Ricult: Startup ผู้พัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเกษตรกร

Ricult: Startup ผู้พัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเกษตรกร

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ ชื่อ Ricult น่าจะเป็นที่รู้จักกันดีในแวดวง startup ที่นำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้ในการเกษตร เนื่องจากเป็น startup ที่ได้รับรางวัลและการสนับสนุนจากหลายองค์กรทั้งในและต่างประเทศ Ricult ก่อตั้งโดยคุณอุกฤษ อุณหเลขกะ ชาวไทย และ Usman Javaid ชาวปากีสถาน เมื่อครั้งที่ยังศึกษาอยู่ที่สถาบัน MIT อเมริกาทั้งคู่คลุกคลีอยู่ในแวดวงการเกษตรเนื่องด้วยมีพื้นเพอยู่ในประเทศเกษตรกรรม จึงเข้าใจปัญหาของเกษตรกร โดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อย ซึ่งเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ของประเทศที่มีที่ดินทำกินเฉลี่ยไม่มากนัก และทำเกษตรตามฤดูกาลหรืออาศัยน้ำฝนเป็นหลัก จึงมีรายได้ไม่มากพอที่จะเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร แหล่งเงินทุน และเทคโนโลยีสมัยใหม่ต่าง ๆ ดังเช่นเกษตรกรในประเทศที่พัฒนาแล้ว

แล้วทำอย่างไรจึงจะช่วยเกษตรกรเพิ่มผลผลิตและมีรายได้อย่างยั่งยืน

หลังการลงพื้นที่ทำให้พบว่า เครื่องจักรสุดไฮเทคแบบที่วิ่งในไร่นาของประเทศพัฒนาแล้วอย่างอเมริกา หรือการใช้ IoT (Internet of Thing) ยังมีการลงทุนค่อนข้างสูง และไม่ได้ตอบโจทย์ของเกษตรกรรายย่อยที่ขาดเงินทุน ทั้งขนาดและสภาพพื้นที่ก็ไม่เอื้ออำนวย แต่สัญญาณอินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์มือถือหรือ smart phone ต่างหาก คือสิ่งที่เกษตรกรสามารถจ่ายได้และคุ้นเคยกับการใช้งาน “คิดว่าเทคโนโลยีดิจิทัลAI น่าจะเปลี่ยนโลกได้พอ ๆ กับที่อินเตอร์เน็ตเปลี่ยนโลกจากอนาล็อกมาเป็นดิจิทัล เพราะ AI ทำงานได้หลากหลายและมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในแง่การตัดสินใจ จึงน่าจะช่วยเพิ่มรายได้และช่วยให้คนหลุดพ้นจากความยากจนได้” คุณอุกฤษ อุณหเลขกะ CEO Ricult Thailand กล่าวไว้ตอนหนึ่งเมื่อเริ่มสนทนา

แนวคิดการนำเทคโนโลยีมาอยู่ในมือเกษตรกรจึงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้มากที่สุด ทั้งคู่รวมกลุ่มกับเพื่อนอีกสองคนก่อตั้งบริษัทในรูปของ Social Enterprise (SE) หรือ Social Innovation ซึ่งเป็นการดำเนินธุรกิจด้วยนวัตกรรมเพื่อช่วยสังคมและมีรายได้ที่สามารถดำเนินงานและขยายธุรกิจต่อไปได้ ปัจจุบัน Ricult มีสำนักงานตั้งอยู่ใน 3 ประเทศคือ อเมริกา ปากีสถาน และไทย

Ricult นำเสนออะไรให้เกษตรกร…

สิ่งที่ Ricult ทำก็คือ การจัดทำแอปพลิเคชันที่ให้ข้อมูลและคำแนะนำต่าง ๆ เพื่อช่วยเกษตรกรแบบเฉพาะบุคคล โดยไม่มีค่าใช้จ่าย เริ่มนำร่องที่ปากีสถานก่อนขยายผลมายังประเทศไทย

หากเราเปิดแอปพลิเคชันของ Ricult และลงทะเบียนใช้งาน ก็จะพบกับฟีเจอร์ต่าง ๆ ที่ดูได้ทั้งแบบทั่วไปและรายแปลง อันได้แก่ สภาพพื้นที่ของเราที่แสดงด้วยภาพถ่ายดาวเทียม ข้อมูลสภาพอากาศ เช่น อุณหภูมิ ความชื้น ความเร็วลม ณ เวลาปัจจุบันและพยากรณ์ล่วงหน้า 7 วัน ปริมาณน้ำฝน ซึ่งมีสถิติเปรียบเทียบระหว่างปีที่ผ่านมากับปีปัจจุบัน ทั้งยังดูล่วงหน้าได้ถึง 9 เดือน แผนที่แสดงการเคลื่อนตัวของเมฆฝน ณ เวลาจริงที่อัปเดตทุก 10 นาที การรายงานปัญหาที่เกิดขึ้นด้วยภาพถ่ายดาวเทียม มีฟอรัมให้เกษตรกรได้รายงานปัญหาหรือขอคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ ตลอดจนมีข้อมูลต่าง ๆ ในการเพาะปลูก อาทิ วันที่ควรปลูก ใส่ปุ๋ยและเก็บเกี่ยว เป็นต้น สิ่งเหล่านี้เป็นข้อมูลสำคัญที่จะช่วยในการตัดสินใจและสร้างความมั่นใจให้กับการเพาะปลูก

แต่กว่าฟีเจอร์ต่าง ๆ ในแอปพลิเคชันจะใช้งานได้ ก็ต้องใช้เวลาศึกษาข้อมูลจากรายงานและการวิจัย เพื่อสร้าง AI Model และการเก็บข้อมูลต่าง ๆ ในพื้นที่ เพื่อพัฒนา Model ที่สร้างขึ้นให้สามารถเรียนรู้และประมวลผลได้เหมาะสมในแต่ละท้องถิ่น

Ricult นำเสนออะไรให้เกษตรกร...
Photo by รีคัลท์ เกษตรกร – Ricult Thailand

“อันนี้คือสิ่งที่ Ricult ได้เปรียบ เรามีทีม Data Scientist ที่เชี่ยวชาญ มีข้อมูลของไทยที่ค่อนข้างหายาก จริงอยู่ที่สมัยนี้ อัลกอริทึมของ AI สามารถดึงข้อมูลหรือรายงานวิจัยจากที่ต่าง ๆ ได้ แต่ที่ยากที่สุดคือ การหาข้อมูลในพื้นที่มา Train Model ต้องคุยกับหน่วยงานของรัฐหรือเอกชนรายที่ถือข้อมูลอยู่ อันนี้เป็นความท้าทายหลักของการใช้ AI ในเมืองไทย”

Ricult เริ่มทดสอบและใช้งานแอปพลิเคชันมากว่า 3 ปี ปรับปรุงและพัฒนา Model ต่าง ๆ รวมทั้งออกแบบฟีเจอร์ให้ใช้งานง่าย ปัจจุบันมีเกษตรกรใช้งานแล้วกว่า 2 แสนราย ช่วยเพิ่มผลผลิตให้เกษตรกรในเกณฑ์ที่น่าพอใจ ปัจจุบัน Ricult มีคำแนะนำสำหรับการปลูกพืชใน 6 ชนิดคือ ข้าวโพด อ้อย มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน ทุเรียน และข้าว คุณอุกฤษบอกว่า ตอนนี้อ้อยกับมันสำปะหลังเป็นพืชที่ Ricult มีความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษ เพราะใช้เวลาเก็บข้อมูลและทดสอบ Model มาพอสมควรจนสามารถพยากรณ์ผลผลิตได้ค่อนข้างแม่นยำ

นอกจากฟีเจอร์ที่เกี่ยวกับการเพาะปลูกแล้ว แอปพลิเคชันนี้ยังมีฟีเจอร์แสดงราคาพืชผลและเงื่อนไขในการรับซื้อของโรงงานต่าง ๆ เพื่อช่วยให้เกษตรกรเลือกวันเวลาที่ดีที่สุดในการขายผลผลิต ฟีเจอร์การบริการด้านสินเชื่อ ซึ่งยังไม่ได้นำมาใช้ในเมืองไทย เพราะต้องใช้เวลาเก็บประวัติการเพาะปลูกของเกษตรกรแต่ละคน เพื่อใช้เป็น Credit Score ให้ธนาคารประเมินความเสี่ยง และฟีเจอร์ของการจำหน่ายปุ๋ยและการประกันภัย

“อีกสิ่งหนึ่งที่เราพยายามทำให้ผู้บริโภคคือ เรื่อง Food Safety การทำเกษตรยั่งยืน เกษตรปลอดภัย และทำเกษตรยังไงจึงจะมีคุณภาพมากขึ้น จัดทำ QR Code แสดงที่มาของผักผลไม้ เกษตรกรผู้ปลูก ซึ่งคาดว่าจะเห็นได้ในซูเปอร์มาร์เก็ตบางแห่งภายในปลายปีหน้า (64)”

การเกษตรมีความสำคัญมาก เพราะเป็นต้นทางของการผลิตอาหารเพื่อเลี้ยงผู้คน ก่อให้เกิดธุรกิจและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องมากมาย เป็นภาคส่วนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และยังต้องการผู้สนใจเข้ามาช่วยกันนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาในด้านต่าง ๆ ดังเช่นที่ Ricult ได้จุดประกายขึ้น

RICULT มาจากคำที่อยู่ตรงกลางของคำว่า AGRICULTURE ซึ่งก็คือ การเกษตร

💡 ข้อคิดเรื่องการทำ startup

ปัจจุบันกระแสการทำ startup อาจไม่เฟื่องฟูเท่ากับเมื่อหลายปีก่อน สำหรับคนที่อยากเริ่มต้นธุรกิจ คุณอุกฤษ แนะนำว่า สิ่งที่จะทำให้ startup ประสบความสำเร็จได้คือ การผนวกเอาเทคโนโลยีและธุรกิจไว้ด้วยกัน เป็นธุรกิจที่มีประโยชน์ ตอบโจทย์ความต้องการของคนในสังคมโลก และมีแผนธุรกิจที่ชัดเจน สามารถดำเนินกิจการได้อย่างยั่งยืน ที่สำคัญคือ มี Passion หรือความรัก ชอบและสนใจในสิ่งที่ทำอย่างแท้จริง

บทความเรียบเรียงจากการสัมภาษณ์คุณอุกฤษ อุณหเลขกะ
เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2563
โดย ดร.ศิรวัจน์ อิทธิภูริพัฒน์
เรียบเรียงโดย ทีม editor ai for all

Header Designed by pch.vector / Freepik



เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึก