเป็น ‘มือหุ่นยนต์’ โดยใช้ AI และเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์วิชัน (Computer Vision) ในการตรวจจับและจัดการกับผลิตภัณฑ์จำนวนนับล้านชิ้นในคลังสินค้า ซึ่งทำให้การดำเนินงานของคลังสินค้าเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและมีความปลอดภัยยิ่งขึ้น

Amazon ได้กล่าวว่า “Sparrow จะเข้ามารับผิดชอบภาระงานที่มีความซ้ำเดิม เพื่อให้พนักงานสามารถทุ่มเทเวลาและกำลังในงานด้านอื่นได้มากขึ้น อีกทั้งยังส่งเสริมให้มีความปลอดภัยในการทำงานมากขึ้น ในขณะเดียวกัน Sparrow ก็จะช่วยเราในการขับเคลื่อนศักยภาพในการับมือกับงาน เพื่อให้จัดส่งผลิตภัณฑ์ไปยังผู้บริโภคต่อไป”

ย้อนกลับไปเมื่อเดือนกรกฎาคม 2022 ที่ผ่านมา สำนักงานบริหารความปลอดภัยและอาชีวอนามัยแห่งชาติ (Occupational Safety and Health Administration) ของสหรัฐฯ ได้เข้ามาตรวจสอบข้อกล่าวหาเกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงานของ Amazon โดยเน้นไปที่สิ่งที่จำเป็นต้องมีเพื่อความปลอดภัยของพนักงานในคลังสินค้า

อ้างอิง : https://www.sanook.com/hitech/1568705/

‘Hey, GitHub!’ เขียนโค้ดด้วยเสียง ฟีเจอร์ใหม่จาก Copilot

GitHub เว็บไซต์ที่ให้บริการ Git (version control repository) ที่ Microsoft เป็นเจ้าของกำลังทดลองใช้ระบบโต้ตอบด้วยเสียงใหม่สำหรับซอฟต์แวร์ Copilot “เฮ้ GitHub!” ซึ่งจะอนุญาตให้โปรแกรมเมอร์เขียนโค้ดด้วยเสียงแบบไม่ใช้แป้นพิมพ์ เช่นเดียวกับที่เราพูดกับ Siri, Alexa หรือ Google Assistant

การทดลองใหม่นี้จะพร้อมใช้งานใน Copilot ซึ่งเป็นเครื่องมือ AI มูลค่า 10 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือนที่ GitHub เปิดตัวเมื่อต้นปีนี้เพื่อช่วยนักพัฒนาในการเขียนโค้ด ซึ่งตัว Copilot จะทำการแนะนำโค้ดให้นักพัฒนาทราบภายในโปรแกรมแก้ไขโค้ด และสามารถแนะนำโค้ดบรรทัดถัดไปเมื่อนักพัฒนาพิมพ์ในโปรแกรมต่างๆได้เช่นกัน เช่น Visual Studio Code, Neovim และ JetBrains IDEs โดย Copilot ยังสามารถแนะนำวิธีการที่สมบูรณ์และอัลกอริทึมที่ซับซ้อนควบคู่ไปกับโค้ดสำเร็จรูปและความช่วยเหลือเกี่ยวกับการทดสอบโค้ดอีกด้วย

การเพิ่มการสร้างโค้ดที่ขับเคลื่อนด้วยเสียงจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือด้านการเข้าถึงการใช้งาน คุณจะสามารถขอให้ Copilot ทำสิ่งต่างๆ เช่น ย้ายไปที่บรรทัดต่างๆ ของโค้ด หรือนำทางไปยังส่วนต่างๆของโค้ดด้วยเสียงของคุณ คุณยังสามารถควบคุม Visual Studio Code ด้วยคำสั่งเช่น “เรียกใช้โปรแกรม” หรือ “สลับโหมด zen” ถ้าคุณต้องการสรุปว่าโค้ดทำอะไรได้บ้าง คุณสามารถขอการสรุปโค้ดได้เช่นกัน

ระบบเสียงแบบใหม่นี้ได้รับการพัฒนาโดย GitHub Next ซึ่งเป็นทีมนักวิจัยและวิศวกรที่ “ตรวจสอบอนาคตของการพัฒนาซอฟต์แวร์” ซึ่งยังไม่มีการรับประกันว่าจะเปิดตัวเป็นผลิตภัณฑ์เต็มรูปแบบในที่สุด คุณสามารถลงทะเบียนเพื่อเข้าร่วมรายการรอสำหรับ Hey, GitHub! ได้ที่ https://githubnext.com/projects/hey-github

อย่างไรก็ตามในขณะที่ GitHub ได้โปรโมท Copilot สำหรับฟีเจอร์ใหม่นี้ ซอฟต์แวร์ Copilot ก็ตกเป็นเป้าหมายของการฟ้องร้องดำเนินคดี โดยคดีดังกล่าว กล่าวหาว่า Microsoft, GitHub และ OpenAI อำนวยความสะดวก “การละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในระดับที่ไม่เคยมีมาก่อน” โดยนำเนื้อหาที่มีลิขสิทธิ์จากเว็บต่างๆ เพื่อฝึกอบรม Copilot

อ้างอิง : https://www.theverge.com/2022/11/9/23449175/hey-github-voice-copilot-code-programming-system

นักวิจัยวิเคราะห์รอยเท้าไดโนเสาร์ด้วย AI ชี้ว่า ‘ผู้ล่า’ อาจเป็นสัตว์กินพืช

นักบรรพชีวินวิทยาได้ใช้ AI ในการวิเคราะห์รอยเท้าโบราณที่อุทยาน Lark Quarry ในออสเตรเลียโดยรอยเท้าบนพื้นดินในอุทยานนั้นได้รับการตีความโดยผู้เชี่ยวชาญว่าเป็นรอยเท้าฟอสซิลของกลุ่มไดโนเสาร์ประมาณ 150 ตัวหรือมากกว่านั้นโดยที่ไดโนเสาร์เหล่านั้นกำลังหลบหนีนักล่า ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อประมาณ 93 ล้านปีก่อน ในช่วงกลางยุค Cretaceous ซึ่งรอยเท้าเหล่านั้นได้รับการอนุรักษ์ ปกป้อง และกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวของอุทยาน

Anthony Romilio ผู้ร่วมวิจัยที่มหาวิทยาลัย Queensland ประเทศออสเตรเลีย บอกว่า “รอยเท้าไดโนเสาร์ขนาดใหญ่ถูกค้นพบครั้งแรกในปี 1970 ที่อนุสาวรีย์แห่งชาติ Dinosaur Stampede และเป็นเวลาหลายปีที่พวกเขาเชื่อว่าเป็นไดโนเสาร์นักล่าที่กินเนื้อ เช่น Australovenator เนื่องจากพวกทิ้งรอยเท้าที่ใหญ่มากไว้” แต่เขาได้บอกว่าการแยกแยะว่าไดโนเสาร์ตัวใดสร้างรอยเท้าที่มีลักษณะสามนิ้วเป็นเรื่องที่ยากมากเพราะมีไดโนเสาร์ต่างชนิดกันที่มีลักษณะรอยเท้าเป็นสามนิ้วเหมือนกันเช่น theropods ที่เป็นไดโนเสาร์กินเนื้อ และ ornithopods ที่เป็นไดโนเสาร์กินพืช ทีมนักวิจัยจึงได้หันมาใช้ machine learning เพื่อวิเคราะห์มัน

นักวิจัยได้ฝึกเทรนโมเดล convolutional neural network โดยใช้รอยเท้าไดโนเสาร์จำนวน 1,500 รอย ซึ่งแบ่งออกเป็น theropods และ ornithopods โดยโมเดลจะรับข้อมูลเฉพาะรูปร่างโดยรวมของภาพรอยเท้า และไม่ได้พิจารณาข้อมูลประเภทอื่น เช่น ขนาดหรือลักษณะพื้นผิว

ซึ่งผลลัพธ์ชี้ให้เห็นว่าโมเดลนั้นมีประสิทธิภาพเหนือกว่าผู้เชี่ยวชาญที่เป็นมนุษย์ โดยผลลัพธ์ของโมเดลนั้นมี 67% ที่จำแนกถูกต้อง 11% ที่จำแนกผิด และ 22% ที่คลุมเครือซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วผู้เชี่ยวชาญที่เป็นมนุษย์จะจำแนกประเภทถูกต้อง 57% ผิด 20% และ 24% ที่คลุมเครือ

ซึ่งเมื่อพวกเขานำแบบจำลองไปใช้กับภาพจากอนุสาวรีย์แห่งชาติ Dinosaur Stampede ผลลัพธ์ออกมาว่ารอยเท้าเกือบทั้งหมดนั้นเป็น ornithopod หรือไดโนเสาร์กินพืช (ซึ่งพวกเขาเชื่อมาตลอดว่าเป็นไดโนเสาร์กินเนื้อ) อย่างไรก็ตามพวกเขาได้เตือนว่าโมเดล AI นั้นอาจจะไม่ได้ถูกต้องเสมอไปเนื่องจากพวกมันนั้นจำแนกภาพตามข้อมูลที่มันถูกเทรนไปเท่านั้น ซึ่งทางเดียวที่อาจจะหาคำตอบได้ชัดเจนก็การใช้ DNA ที่หลงเหลือของพวกมัน

อ้างอิง : https://www.theregister.com/2022/11/16/ancient_dinosaur_tracks_analysed_using/

ต่อยอย่างเทพ! AI ช่วยออกหมัด “Street Fighter 6”

ค่ายแคปคอมเผยเกมต่อสู้ Street Fighter 6 จะเพิ่มวิธีบังคับแบบเรียบง่าย แต่กดปุ่มรัวให้คอมพิวเตอร์ AI ช่วยเลือกท่าออกหมัด

ก่อนหน้านี้ Street Fighter 6 ก็เผยข้อมูลว่าจะมีวิธีบังคับสองแบบแรกคือ Classic ดั้งเดิมต้องใส่คำสั่งตวัดจอยออกท่าเอง และทางเลือกใหม่โหมด Modern ที่สามารถปล่อยไม้ตายด้วยปุ่มเดียวพร้อมระบบแอสซิสต์ช่วยทำคอมโบ

ผู้กำกับ ทาคายูกิ นาคายามะ ชี้ว่าทางเลือก Modern จะไม่ใช่โหมดง่าย โดยพวกเขาปรับสมดุลระหว่างสองแบบให้ใช้แข่งขันกันได้จริง ถึงขั้นว่านักเล่นมือโปรอาจหันมาลองด้วย และจะไม่กดดันให้คนเล่นขยับไปใช้แบบ Classic แทนเมื่อชำนาญขึ้น

ล่าสุด ทางแคปคอมก็เผยทางเลือกวิธีบังคับแบบที่สามคือ Dynamic เป็นโหมดที่ง่ายขึ้นจริงมี AI คอมพิวเตอร์ช่วยตัดสินใจ อย่างเช่นถ้าอยู่ไกลจะออกท่ายิงพลังขว้างอาวุธ หรืออยู่ใกล้ก็จะทำคอมโบเข้าบวก แม้จะมาจากการกดปุ่มเดียวกัน

นาคายามะกล่าวว่า “ในเกมต่อสู้ธรรมดา เมื่อคนเล่นกดปุ่มรัวๆ พวกเขาก็จะโจมตีวืดหลายครั้ง เราอยากให้มีบางสิ่งที่สำคัญ และบางสิ่งที่ทำให้อะไรแตกต่างกันเกิดขึ้นด้วยการกดปุ่มมั่วๆ”

นอกจากนี้ ในโหมด Dynamic คนเล่นจะยังมีส่วนร่วมเคลื่อนที่เองด้วยปุ่มทิศทางและสามารถปัดป้องได้ แต่จะอนุญาตให้ใช้ในการเล่นโลคอลออฟไลน์เท่านั้น ไม่มีผลกับการแข่งจัดอันดับจริงจัง

ตัวเกม Street Fighter 6 จะวางจำหน่ายจริงในปี 2023 ลงคอนโซล PS4, PS5, Xbox Series X|S และ PC ร้าน Steam

อ้างอิง : https://mgronline.com/game/detail/9650000107599

ซูมไลออนผลิตรถขุดได้ทุก 6 นาที ด้วยความมหัศจรรย์ของเทคโนโลยีการผลิตอัจฉริยะ

เนื่องในโอกาสครบรอบ 30 ปี บริษัท ซูมไลออน เฮฟวี่ อินดัสทรี ไซเอนซ์ แอนด์ เทคโนโลยี จำกัด (Zoomlion Heavy Industry Science & Technology Co., Ltd.) (000157.SZ) หรือซูมไลออน ประสบความสำเร็จในการผลิตรถขุดคันแรกผ่านเทคโนโลยีการผลิตอัจฉริยะ (intelligent manufacturing หรือ IM) โดยเฉพาะ ที่นิคมเครื่องจักรขุดเจาะอัจฉริยะ (Excavation Machinery Smart Park) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเมืองอุตสาหกรรมอัจฉริยะซูมไลออน (Zoomlion Smart Industrial City) หรือ “เมืองอัจฉริยะ” โดยอาศัยความสามารถจากเทคโนโลยีการจัดตารางการผลิตอัจฉริยะ ไปจนถึง AI อุตสาหกรรม เทคโนโลยีดิจิทัลทวิน (Digital Twin) และอินเทอร์เน็ตอุตสาหกรรม ซึ่งการผลิตอัจฉริยะของซูมไลออนในปัจจุบันสามารถผลิตรถขุดเจาะได้โดยเฉลี่ยคันละ 6 นาที

นิคมเครื่องจักรขุดเจาะอัจฉริยะมีทั้งหมด 7 เวิร์คช็อป และ 61 สายการผลิตอัจฉริยะ โดย 6 สายการผลิตจากทั้งหมดไม่จำเป็นต้องมีพนักงานคอยกำกับดูแล โดยอัตราการรวบรวมข้อมูลที่สำคัญจากกระบวนผลิต 100% ทำให้การผลิตอัจฉริยะดำเนินการได้อย่างเต็มรูปแบบ ตั้งแต่การเตรียมวัสดุ การเชื่อม การตัดเฉือน การทาสี การประกอบ ไปจนถึงการจัดการปัญหา และเป็นหนึ่งในโรงงานผลิตอัจฉริยะที่ล้ำหน้าที่สุดในโลก นิคมอัจฉริยะแห่งนี้สามารถผลิตเครื่องขุดเจาะได้ 50,000 หน่วยต่อปี โดยมีระวางน้ำหนักครอบคลุมตั้งแต่ 1.5 ถึง 50 ตัน และมูลค่าผลผลิตต่อปีสูงถึง 3 หมื่นล้านหยวน (4.22 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ)

เมืองอุตสาหกรรมอัจฉริยะซูมไลออนมีนิคมอัจฉริยะทั้งหมด 4 แห่ง โดยผลิตเครื่องจักรงานคอนกรีต เครนชนิดเคลื่อนที่ รถกระเช้า และเครื่องขุดเจาะ มีศูนย์อะไหล่ 4 แห่ง แพลตฟอร์มนวัตกรรมระดับประเทศ 8 แห่ง ตลอดจนฐานการวิจัย พัฒนา และบ่มเพาะผลิตภัณฑ์สำหรับเครื่องจักรเพื่อการเกษตรอัจฉริยะ AI และอื่น ๆ

ในฐานะผู้บุกเบิกเทคโนโลยีระดับแนวหน้า ซูมไลออนได้คิดค้นเทคโนโลยีชั้นนำของอุตสาหกรรมมากกว่า 150 รายการ สร้างโรงงานระดับประภาคารชั้นนำของโลก 8 แห่ง สายการผลิตอัจฉริยะกว่า 300 สายการผลิต และสายการผลิตที่ไม่จำเป็นต้องมีพนักงานคอยกำกับดูแล 20 แห่งที่ครอบคลุมด้วย 5G เต็มรูปแบบ

เป็นเวลากว่า 30 ปีที่ซูมไลออนเดินหน้าสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงและนวัตกรรม เพื่อสร้างข้อได้เปรียบทางการแข่งขันที่แข็งแกร่ง โดยความริเริ่มด้านการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลอันชาญฉลาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมล่าสุดได้บรรลุผลลัพธ์อย่างเด่นชัด

ซูมไลออนมีเมืองอัจฉริยะเป็นหัวใจสำคัญ โดยได้บูรณาการเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย ทั้งเครือข่าย 5G บิ๊กดาต้า อินเทอร์เน็ตอุตสาหกรรม AI และบล็อกเชน เพื่อสร้างโรงงานระดับประภาคาร 14 แห่ง และกำหนดมาตรฐานใหม่ให้กับแวดวงอุตสาหกรรม การบรรจบกันอย่างลงตัวของดิจิทัลและการผลิตของระบบการผลิตอัจฉริยะของซูมไลออน นำไปสู่การบรรลุอัตราสินค้าผ่านเกณฑ์ที่ 100% ในขณะที่ลดเวลาของวงจรการผลิตลง 55%

นอกเหนือจากนิคมเครื่องจักรขุดเจาะอัจฉริยะแล้ว ซูมไลออนยังได้สร้างโรงงานผลิตทาวเวอร์เครนด้วยเทคโนโลยีการผลิตอัจฉริยะที่ใหญ่ที่สุดในโลก นิคมอุตสาหกรรมชิ้นส่วนสำคัญของระบบไฮดรอลิก และนิคมอุตสาหกรรมรถโม่อัจฉริยะหยวนเจียง ซึ่งผลิตเครื่องขุดเจาะได้คันละ 6 นาทีโดยเฉลี่ย ผลิตทาวเวอร์เครนได้คันละ 18 นาที และรถโม่ได้คันละ 18 นาที

อ้างอิง : https://www.ryt9.com/s/anpi/3374659

Canva เปิดตัวฟีเจอร์แปลงข้อความเป็นรูปภาพ

Canva แพลตฟอร์มออกแบบกราฟิกเปิดตัวเครื่องมือ AI แปลงข้อความเป็นรูปภาพ โดยบริษัทเริ่มทดสอบคุณฟีเจอร์ดังกล่าวในเดือนกันยายนที่ผ่านมา และขณะนี้กำลังเปิดตัวให้กับผู้ใช้แอปของพวกเขามากกว่า 100 ล้านคน

โดยพวกเขาได้ทำการสร้าง AI ของพวกเขาขึ้นมาจาก Stable Diffusion โมเดลแปลงข้อความเป็นรูปภาพโอเพนซอร์สชื่อดัง โดยมีตัวกรองความปลอดภัยพิเศษจำนวนหนึ่งและ UI ที่พวกเขาสร้างขึ้นมาเพื่อช่วยนำทางผู้ใช้ Canva เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ต้องการ ซึ่ง Canva มีให้ใช้งานในรูปแบบฟรีและต้องชำระเงินพร้อมคุณสมบัติพิเศษ ที่จะทำให้ผู้ใช้ทุกคนสามารถสร้างภาพได้ถึง 100 ภาพต่อวันด้วยเครื่องมือนี้

Cameron Adams ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายผลิตภัณฑ์ของ Canva กล่าวว่าเขาได้เห็นการใช้งานเครื่องมือนี้ในการนำมาประยุกต์ใช้ในรูปแบบต่างๆแล้ว “สิ่งหนึ่งที่ฉันชอบคือนักเรียนใช้มันสร้างภาพเรื่องราวของพวกเขา ดังนั้นพวกเขาจะเขียนเรื่องราวในชั้นเรียนภาษาอังกฤษ และแปลงข้อความเป็นรูปภาพเพื่อสร้างภาพที่ตรงกับเรื่องราวนั้น เรายังเคยเห็นมันใช้สำหรับรูปภาพในงานนำเสนอ บนใบปลิว และบนเสื้อยืด ซึ่งพวกเขาสามารถพิมพ์ผ่าน Canva”

อย่างไรก็ตามการเพิ่มขึ้นของระบบเหล่านี้ได้จุดชนวนให้เกิดความขัดแย้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ภาพที่มีลิขสิทธิ์สำหรับข้อมูลการฝึกเทรน AI มีศิลปินหลายคนพบว่างานของพวกเขาถูกใช้โดยไม่ได้รับคำยินยอมให้สร้างผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์เหล่านั้น แม้ว่าบริษัทและนักวิจัยที่รับผิดชอบกล่าวว่าการใช้ข้อมูลนี้จะได้รับการคุ้มครองโดยบทบัญญัติต่างๆ

เมื่อถูกถามเกี่ยวกับปัญหาเหล่านี้ Adams กล่าวว่า “ผมคิดว่ามันมีคำถามที่ถูกต้องเกี่ยวกับขอบเขตในการผลิตงานเหล่านั้นโดย AI ที่จะถือว่าเป็นการใช้งานที่เหมาะสม ซึ่งพวกเรากำลังจับตาดูมันอย่างใกล้ชิด เรามีความสัมพันธ์ที่ดีกับชุมชนผู้ร่วมให้ข้อมูลและผู้ใช้ของเรา และเรากำลังทำงานอย่างใกล้ชิดกับพวกเขาเพื่อค้นหาคำถามเกี่ยวกับลิขสิทธิ์เหล่านั้น เราให้สิทธิ์ความเป็นเจ้า (ownership) ของภาพแก่ผู้ใช้ แต่เราก็ไม่ได้บอกว่ามันจะถือเป็นลิขสิทธิ์ (copyright) ของผู้ใช้เหล่านั้นเช่นกัน”

อ้างอิง : https://www.theverge.com/2022/11/10/23450965/canva-text-to-image-ai-tool-free-users

—————————————————————————————-

ทั้งหมดเป็นข่าวที่น่าสนใจใน 11 – 17 พฤศจิกายน 2565 พบกันใหม่ในสัปดาห์หน้านะคะ : )

หากมีข้อสงสัย ติชมสามารถ ติดตามและสอบถามได้ที่
 : AIไทยสามารถ โดย AI for all Thailand



เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึก