เวลาเปลี่ยน ใจคนก็เปลี่ยนด้วย AI

เวลาเปลี่ยน ใจคนก็เปลี่ยนด้วย AI

‘เป็นคนดีแล้วได้อะไร’ เป็นประโยคที่หลายคนรำพึงในใจเมื่อเห็นข่าวในแต่ละวัน สมัยก่อนความเป็นคนดีคือ เครดิตชั้นพิเศษที่ก้าวข้ามกฎระเบียบ นายธนาคารอาจให้กู้เงิน เพราะลื้อเป็นคนดี อั๊วรู้จักครอบครัวลื้อมานาน ไม่ต้องห่วงเรื่องหลักทรัพย์ค้ำประกัน มีเมื่อไรก็เอามาคืน ปัจจุบันระเบียบการเงินสมัยใหม่แข็งแรง ธนาคารไม่ได้ตัดสินใจจากความเป็นคนดี แต่ตัดสินใจจากค่าเครดิตทางการเงิน ซึ่งคำนวณจากความสามารถในการชำระหนี้ของผู้กู้

ระเบียบการเงินสมัยใหม่นี้ ช่วยลดความเสี่ยงที่ธนาคารจะประสบปัญหาหนี้เสีย แต่ข้อเสียคือ คนจนเข้าถึงเงินทุนยากมาก เพราะวิธีคำนวณเครดิตทางการเงินในปัจจุบัน คนที่ไม่ทำงานประจำ หรือมีหลักทรัพย์น้อย จะมีเครดิตทางการเงินต่ำเกินกว่าจะกู้เงินได้

ประเทศไทยมีอัตราส่วนของแรงงานนอกระบบอยู่ถึง 55 % ของแรงงานทั้งประเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงริเริ่มให้มีสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัลขึ้น เพื่อขยายโอกาสให้กับคนกลุ่มใหญ่ สินเชื่อแบบใหม่นี้ จะพิจารณาสินเชื่อโดยใช้ข้อมูลทางเลือกอื่น ๆ เข้ามาประกอบการตัดสินใจ เช่น การชำระค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ รายได้หรือพฤติกรรมการซื้อขายออนไลน์ [1] แนวทางนี้คล้ายกับ Sesame credit จีน แต่ยังไม่กว้างไกลไปจนถึงขั้นใช้เปลี่ยนพฤติกรรมประชาชนอย่างจีน

โอกาสมาก คนฉวยโอกาสก็มาก

ปีพ.ศ. 2554 ประชาชนจีนหนึ่งในสามคนเท่านั้นที่มีบัญชีธนาคาร แต่ภายในสิบปีมานี้ ประเทศจีนมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูง จนมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลก ความน่าเชื่อถือจึงเป็นปัญหาใหญ่ของสังคม คนพร้อมที่จะฉวยโอกาสเพื่อความร่ำรวย ปีพ.ศ. 2557 รัฐบาลกลางจึงประกาศในแผนบริหารประเทศว่า จะมีระบบประเมินความเป็นคนดี (Social Credit System) ของบุคคลและองค์กรต่าง ๆ [2]  โดยประมวลผลจากการปฏิสัมพันธ์ต่อรัฐ  ธุรกรรมทางการเงิน ตลอดจนพฤติกรรมในสังคม รัฐจะให้รางวัลผู้เป็นคนดีตามที่รัฐพึงประสงค์ และลงโทษผู้มีคะแนนความเป็นคนดีต่ำ

ไทม์ไลน์การทดลองระบบประเมินความเป็นคนดี (Social Credit System) ในประเทศจีน
ไทม์ไลน์การทดลองระบบประเมินความเป็นคนดี (Social Credit System) ในประเทศจีน

ปัจจุบันจีนยังอยู่ในช่วงทดลองระบบนี้ โดยมีระบบต้นแบบเป็นจำนวนมาก ทั้งในระดับองค์กรและท้องถิ่น แต่ละต้นแบบใช้ข้อมูลและวิธีคำนวณต่างกันไป  ต้นแบบที่คนพูดถึงเยอะที่สุดคือ Sesame credit ภายใต้อาลีบาบากรุ๊ป (เจ้าของคือแจ๊ค หม่า)   ซึ่งใช้ข้อมูลจากการใช้งานแพลตฟอร์มต่าง ๆ ในเครืออาลีบาบา แล้วคำนวณเครดิตด้วยปัญญาประดิษฐ์ ผลของเครดิตนี้นอกเหนือจะใช้กู้เงินแล้ว ยังขยายขอบเขตไปถึงบริการอื่น ๆ เช่น จองโรงแรม หรือเช่ารถโดยไม่ต้องวางมัดจำ รวมถึงมีโอกาสมากขึ้นในการหาคู่รักผ่านแอปพลิเคชันหาคู่

ลงโทษคนดื้อด้วยการตัดสิทธิ์

ระบบต้นแบบของท้องถิ่นไม่ได้ใช้คะแนนความเป็นคนดี (social credit) ในการให้กู้เงิน แต่ใช้กำกับพฤติกรรมของประชาชนโดยตรง ตัวอย่างการลงโทษผู้ที่มีคะแนนความเป็นคนดีต่ำที่เคยเกิดขึ้น เช่น ไม่มีสิทธิ์ซื้อตั๋วเครื่องบินหรือรถไฟ  ไม่ให้พักโรงแรมดี ๆ ถ้าถูกขึ้นบัญชีดำแล้ว ไม่สามารถเข้าทำงานในรัฐวิสาหกิจหรือบริษัทใหญ่ ๆ หากทำธุรกรรมใด ๆ ก็จะถูกตรวจสอบมากกว่าปกติ  รวมถึงไม่ให้ลูกเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย  ระบบต้นแบบเหล่านี้ไม่ระบุชัดเจนว่าใช้พฤติกรรมใดคำนวณคะแนนความเป็นคนดี  ใช้เพียงการกล่าวอ้างที่คลุมเครือ  กินความกว้างขวางเกินข้อกฎหมาย  ทั้งยังเอาค่านิยมในสังคมมารวมด้วย เช่น จ่ายค่าน้ำ ค่าไฟเลยกำหนด แชร์ข่าวปลอม สูบบุหรี่ในที่ห้ามสูบ ไม่ใช้สายจูงสุนัข การนั่งผิดที่ในรถไฟ ใช้เวลาเล่นเกมมากเกินไป ซื้อของฟุ่มเฟือย ทั้งนี้ผู้ถูกขึ้นบัญชีดำว่าเป็นคนไม่ดี สามารถยื่นอุทธรณ์ต่อศาลขอถอดชื่อตัวเองออกจากบัญชีได้ แต่เพราะไม่มีการระบุว่าพฤติกรรมใดที่ทำให้ถูกขึ้นบัญชีดำ จึงเป็นเรื่องยากที่จะพิสูจน์ความดีหรือความซื่อสัตย์ต่อรัฐ

แต่ละท้องถิ่นใช้ข้อมูลและวิธีคำนวณคะแนนความเป็นคนดีต่างกันไป ด้วยเหตุที่ไม่เปิดเผยว่าใช้ข้อมูลใดบ้าง  และวิธีคำนวณก็เปลี่ยนเรื่อย ๆ ตามปัญญาประดิษฐ์ ทั้งยังต้องสงสัยว่ามีการติดตามเก็บข้อมูลระบุตัวบุคคลผ่านกล้องวงจรปิดทั่วเมือง จึงทำให้ระบบนี้ดูคลุมเครือ รวมทั้งพบว่าท้องถิ่นต่าง ๆ มีแนวโน้มใช้คะแนนนี้เพื่อลงโทษคน ส่วนการจูงใจให้ทำดีก็เกิดขึ้นน้อย เป็นการใช้ความกลัวกำกับพฤติกรรมคน จึงมีผู้นิยามระบบนี้ว่าเป็นการปกครองแบบเผด็จการดิจิทัล เปรียบได้กับ Big Brother ในนิยายเรื่อง 1984 ของ George Orwell

ถ้าหากนำการลงโทษในท้องถิ่นต่าง ๆ และสิทธิพิเศษที่รัฐอาจให้ได้มาประกอบเข้าเป็นระบบ Social Credit System [3]

ผู้เป็นคนดีตามที่รัฐพึงประสงค์ : จะได้สิทธิ์เรียนและทำงานดี ๆ เติบโตในหน้าที่การงานไว ไม่ต้องจ่ายภาษี กู้เงินง่าย เช่าจักรยานและรถโดยไม่ต้องวางมัดจำ จ่ายค่าโดยสารรถสาธารณะในราคาถูก  ลัดคิวโรงพยาบาล ใช้ฟิตเนสฟรี ลัดคิวที่พักอาศัยของรัฐ
ผู้ไม่รักดี : จะไม่มีสิทธิ์เข้าถึงบริการสาธารณะและบริการของรัฐ ไม่สามารถบรรจุเป็นข้าราชการ ไม่มีสิทธิ์เข้ามหาวิทยาลัยเอกชน ไม่สามารถซื้อตั๋วเครื่องบินหรือรถไฟ กู้เงินยาก ประจานชื่อ รูป และเลขประจำตัวประชาชนออกสื่อสาธารณะ
ตัวอย่างการกระทำที่จะเสียคะแนนความเป็นคนดี เช่น ประท้วงผู้มีอำนาจโดยไม่ได้รับอนุญาต โพสต์ข้อความไม่เห็นด้วยกับรัฐในโซเชียลมีเดีย ไม่ไปเยี่ยมพ่อแม่เป็นประจำ ขอโทษอย่างไม่จริงใจ โกงเกมออนไลน์ อยากให้สังเกตว่าทั้งหมดนี้ไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมาย แค่ผิดค่านิยมในสังคม

ตัวอย่างระบบ Social Credit System ของจีน
ตัวอย่างระบบ Social Credit System ของจีน (รูปจาก Bertelsmann Stiftung)

คนในยอมรับ คนนอกต่อต้าน

ประชาคมโลกวิจารณ์การใช้ปัญญาประดิษฐ์ในแนวทางนี้หนักมาก ทั้งในแง่การไม่สนับสนุนเสรีภาพทางความคิดของบุคคลตามแนวคิดประชาธิปไตย และขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน ตลอดจนการกีดกันชนกลุ่มน้อยในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ มีหลักฐานว่า รัฐใช้เทคโนโลยีจดจำใบหน้า เพื่อเก็บข้อมูลระบุตัวบุคคลในเชิงเหยียดชาติพันธุ์ [4] ควบคู่กับการนำชาวอุยกูร์เข้าค่ายปรับทัศนคติซินเจียง

อย่างไรก็ดีประชากรจีนเกินกว่าครึ่งแสดงความคิดเห็นว่ายอมแลกเสรีภาพของตนกับเรื่องนี้ [5][6] เพราะการฉ้อโกง การหลอกลวงเป็นเรื่องที่พบบ่อยในสังคมจีน บทลงโทษทางกฎหมายไม่รุนแรงพอจนคนผิดกล้าทำผิดซ้ำ ระบบประเมินความเป็นคนดีนี้ช่วยเปลี่ยนนิสัยคนได้จริง “ฉันรู้สึกว่าหกเดือนที่ผ่านมา พฤติกรรมคนดีขึ้น เช่น ตอนนี้เราหยุดรถตรงทางม้าลาย ถ้าไม่หยุดจะเสียแต้ม เราเคยกังวลเรื่องจะเสียแต้มแหละ แต่ตอนนี้เราชินกับการทำตามกฎจราจรแล้ว” [7]

เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ในสังคมจีน มีสุภาษิตจีนที่สะท้อนความคิดเรื่องนี้ เช่น ฟ้าเห็นทุกการกระทำ (人在做, 天在看) การปฏิรูปการปกครองในสมัยจิ๋นซีฮ่องเต้ ใช้วิธีให้เพื่อนบ้านรายงานผู้ทำผิดให้ทางการรับทราบ ผู้รายงานได้รางวัล แต่หากปกปิดไม่รายงานจะถูกลงโทษทั้งหมู่บ้าน ระบบ Social Credit System จึงเป็นชุดความคิดเดิมในการเปลี่ยนพฤติกรรมคน แค่ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่

ไปต่อไม่สะดุด

ถึงแม้รัฐบาลกลางจะกำหนดให้ระบบนี้แล้วเสร็จภายในสิ้นปีพ.ศ.2563 แต่ปัจจุบันก็ยังไม่มีระบบต้นแบบใดที่แข็งแรงพอจนสามารถครอบคลุมใช้ได้ทั้งประเทศ ถึงจีนจะถูกต่างประเทศกดดันจากปัญหาสิทธิมนุษยชน แต่แนวโน้มโครงการนี้ยังเดินหน้าต่อ ปัจจัยสำคัญคือ รัฐคุ้นเคยกับการต่อยอดนโยบายในวงกว้างจากสนามทดสอบนโยบาย (regulatory sandbox) การรวมคนจากชนบทเข้าเมือง และเทคโนโลยีเมืองอัจฉริยะ ถ้าหากโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางคือโครงการหลักนอกกำแพงเมืองจีน โครงการนี้ก็คือโครงการหลักในกำแพงเมืองจีน

ประเทศไทยกำลังส่งเสริมเมืองอัจฉริยะ ไม่ใช่เพราะตามรอยจีน แต่เมืองอัจฉริยะเป็นกระแสการพัฒนาเมืองในปัจจุบัน [8] สมมุติว่า AI ของเมืองอัจฉริยะสามารถให้สิทธิ์พิเศษกับประชาชนโดยไม่ต้องรอการอนุมัติจากผู้มีอำนาจ เช่น เปิดไฟเขียวให้รถพยาบาล คุณอยากให้ AI ใช้เกณฑ์ใดในการตัดสิน จะใช้เกณฑ์ความดีของบุคคลอย่างจีนหรือเปล่า นี่คืออนาคตอันใกล้ที่ยังไม่มีคำตอบ

Our Writer

ธีรนิติ์ เจียรพัฒนาคม

ธีรนิติ์ เจียรพัฒนาคม

ถ้าจัดเวลาได้ก็ทำละครเวที ถ้าจัดเวลาไม่ได้ก็ทำงานเกี่ยวกับข้อมูลขนาดใหญ่ การเปลี่ยนแปลงองค์กรใหญ่ให้แข่งขันได้ในยุคดิจิทัล งานอดิเรกคือให้คำปรึกษาเรื่องการตลาดดิจิทัลและการวิเคราะห์เสียงประชาชนในโซเชียลมีเดียกับคนรู้จัก

เอกสารอ้างอิง

[1] “ธปท.ไฟเขียวกู้เงิน “ออนไลน์” ใช้ “ค่าน้ำ-ไฟ” ประเมินสินเชื่อ,” [Online]. Available: https://www.thairath.co.th/news/business/finance-banking/1932065. [Accessed 02 11 2020].
[2] “Establishment of a Social Credit System,” [Online]. Available: https://www.chinalawtranslate.com/en/socialcreditsystem/. [Accessed 02 11 2020].
[3] A. Boquen, “An Introduction to China’s Social Corporate Credit System,” [Online]. Available: https://nhglobalpartners.com/chinas-social-credit-system-explained/. [Accessed 02 11 2020].
[4] P. Mozur, “One Month, 500,000 Face Scans: How China Is Using A.I. to Profile a Minority,” [Online]. Available:
https://www.nytimes.com/2019/04/14/technology/china-surveillance-artificial-intelligence-racial-profiling.html. [Accessed 02 11 2020].
[5] X. Wang, “Hundreds of Chinese citizens told me what they thought about the controversial social credit system,” [Online]. Available: https://theconversation.com/hundreds-of-chinese-citizens-told-me-what-they-thought-about-the-controversial-social-credit-system-127467. [Accessed 02 11 2020].
[6] S. Yan, “The village testing China’s social credit system: driven by big data, its citizens earn a star rating,” [Online]. Available: https://www.scmp.com/magazines/post-magazine/long-reads/article/3012574/village-testing-chinas-social-credit-system. [Accessed 02 11 2020].
[7] A. Ma, “China has started ranking citizens with a creepy ‘social credit’ system — here’s what you can do wrong, and the embarrassing, demeaning ways they can punish you,” [Online]. Available: https://www.businessinsider.com/china-social-credit-system-punishments-and-rewards-explained-2018-4. [Accessed 02 11 2020].
[8] F. Grijpink et al., “Connected world: An evolution in connectivity beyond the 5G revolution,” [Online]. Available: https://www.mckinsey.com/industries/technology-media-and-telecommunications/our-insights/connected-world-an-evolution-in-connectivity-beyond-the-5g-revolution. [Accessed 02 11 2020].



เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึก